svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ย้อนรอยปมขัดแย้ง"วัดบางคลาน" | สืบสวนความจริง | 28 ต.ค. 66 | PART 2

ย้อนรอยปมขัดแย้ง"วัดบางคลาน" | สืบสวนความจริง | 28 ต.ค. 66 | PART 2

ย้อนรอยปมขัดแย้ง"วัดบางคลาน"

 

ศึกร้อน “วัดบางคลาน” หรือ วัดหลวงพ่อเงิน กลายเป็นมหากาพย์ ที่ยืดเยื้อยาวนานมาร่วม 10 ปี จากปัญหาการบริหารงานและเงินของวัดบางคลาน นับตั้งแต่มีการปลดเจ้าอาวาสรูปเดิม และแต่งตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่ จนขยายตัวเลวร้ายจนถึงปัจจุบัน ลุกลามตั้งแต่สงฆ์ ถึงฆราวาส

 

วัดบางคลาน หรือวัดวังตะโก ในชื่อเดิม เป็นวัดเก่าแก่ อายุเกือบ 200 ปี ที่ศาสนิกชนจำนวนมากต่างเลื่อมใสศรัทธา โดยเรียกกันเป็นทางการ ว่า วัดหิรัญญาราม หรืออีกชื่อหนึ่ง ทุกคนจะรู้จักกัน คือ วัดหลวงพ่อเงิน ด้วยเป็นวัดที่หลวงพ่อเงิน เป็นผู้สร้างไว้เมื่อประมาณปี 2377 

 

ต่อมาวัดบางคลาน เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผู้คนเคารพนับถือและถวายตัวเป็นศิษย์ ขอมาฟังธรรม ขอเครื่องรางของขลัง และขอให้หลวงพ่อช่วยรักษาโรคให้ โดยท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณฝ่ายวิปัสสนา ในที่สุด

 

วัดบางคลาน โด่งดังด้านวัตถุมงคล สุดขีดในยุค "พระครูพิบูลธรรมเวท" หรือ "หลวงพ่อเปรื่อง" เจ้าอาวาสรูปที่ 8 ตั้งแต่ปี 2505 มีการจัดทำวัตถุมงคล และพระเครื่องหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งทุกรุ่นล้วนแต่โด่งดังในแวดวงพระเครื่องและวัตถุมงคล โดยเฉพาะ "พระรูปหล่อ พลวงพ่อเงิน พิมพ์นิยม" ซึ่งราคาปัจจุบันสูงถึงหลักล้านบาท หรือหลายล้านบาท

 

ยุคหลวงพ่อเปรื่อง มีไวยาวัจกร คือ  "ลุงเชวง ชัยรัตน์" ซึ่งทำงานให้วัดมานานหลายสิบปี และช่วงนั้น วัดมีรายได้จากการสร้างวัตถุมงคลรุ่นต่าง ๆ รวม ๆ แล้วหลักร้อยล้านบาท จนมา ปี 2539 หลวงพ่อเปรื่อง ได้มรณภาพลง วัดได้แต่งตั้ง "พระครูวิสิฐสีลาภรณ์" ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  และนับแต่นั้นเอง ความขัดแย้งก็เริ่มขึ้นที่วัดบางคลานแห่งนี้

 

"อาจารย์พร" อีกหนึ่งคนที่ทำงานให้วัดมานานเล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในวัดมาจาก 2 เรื่องหลัก  คือ ความประพฤติที่ไม่เหมาะสมกับสมณเพศของเจ้าอาวาส (ในขณะนั้น) ซึ่งก็คือ "พระครูวิสิฐสีลาภรณ์" และอีกหนึ่งปัญหาคือการบริหารจัดการเงินวัด มีการทำโครงการก่อสร้างหลายโครงการ และมีการจัดจ้างบริษัทรับเหมาซึ่งเกี่ยวข้องกับสีกาคนหนึ่ง และเมื่อมีความ สงสัยว่าจะมีการทุจริตอะไรบางอย่างจึง ยื่นเรื่องไปยังคณะสงฆ์ให้ทำการตรวจสอบ แต่ในตอนนั้นได้ใช้กระบวนการทางศาลเข้ามาจัดการปัญหาซึ่งใช้เวลานานและทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

 

ปี 2557 ลุงเชวง ทนไม่ไหว ได้ร่างจดหมาย ร้องเรียนถึงเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ "พระครูวิสิฐสีลาภรณ์" มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน ตามกฎหมายปกครองคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม เมื่อปี 2557-2558 มีคำสั่งให้ "พระครูวิสิฐสีลาภรณ์"  ยุติการปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส เพราะการบริหารไม่โปร่งใส เดิมวัดมีสมุดบัญชีเงินฝาก 5 เล่ม แต่ต่อมาลดเหลือ 1 เล่ม และทำให้สังคมสงฆ์ ชาวบ้านแตกแยกกัน พร้อมกันนั้น ก็แต่งตั้ง  "พระครูพิสุทธิวราภรณ์" รองเจ้าคณะ อ.โพทะเล ผู้รู้เรื่องความเป็นไปในวัด และเป็นผู้ปกครองใกล้ชิด  ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ ให้เข้าไปตรวจสอบเงินบริจาค และศาสนสมบัติของวัด

