2 มีนาคม 2568 หลังจาก กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 28 ก.พ. 2568 นั้น ทีมข่าว "เนชั่นทีวี" ขอพาไปรู้เท่าทัน "ฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" ในสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นภัยเงียบ ที่มักพบในหน้าร้อนบ่อยๆ และหากเกิดอาการช็อกแล้วไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
เพื่อป้องกันการสูญเสียสัตว์เลี้ยง ที่เปรียบเสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว เรามาทำความรู้จักกับฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยงกัน
"ฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" คืออะไร
อ้างอิงข้อมูลจาก โรงพยาบาลสัตว์ HOSPETAL และ สัตวแพทย์ประจำคลินิกแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ อธิบายเกี่ยวกับฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยงไว้ว่า "โรคลมแดด" หรือ "ฮีทสโตรก" (Heat Stroke) ในสัตว์เลี้ยง เป็นภาวะที่ร่างกายของสัตว์ไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้ทันท่วงที ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ คือ สูงกว่า 41 องศาเซลเซียส จึงทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้น ไปกระทบต่อการทำงานต่างๆ ของระบบร่างกาย
โดยเฉพาะ "สุนัข" และ "แมว" สัตว์เลี้ยงยอดนิยม โดยปกติ พวกเขาจะมีต่อมเหงื่อบริเวณฝ่าเท้าและจมูกเท่านั้น การระบายความร้อนจึงต้องอาศัยการหายใจและการหอบเป็นหลัก
ดังนั้น หากอุณหภูมิในร่างกายพวกเขาสูงขึ้น จนระบายความร้อนไม่ทัน จะส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ เกิดความผิดปกติต่อการเต้นของหัวใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต ตับ ไต ตลอดจนเกิดภาวะ ชัก มึน งง อาเจียน ท้องเสียเป็นเลือด
อาการที่บ่งบอกภาวะ "ฮีทสโตรก" ในสัตว์เลี้ยง
1.อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 41 องศาเซลเซียส หรือ 106 องศาฟาเรนไฮต์
2.มีอาการหอบ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หรือหายใจรุนแรงกว่าปกติ
3.หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นผิดจังหวะ
4.น้ำลายไหล จมูกและปากเปียก
5.เหงือกสีแดงเข้ม
6.มีอาการชัก กล้ามเนื้อสั่นเกร็ง หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้ อาการฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง มักจะเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดและมีความชื้นสูง ดังนั้น เจ้าของต้องคอยหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตัวเอง
เกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงทุกชนิด
อาการ "ฮีทสโตรก" ในสัตว์เลี้ยง สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกฤดูกาล เพียงแต่จะมีความเสี่ยงมากในพื้นที่อบอ้าวอากาศถ่ายเทไม่ดี หรืออากาศร้อนจัดและมีความชื้นสูง ส่วนปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดภาวะดังกล่าว อย่างสัตว์เลี้ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น สัตว์เลี้ยงที่ป่วยในกลุ่มโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคหลอดลมตีบ และภาวะอัมพาตกล่องเสียง ฯลฯ
ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ภาวะนี้เกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ซึ่งจากสถิติจะพบได้บ่อยในสุนัขมากกว่าแมว โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ที่ขนยาว ขนหนา พันธุ์หน้าสั้น รวมถึง กลุ่มสัตว์เลี้ยงที่มีหน้าสั้น
วิธีปฐมพยาบาล "ฮีทสโตรก" ในสัตว์เลี้ยงเบื้องต้น
หากสัตว์เลี้ยงเราเกิดภาวะฮีทสโตรก เราสามารถช่วยปฐมพยาบาลให้กับเขาได้ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การระบายความร้อนจากร่างกายให้ลดลง แต่อย่าให้ลดลงเร็วจนเกินไป เพราะจะเป็นอันตรายแทน โดยสัตวแพทย์ได้แนะนำแนวทางไว้ดังนี้
1.ถ้าสัตว์เลี้ยงของเราอยู่ในที่อากาศร้อน สถานที่แออัด ควรนำสัตว์เลี้ยงออกมายังบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และปลดสิ่งที่พันธการออก ทั้งปลอกคอ สายจูง หรือเสื้อผ้าของเขา เพื่อให้การหายใจสะดวกขึ้น และช่วยระบายความร้อน
2.ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และบริเวณจุดอับต่างๆ อาทิ รักแร้ ขาหนีบ หรือใต้ฝ่าเท้า เพื่อช่วยระบายความร้อนอีกทาง ระมัดระวังอย่าใช้น้ำที่เย็นจนเกินไป เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้ ทางที่ดีควรใช้น้ำที่อุณหภูมิห้องจะดีที่สุด
3.นวดบริเวณขาเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด
4.เมื่อปฐมพยาบาลเสร็จแล้ว ควรรีบนำสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาล เพื่อให้สัตวแพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างละเอียด
เปิดปัจจัยเสี่ยง รู้ไว้ก่อน ป้องกันได้
เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ
1.ห้ามทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถ หรือสถานที่ไม่มีที่ระบายอากาศ เพราะแม้จะอยู่ในสภาพอากาศที่ไม่ร้อนมาก ก็สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะฮีทสโตรกได้
2.ไม่พาสุนัขออกกำลังกาย หรือวิ่งเล่นเป็นเวลานาน หากสุนัขดูหอบมากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณเริ่มแรกของฮีทสโตรก
3.หลีกเลี่ยงให้สุนัขอยู่ในสภาพอากาศชื้น รวมทั้ง หลีกเลี่ยงให้สัตว์เลี้ยงไปอยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนและอากาศถ่ายเทไม่ดี เพราะจะไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้
4.ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงนอนแช่ในน้ำเย็นจัดๆ หรือน้ำที่มีน้ำแข็งแช่ เนื่องจากจะทำให้อุณหภูมิร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ควรให้เขาได้ดื่มน้ำเย็น หรือน้ำใส่น้ำแข็ง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายและคลายร้อนแทน
สุดท้ายนี้ ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รู้จักฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง ช่วงนี้เข้าฤดูร้อนแล้ว หากใครอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนกับเพื่อนรักขนปุย ก็อย่าลืมคอยสังเกต หากสัตว์เพื่อนซี้ของคุณมีอาการผิดปกติ ก็ควรรีบปฐมพยาบาล แล้วพาไปหาสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก :
www.hospetal.co.th
https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1066468
https://www.talingchanpet.net/heat-stroke/
ขอบคุณภาพจาก : shutterstock