จากผลการนับคะแนนเบื้องต้นบ่งชี้ว่า การแข่งขันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และกมลา แฮร์ริส ยังสูสีเกินกว่าจะฟันธงได้ โดยทรัมป์ชนะในรัฐบ้านเกิด ฟลอริดา และอีกหลายรัฐที่เป็นฐานเสียงหัวอนุรักษ์อื่นๆ ส่วนแฮร์ริสชนะในรัฐหัวเสรีในแถบชายฝั่งภาคตะวันออก และชนะในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีเสียงคณะผู้เลือกตั้งมากที่สุด 54 เสียงตามคาด
ซีเอ็นเอ็นรายงานผลนับคะแนนล่าสุด พบว่า ทรัมป์ได้คะแนนเสียงแล้วกว่า 51 ล้านเสียง และคาดว่า จะได้เสียงคณะผู้เลือกตั้ง 211 เสียง ขณะที่แฮร์ริสได้คะแนนเสียงกว่า 45 ล้านเสียง และคาดว่าจะได้เสียงคณะผู้เลือกตั้ง 145 เสียง แต่ยังไม่มีใครเป็นผู้นำชัดเจนใน 7 รัฐสมรภูมิ ที่จะเป็นตัวกำหนดผลแพ้ชนะ
เบื้องต้นพบว่า ทรัมป์นำฉิวเฉียดใน 5 รัฐสมรภูมิ นอร์ทแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย วิสคอนซิน แอริโซนา จอร์เจีย แฮร์ริสนำในมิชิแกน ขณะที่เนวาดายังไม่ปิดลงคะแนน ขณะที่คาดว่า มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเกือบ 86 ล้านคน
ซีเอ็นเอ็น ระบุด้วยว่า ยังไม่มีผลเลือกตั้งที่พลิกความคาดหมาย โดยทรัมป์คาดว่าชนะคะแนนเสียงในรัฐ ที่เขาเคยชนะในการเลือกตั้งปี 2563 และรัฐที่แฮร์ริสชนะ ก็เป็นรัฐที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชนะในปี 2563 ยังไม่พบว่า มีรัฐไหนที่พลิกลงคะแนนให้อีกฝ่าย
การเลือกตั้งจัดขึ้นท่ามกกลางการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ขณะที่มีรายงานว่า มีเหตุหลอกลวงขู่วางระเบิดเกือบ 30 ครั้ง ตามหน่วยเลือกตั้งและสถานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งกว่าครึ่งอยู่ในรัฐจอร์เจีย ที่เป็นหนึ่งในรัฐสมรภูมิ นอกจากนี้ยังมีคำขู่วางระเบิดในรัฐเพนซิลเวเนีย ที่ต้องมีการอพยพคนออกจากตึกที่เป็นคูหาเลือกตั้ง
ไม่ว่าผลเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาอย่างไร ล้วนเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ หากแฮร์ริสชนะ จะเป็นผู้หญิงคนแรก ผู้หญิงผิวสีคนแรก และชาวเอเชียใต้อเมริกันคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนทรัมป์ชนะ จะเป็นประธานาธิบดี ที่ได้รับเลือกตั้งสมัยที่สอง ที่ไม่ติดต่อกันเป็นคนแรกในรอบกว่า 130 ปี และเขายังเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกลงมติถอดถอน 2 ครั้ง และอดีตประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดคดีอาญา
ขณะที่เอ็กซิตโพลชี้ประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งปีนี้ โดย 35% ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยอันดับแรกจาก 5 ตัวเลือก รองลงมา คือ เศรษฐกิจ, การทำแท้ง, ผู้อพยพ และนโยบายต่างประเทศ แต่ตัวเลขยังอาจเปลี่ยนแปลงได้
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยอันดับแรกที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกครั้งนับจากปี 2551