 

การแต่งตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่ ทำให้ พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาส ไม่พอใจ ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง แต่กลับฟ้องร้องเจ้าอาวาสองค์ใหม่ ทั้งแพ่ง ทั้งอาญา รวมทั้งร้องเรียน ป.ป.ช.ให้สอบเจ้าอาวาสใหม่ด้วย แต่พระครูวิสุทธิวรากร เจ้าอาวาสใหม่ก็ไม่ยอม ได้ฟ้องกลับเช่นกัน

 

จุดนี้เองที่เป็นชนวนเหตุของความขัดแย้ง มีคดีฟ้องร้องกันมากมาย แม้คดีหลัก คือคดีที่มีการฟ้องร้องเรื่องการปลดเจ้าอาวาสรูปเดิม และตั้งรักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้วว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ปัญหาก็ยังไม่ยุติลง เพราะยังมีชาวบ้านและผู้กว้างขวางในพื้นที่ ขัดขวางการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของคณะรักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ หลายครั้งความขัดแย้งบานปลายจนเกือบเผชิญหน้า

 

ปี 2565 มีการปิดล้อมยึดวัดหลวงพ่อเงินบางคลาน ยาวนาน 3-4 เดือน จนเมื่อ 24 มิถุนายน 2565 พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาส ที่เป็นคู่กรณี ก็ได้มรณภาพลง

 

เรื่องดูเหมือนจะจบ แต่ก็ยังไม่จบ เมื่อเหล่าบรรดาลูกศิษย์และญาติพี่น้องต่างมาอ้างกรรมสิทธิ์และทรัพย์สินของอดีตเจ้าอาวาส ในช่วงที่หาได้ และมี ในขณะที่บวชเป็นพระ ซึ่งยังเป็นคดีความกัน

 

แต่ความเคลื่อนไหวที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่ วันที่ 11 มกราคม 2566 เมื่อ พยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าฯพิจิตร ได้ส่งหนังสือถึงเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร มีเนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งว่า"เนื่องจากเรื่องการแต่งตั้งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ จังหวัดพิจิตร จึงขอถวายเรื่องความคืบหน้าของสถานการณ์ในเรื่องนี้ให้พระคุณท่านเพื่อเป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม ต่อไป"

 

กระทั่ง 14 มีนาคม 2566 ได้มีพิธีแต่งตั้ง พระครูพิสุทธิวรากร เป็นเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม อย่างเป็นทางการ มีพระราชสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เป็นประธาน พิธีในวันนั้น ไม่มีชาวบ้านออกมาประท้วงแต่อย่างใด

 

แต่ผ่านไปได้เพียงครึ่งเดือน กลุ่มชาวบ้านก็ออกมาประท้วงอีกครั้ง เพราะไม่ยอมรับในตัวเจ้าอาวาสรูปใหม่ เนื่องจากมีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านเป็นร้อยคดี พยายามให้ชาวบ้านติดคุก และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร อ้างเหตุผลแจ้งเจ้าคณะอำเภอโพทะเลว่า เพื่อสนองนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร

 

นอกจากนี้ยังมีคลิปเสียงพระผู้ใหญ่ของจังหวัด โทรศัพท์ข่มขู่ให้ "พระครูวิรุฬธรรมาภิรัติ" เจ้าคณะอำเภอโพทะเล ให้ดำเนินการแต่งตั้ง "พระครูพิสุทธิวรากร"  เป็นเจ้าอาวาส โดยปฏิบัติตามหนังสือจังหวัดพิจิตร มีเจ้าคณะตำบลท่านั่ง-บางคลาน มาคอยกำกับ กดดันเจ้าคณะอำเภอโพทะเล ลงนามในหนังสือรายงานการประชุม เสนอแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ประชุมจริงชาวบ้านในตำบลบางคลานไม่มีใครทราบเรื่องและไม่ยอมรับการแต่งตั้งพระครูพิสุทธิวรากร เป็นเจ้าอาวาส จึงขอให้เปลี่ยนตัวเจ้าอาวาส 

 

วันที่ 5 เม.ย. 2566 ศาลจังหวัดพิจิตร มีคำสั่งให้ส่งมอบทรัพย์สินของวัดบางคลาน แก่กรรมการวัดชุดใหม่ จึงทำให้เกิดปัญหาระหว่างกรรมการวัดชุดใหม่ พยายามเดินทางเข้าไปปฏิบัติงานหน้าที่ แต่ถูกขัดขวาง มีการปิดประตูวัดทุกด้าน

 

วันที่ 6 เม.ย. 2566 เหตุการณ์บานปลาย ถึงขั้นใช้กำลังเข้าทำร้ายกันและกัน โดยมีชายแต่งกายชุดดำ 22 คน เข้าไปทำร้ายพระ และเจ้าหน้าที่วัด ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวว่าเป็นคนสั่งการ คือ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ 

 

สัปดาห์หน้า สืบสวนความจริงจะมาร่วมหาคำตอบ และหาจุดคลี่คลายของมหากาพย์ปมขัดแย้ง วัดบางคลาน