svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปิยบุตร" ประเมินจังหวะก้าว "เท้ง ณัฐพงษ์" จากเลือกตั้งอบจ. สู่ "ศึกซักฟอก"

ผู้นำจิตวิญญาณค่ายสีส้ม "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ถอดบทเรียน"เลือกตั้งนายกฯอบจ." จังหวะก้าว "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" หัวหน้าพรรคปชน. สู่ "ศึกซักฟอก"

9 กุมภาพันธ์ 2568  ยังคงมีควันหลงจากการ "เลือกตั้งนายกอบจ." และ"ส.อบจ." โดยเฉพาะ "พรรคประชาชน"ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ. 17 คน แต่สามารถปักธงได้เพียง 1 จังหวัด นั่นคือชัยชนะของ "โกเฮง"  วีระเดช ภู่พิสิฐ   ว่าที่นายกอบจ.ลำพูน

"เนชั่นทีวี" ได้มีโอกาสสอบถาม "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการคณะก้าวหน้า ถอดบทเรียนศึกเลือกตั้งนายกอบจ.และส.อบจ. ของพรรคประชาชน รวมถึงประเมินบทบาทการทำหน้าที่ของหัวหน้าเท้ง "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" นับจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป 

"ปิยบุตร" เริ่มต้นอธิบายว่า จากฐานข้อมูลของ"พรรคประชาชน" ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ. รอบก่อนครบวาระ ส่ง 3 จังหวัด ราชบุรี อุดรธานี อุบลราชธานี รวมรอบนี้ 17 จังหวัดรวม 20 จังหวัด ได้มาหนึ่งนายกอบจ.ลำพูน อีก 19 ที่แพ้  

ส่วน "สมาชิกอบจ." (ส.อบจ.) มีทั้งส่งแบบในจังหวัดที่ตัวเองส่งนายกอบจ.   บางจังหวัดไม่ได้ส่งนายกอบจ.แต่ส่งส.อบจ.   บางจังหวัดส่งแบบเต็มจังหวัด บางจังหวัดส่งเฉพาะบางเขต บางพื้นที่

ยอดรวมส.อบจ.ที่ได้มา 136 คน จาก 35 จังหวัด ซึ่งมีทั้งจังหวัดแบบชิงนายกอบจ.และไม่ชิงนายกอบจ. 

"ถ้าดูตัวเลขทั้งหมดคิดแบบการตั้งเป้า ตามที่เลขาธิการพรรค ให้สัมภาษณ์เอาไว้ ตั้งเป้าอยากได้ภาคละ 1   ครั้งนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ในแง่จำนวนนายกฯอบจ.ได้เพียง 1 ที่เท่านั้น  แต่ถ้าคิดจากแง่มุมอื่น  ผมคิดว่า ด้านหนึ่ง เอาตัวคะแนนมานั่งดูทั้งหมดจะบอกว่า คะแนนกระแสของพรรคประชาชนลดลง ก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญขนาดนั้น  และไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงขนาดนั้น"

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

"ถ้าคิดจากทั้งประเทศ คะแนนฐานทั้งหมดยังทรงๆ ไม่ได้เพิ่มกว่าเดิมไม่ได้น้อยลงกว่าเดิม  แต่แน่นอนเมื่อออกมาเป็นผลของ"นายกอบจ."หนึ่งที่นั่ง ผมกลับมองว่า เป็นโอกาส ที่พรรคประชาชนจะได้แสดงฝีมือเพราะคนตั้งคำถามมาตลอดว่า ตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกลมาพรรคประชาชน คุณไม่มีโอกาสมีอำนาจบริหารเลย และคุยว่า จะเปลี่ยนนั้นเปลี่ยนนี้  แต่ไม่มีโอกาสทำสักที มีแนวคิดบริหารเต็มไปหมด แต่รอบนี้มีโอกาสแล้วที่จังหวัดลำพูน  แม้จะมองว่าเหมือนไม่ดี แต่อาจมีข้อดี ที่ทรัพยากร สรรพกำลังทั้งหมดไปอัดที่นี่หมด ความสนใจจะไปที่ลำพูน แม้ได้น้อยก็จริงแต่อาจมีข้อดีในมุมนี้ 

