6 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาให้ "ศาสตราจารย์กิตตคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต" กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีความผิด มาตรา 157 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญาฯ โดยศาลฯชี้ว่า มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ปม"ทรูไอดี" ยื่นฟ้องออกหนังสือเตือนทีวีดิจิทัล มีโฆษณาแทรกในสัญญาณที่นำไปออก ผิดกฎ "Must Carry" ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้
ล่าสุด ได้มีความเคลื่อนไหวจากภาควิชาการคณะนิเทศศาสตร์ จากหลายสถาบันการศึกษา รวมถึง นิสิตนักศึกษา ภาคประชาชน คุ้มครองผู้บริโภค ออกมาแสดงจุดยืนให้กำลังใจและปกป้องการทำหน้าที่ของ " ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต"
อย่างเช่น คณะกรรมการนิสิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญชวนนักวิชาการ คณาจารย์ นิสิต บัณฑิต และประชาชน เปลี่ยนภาพดิสเพลย์ หรือภาพโปรไฟล์ เพื่อให้กำลังใจ "อาจารย์ขวัญ" หรือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะอดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเล่าเรื่องอาจารย์ขวัญผ่านแฮชแท็ก #เล่าเรื่องพิรงรอง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนิสิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปกป้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต ความว่า
"ด้วยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน นัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ในคดีระหว่างฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และจำเลย คือ "ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต" คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์
โดยคดีนี้สืบเนื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ที่มีพิรงรอง รามสูต เป็นประธานฯ ได้พิจารณาและเสนอความเห็นในข้อร้องเรียนจากประชาชนต่อแพลตฟอร์มของแอปฯ ทรูไอดีมีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งแอปฯ ทรูไอดีได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง และ สำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามหลักมัสแครี่ (Must Carry) ที่มาโฆษณาแทรกไม่ได้ แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัททรูดิจิทัลฯ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่บริษัทได้อ้างว่าการออกหนังสือดังกล่าวทำให้ตนเองเสียหาย จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อการทำหน้าที่ของประธานอนุกรรมการชุดนี้คือ "พิรงรอง รามสูต"
คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ (กนท.) ขอแสดงจุดยืนปกป้อง "พิรงรอง รามสูต" ในฐานะกรรมการของสถาบันที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่าง กสทช. เพื่อปกป้องประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค และการออกหนังสือตักเตือนนั้นเป็นไปตามหน้าที่อันสุจริตของกรรมการ กสทช. พร้อมกันนี้ กนท. ยังขอแสดงความกังวลถึงการฟ้องร้องในคดีดังกล่าวว่าอาจเข้าข่ายการใช้กฎหมายปิดปาก (SLAPP) ที่จะนำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงลบในการกำกับดูแลกิจการฯ ของ "กสทช." และยังสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวแก่สังคมจากการฟ้องร้องที่สื่อมวลชนพึงไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร
คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ขอเชิญชวนประชาคมจุฬาฯ และประชาชนจับตาคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่นอกจากจะส่งผลต่อพิรงรอง รามสูต แล้ว จะยังเป็นคำพิพากษาที่กำหนดบรรทัดฐานการกำกับดูแลสื่อและหน้าที่อันพึงกระทำของ กสทช. ต่อจากนี้"
คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แมสคอม มช.ออกแถลงการณ์สนับสนุนจุดยืน "พิรงรอง"
ขณะเดียวกัน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงจุดยืนสนับสนุน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตร ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลกิจการการสื่อสารและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดโดยสุจริต
"คณะการสื่อสารมวลชนฯ" เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. ควรดำเนินการไปตามหลักนิติธรรม และมีความเป็นอิสระ เพื่อปกป้องสิทธิการสื่อสารขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างระบบการสื่อสารที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยควรเป็นหลักประกันสำคัญในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต และสามารถสร้างความไว้วางใจให้กับสาธารณะต่อไป
คณะการสื่อสารมวลชนฯ จึงขอแสดงความเคารพต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