10 กุมภาพันธ์ 2568 ตำรวจไซเบอร์ นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พล.ต.ต.ศิลา กาญจนลักษณ์ ผบก.ตอท. พ.ต.อ.ศุภกร ผิวอ่อน รรท.ผบก.สอท.5 พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รรท.ผบก.อก. พ.ต.อ.สุวัฒน์ แก้วเกิด รอง ผบก.ตอท. พ.ต.อ.บัญชา ศรีสุข รอง ผบก.สอท.5 พ.ต.อ.ฐาปกรณ์ หนุมาศ ผกก.3 บก.สอท.5 สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 8 ร่วมเปิดปฏิบัติการ ”PHOBOS“ กวาดล้างอาชญากรข้ามโลก จับ 4 แฮกเกอร์ต่างชาติ ใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ นำกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 4 จุด ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต
จุดแรกตำรวจเข้าค้นห้องพักแห่งหนึ่ง ในต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต จุดที่ 2 ตรวจค้นห้องพัก ใน ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จุดที่ 3 ค้นห้องพัก ใน ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต และ จุดที่ 4 ค้นห้องพัก ใน อ.เมือง จ.ภูเก็ต สามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวต่างชาติ 4 คน พร้อม โทรศัพท์มือถือโน้ตบุ๊ก และกระเป๋าดิจิทัลวอเล็ท รวมกว่า 40 รายการ ดำเนินคดีในความผิดฐาน สมคบคิดเพื่อการกระทำความผิดทางกฎหมายต่อประเทศสหรัฐอเมริกา (Conspiracy to Commit an Offense Against the United States) และสมคบคิดเพื่อกระทำการฉ้อโกงทางสายสื่อสาร (Conspiracy to Commit Wire Fraud)”
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) มีหนังสือสั่งการ ตท.ด่วนที่สุด เรื่องทางการสมาพันธรัฐสวิส ขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาเป็นผู้ร้ายข้ามแดน มีรูปแบบเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา
ทางการสหรัฐอเมริกา และทางการสมาพันธรัฐสวิส ประสานขอความร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่องขอตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนและความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญามายังประเทศไทย ให้ช่วยตรวจสอบและหาพยานหลักฐานของกลุ่มผู้ต้องหาชาวต่างชาติชาวยุโรป 4 ราย มีหมายจับของตำรวจสากล ซึ่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีรูปแบบเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
โดย พฤติการณ์กลุ่มผู้ต้องหาได้ใช้แรนซัมแวร์(มัลแวร์ประเภทหนึ่ง ทำอันตรายข้อมูล) จู่โจมบริษัทผู้เสียหายในสวิตเซอร์แลนด์กว่า 17 บริษัท ในช่วงระหว่างวันที่ 30 เม.ย. 2566 จนถึงวันที่ 26 ต.ค. 2567 โดยกลุ่มผู้ต้องหามีการเข้าถึงข้อมูลสำคัญหลายอย่าง ในเครือข่ายของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งมีการทำสำเนาและโจรกรรมข้อมูลจากการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย โดยใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ Phobos เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลเข้ารหัสไฟล์ของผู้เสียหาย
จากนั้นจึงวางไฟล์ขู่เรียกค่าไถ่ไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยชูให้ผู้เสียหายติดต่อเพื่อจ่ายค่าไถ่เป็นสกุลเงินดิจิทัล เพื่อแลกกับคีย์สำหรับถอดรหัส หากผู้เสียหายปฏิเสธการจ่ายเงินทางกลุ่มผู้ต้องหาจะติดตามการโจมตี ด้วยการส่งอีเมลหรือโทรศัพท์ข่มขู่ไปยังผู้เสียหาย เพื่อขู่กรรโชกว่าจะขายหรือเปิดเผยข้อมูลของเหยื่อหากปฏิเสธที่จะจ่ายเงินเรียกค่าไถ่
นอกจากนี้กลุ่มผู้ต้องหายังมีการ ขัดขวางการติดตามย้อนกลับการทำธุรกรรมเงินดิจิทัลบนบล็อกเซนอีกด้วย พบว่า มีจำนวนผู้เสียหายทั่วโลกกว่า 1,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 560 ล้านบาท
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า จึงสั่งการให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์สืบสวนขยายผล จนทราบว่ากลุ่มคนร้ายได้พักกบดานอยู่ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ก่อนสนธิกำลังบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) และตำรวจภูธรภาค 8(บช.ภ.8) เข้าตรวจค้นที่พักและจับกุมตัวพร้อมของกลางที่ตรวจยึดไว้ได้ทั้งหมด