กางตัวเลข ส.อบจ. 3 จังหวัด

"ปิยบุตร"  บอกว่า หลายจังหวัดที่ส่ง "นายกอบจ." จะส่งทีมส.อบจ. เต็มจำนวน แต่จังหวัดที่ได้นายกฯลำพูน ได้ ส.อบจ. มา 15 คน  ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งสภา ทำงานได้ อย่างเชียงใหม่ ไม่ได้นายกอบจ. แพ้ไปสองหมื่นคะแนน แต่ได้ส.อบจ.15 คน จากทั้งหมด 48 คน  ก็มีบทบาทตรวจสอบการทำงานนายกอบจ.ได้เป็นอย่างดี อีกจังหวัดคือ อุดรธานี  คราวที่แล้วลงนายกอบจ.แพ้ แต่รอบนี้ มีส.อบจ. 13 คน ดังนั้น "ส.อบจ." ได้รับเลือกจำนวนมากทั้ง 3 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี จะมีบทบาทสำคัญ  

ปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการคณะก้าวหน้า

บทสรุป เลือกอบจ.สู่เลือกตั้งสส.

"ปิยบุตร" กล่าวว่า  การเลือกตั้ง พฤติกรรม วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซนต์ แต่พรรคอนาคตใหม่ -ก้าวไกล - พรรคประชาชน มีวิธีคิดอ่านเรื่องการเมืองท้องถิ่นแบบนี้ แบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป  

"ลงเลือกตั้งใครๆก็หวังชนะ แต่การไม่ชนะก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมาฟูมฟาย แล้วจะเลิก ไม่ทำแล้ว ก็ยังมีหนทางเปลี่ยนแปลงอยู่" 

ยกตัวอย่าง ในแง่อุดมการณ์ความคิด พรรคสามารถทำให้คนเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งอบจ.ได้  ในอดีตคนจะไม่สนใจ แต่พรรคสร้างกระแสขึ้นมา ซึ่งครั้งนี้ พรรคทำไม่น้อยกว่ากกต.แน่ ตรงนี้สำคัญ 

ในร้ายมีดี จากการได้ลำพูนหนึ่งที่นั่ง 

1. เมื่อทำสำเร็จ จะทำให้ต่อเนื่องไปที่อุดมการณ์ความคิดภาพใหญ่ให้คนเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เอาเรื่องเหล่านี้มาสะท้อนให้ประชาชน นำการเลือกตั้งมารณรงค์ให้เห็นความสำคัญการเลือกตั้งท้องถิ่น  

2. พรรคใช้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ คิดว่า เป็นงานในการสร้างพรรค สร้างเครือข่าย คิดดูจังหวัดหนึ่งที่มีการเลือกตั้ง ทำให้เขามีโอกาสทำงาน  ส่วนจังหวัดที่แพ้ แน่นอนโดนคนล้อว่าแพ้อีกแล้ว แต่เป็นโอกาสในการสร้างทีม โอกาสเรียนรู้ว่าแพ้เพราะอะไร จะได้ถอดบทเรียนเริ่มสร้างทีมงาน สร้างเครือข่าย ดึงคนใหม่ๆเข้ามาเป็นประโยชน์ในการสร้างพรรค 

3. เลือกตั้งได้มาหนึ่งจังหวัด จะเป็นตัวแบบ ที่สรรพกำลังของพรรคไปช่วยเปลี่ยนแปลงจังหวัดลำพูน ถ้าคุณทำสำเร็จ 6 เดือน คนเห็นภาพชัดว่า อบจ.ลำพูน ที่มีนายกฯจากพรรคประชาชน จะเป็นคนละเรื่องกับอบจ.ที่พรรคอื่นได้ไป ทำให้เห็นความแตกต่างจากสมัยที่แล้ว

"ถ้าทำได้จะเป็นโดมิโนสร้างกระแสไปยังจังหวัดอื่นในการเลือกตั้งอบจ.ครั้งถัดไป รวมถึงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีที่กำลังจะมาถึงอาจเป็นแรงกดดัน ความท้าทาย และเป็นแรงบันดาลใจด้วย แต่แน่นอนที่สุดถ้าเราไม่มีโอกาสนี้เลย จะเป็นแค่การพูด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีอำนาจทำ ผมว่าน่าสนใจ"

ชี้วัดการเลือกตั้งระดับชาติได้หรือไม่ 

"ปิยบุตร" บอกว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น กับการเลือกตั้งระดับชาติ  เกี่ยวข้องพอสมควรแต่ไม่ได้ทัดเท่าเทียมกัน ว่าท้องถิ่นชนะ แล้วเลือกตั้งระดับชาติต้องชนะตาม

แต่อย่างน้อยเลือกตั้งบอจ.เลือกตั้งหลายจังหวัดและบางพื้นที่แข่งหลายพรรค บางพื้นที่แข่งตัวต่อตัวซึ่งฐานข้อมูลในการเลือกตั้ง 1 ก.พ. 68  ที่ผ่านมา เป็นฐานข้อมูลที่ทุกพรรคนำไปวิเคราะห์ต่อยอดได้ ฝั่งขั้วเดิม ที่ทำงานการเมืองเครือข่าย อิทธิพลบ้านใหญ่ต่างๆที่เขาทำ เขาก็เอาไปคิดได้ว่ามีอยู่เท่านี้ จะทำอย่างไรไม่ให้กระแสให้พรรคประชาชนยึดเพิ่ม ต้องตรึงไว้เท่านี้ในขณะเดียวกัน พรรคประชาชนก็รู้แล้วว่าในเวลาที่ตัวเองไม่มีกระแสแบบเลือกตั้งใหญ่ได้เท่านี้ คุณจะต้องเติมอะไรอีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า

"ผมคิดว่าชี้ไม่ได้หรอกจะทำให้การเลือกตั้งผลเป็นอย่างไร แต่จะเป็นข้อมูลให้พรรคทุกพรรคการเมืองวิเคราะห์ทำการบ้านอีกสองปีในการเลือกตั้งปี 2570"  

ปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการคณะก้าวหน้า

อุดจุดอ่อน สร้างจุดแข็งสู้ศึกเลือกตั้ง

"ปิยบุตร" บอกว่า ผมคิดว่า ต้องถอดบทเรียนอยู่แล้ว พรรคไหนเลือกตั้งไม่ถอดบทเรียนแสดงว่าพรรคนั้นไม่ได้ทำงานการเมือง การทำงานการเมืองมีผลลัพธ์จากเลือกตั้ง ประชาชนบอกเราแล้วว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นพรรคประชาชนทำแน่นอน และเดิมพันสูงด้วย ไม่ใช่แค่ลงเลือกตั้งขอแบ่งรมต.เป็นกระทรวง   

"แต่พรรคประชาชน ขอลงเลือกตั้งเพื่อขอเป็นรัฐบาล หวังมีเสียงเกินครึ่ง ต้องเตรียมคิดอ่านแน่นอน ที่ว่าแพ้ๆมาตลอด ตอนพรรคก้าวไกล ก็แพ้ทุกสนาม ถ้าย้อนกลับไปดู ตอนอนาคตใหม่ถูกยุบ พรรคก้าวไกลลงเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งผู้ว่ากทม. แพ้หมด ท้องถิ่นแพ้หมด  สส.ย้ายพรรคเต็มไปหมด สุดท้ายเราตั้งลำได้ ออกมาเป็นอันดับหนึ่ง"

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

เคล็ดลับชนะเลือกตั้งระดับชาติ 

"ปิยบุตร"  เผย กลยุทธ์การเมืองนับจากนี้ว่า การทำงานในสภา การทำงานของ สส.ต้องทำให้คนเห็น  การสร้างพรรคมวลชนต้องทำต่อเนื่องไม่มีวันหยุด

"ส่วนอารมณ์ของผู้คน คึกคัก ต้องดูในช่วง หกเดือน - สามเดือน ถึงจะมีกระแสขึ้น ระหว่างนี้เตรียมนโยบาย เตรียมบุคลากร ว่าเมื่อวันหนึ่งเป็นรัฐบาลจะทำอะไร ตั้งแต่ตั้งพรรคใหม่ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ตั้งมาเพื่อสู้ในระบบรธน.แบบนี้ สู้ในระบบนิติสงครามแบบนี้ สู้วัฒนธรรมการเมือง เครือข่ายอุปถัมภ์ แบบนี้ ทุกคนคุ้นชินหมดพยายามค่อยๆเปลี่ยนให้คนเห็นว่า วัฒนธรรมบ้านใหญ่ในอดีตอาจใช้ได้บางยุคบางสมัย แต่ถึงเวลาอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเหล่านี้ วันนี้อาจไม่สำเร็จ แต่ผมคิดว่าถ้าสำเร็จขึ้นมาหนึ่งจุดจะเป็นโดมิโน" 

"ผู้นำจิตวิญญาณค่ายสีส้ม"  กล่าวว่า การเมืองมีกลุ่มที่ครองอำนาจกับกลุ่มท้าทาย พรรคประชาชนอยู่ในกลุ่มท้าทาย การต่อสู้แบบนี้ คนท้าทายจะสู้ด้วยความเบิกบาน สู้ด้วยความรู้สึกอยากเปลี่ยนสังคม

ทำนองกลับกัน กลุ่มครองอำนาจ เขาเริ่มคิดว่าถ้าทำเหมือนเดิมจะยากขึ้นเรื่อยๆ ผมกลับคิดว่า คนที่อยากเปลี่ยนแปลงมีแรงที่จะสู้ ดังนั้น สถานะพรรคประชาชนอยู่แบบนี้และตั้งใจ

ปี 2570 ถ้าเราอยากเป็นรัฐบาลไว สูตรสำเร็จมันมีอยู่แล้ว ดึงสส.มาเป็นรัฐบาล แต่เราตั้งพรรคมาไม่อยากใช้สูตรนี้ ไม่ใช่สูตรนั้นผิด แต่เราไม่เชื่อ เราอยากทำสูตรใหม่ ซึ่งยากกว่า ก็จะใช้การต่อสู้แบบนี้ ลงเลือกตั้ง

จังหวะก้าว "เท้ง ณัฐพงษ์" ผู้นำฝ่ายค้าน

อีกมุมหนึ่งมีการมองกันว่า เป็นเพราะบทบาทการนำของหัวหน้าพรรคคนใหม่ "เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" แตกต่างจากผู้นำพรรคคนอื่นๆที่ผ่านมา ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนบทบาทในฐานะหัวหน้าพรรคหรือไม่  

"ปิยบุตร" ให้ความเห็นว่า  "ณัฐพงษ์" ยังทำหน้าที่ได้ดี เขาเดินทางรณรงค์หาเสียงอบจ.ไปหลายจังหวัดมาก  แน่นอนอาจไม่ได้อยู่ในกระแสสื่อตลอดเวลา เพราะว่ารอบนี้ มีผู้ช่วยหาเสียงกันเยอะ ทั้ง "พิธา" "ธนาธร" และคนอื่นๆอีกมากมาย ฉะนั้นแสงก็กระจายกันไป

แต่ถามว่า"เท้ง ณัฐพงษ์" ได้รับความนิยมในพื้นที่บ้างไหม เท่าที่ผมติดตาม เขาไปเดินสายหาเสียงทั่วประเทศ คนรู้จักให้ความนิยมชมชอบเขา 

ณัฐพงษ์  เรืองปัญญาวุฒิ  หัวหน้าพรรคประชาชน

อีกประเด็นความเป็นผู้นำพรรคของ "เท้ง ณัฐพงษ์"  เท่าที่ติดตาม ภายในพรรคให้การยอมรับสูงมาก เพราะหลังจาก พรรคประชาชนได้รับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.ลำพูน เดินทางไปที่ลำพูน ไปวางแผน วางนโยบายแล้วจะทำอะไรบ้าง และความรู้ความสามารถที่ถนัด ดิจิทัล เทคโนโลยี  เขาจะนำความรู้ส่วนนี้มาพัฒนาที่ลำพูน  

จับตา "ผู้นำฝ่ายค้าน"ในศึกซักฟอก

"ให้เวลาติดตามดูบทบาท ให้ผมขายไปล่วงหน้า ผมว่าปีนี้ จับตาคุณณัฐวุฒิ เรืองปัญญาวุฒิ สองเรื่องใหญ่ ๆ หนึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กับสอง ความรู้ความสามารถในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี เขาจะเอาไปใช้ที่อบจ.ลำพูน และเป็นตัวแบบให้เห็นว่า วันนี้ เรามีอำนาจเท่านี้ เราจะทำให้ดู และจะทำอะไรต่อ"  ปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจ