การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ธ.ค.2567 เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาหนี้ โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้แก้ไขปัญหาหนี้สินได้ โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนให้เกิดเป็นรูปธรรมและยั่งยืนขึ้น ประกอบด้วย
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs โดยปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ย การเน้นตัดต้นเงินลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ 3 ประเภท (สัญญาสินเชื่อที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567) ประเภทสินเชื่อ วงเงินรวมต่อสถาบันการเงิน ได้แก่
1.สินเชื่อบ้าน/สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ไม่เกิน 5 ล้านบาท
2.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และ/หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และ/หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 800,000 บาทไม่เกิน 500,000 บาท
3.สินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไม่เกิน 5 ล้านบาท
ส่วนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข เช่น ลดภาระการผ่อนชำระค่างวด ระยะเวลา 3 ปี โดยในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ชำระค่างวด 50% 70% และ 90% ตามลำดับตามค่างวดที่ชำระจะนำไปตัด เงินต้นทั้งหมดเพื่อให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้นและดอกเบี้ยจะพักการชำระไว้ในช่วงระยะเวลามาตรการ
นอกจากนี้ มีมาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPLs ที่มียอดหนี้ ไม่สูง เช่นลูกหนี้ และประเภทสินเชื่อ เป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดำที่เป็น NPLs และมีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท (ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา)
รวมทั้งให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข เช่น การปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนโดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระ 10% ภาครัฐรับภาระร้อยละ 45 และสถาบันการเงินรับภาระร้อยละ 45 ของภาระหนี้คงค้าง
ทั้งนี้ แหล่งเงินของทั้ง 2 มาตรการ มาจากเงินนำส่งเข้า FIDF ของธนาคารพาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงิน) 39,000 ล้านบาท, เงินงบตาม ม.28 เพื่อชดเชยให้ SFIs 6 แห่ง จำนวน 38,920 ล้านบาท, มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ของ Non-banks โดยขยายการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมลูกหนี้ Non-banks
โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นับเป็นการประสานบทบาทของทั้งภาครัฐ เอกชน และลูกหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง โดยลูกหนี้จะต้องลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการและชำระหนี้ตามเงื่อนไข ขณะที่ภาครัฐและสถาบันการเงินจะร่วมสนับสนุนเม็ดเงินในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมฝ่ายละครึ่งหนึ่ง (50%) เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วย 2 มาตรการ
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ที่เป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอี สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท และสินเชื่อรถ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท สินเชื่อเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยการเข้าโครงการจะสามารถแก้หนี้ได้ 1 สัญญา ต่อประเภทสินเชื่อ ต่อหนึ่งสถาบันการเงิน เช่น หากมีบ้านราคาหลังละไม่เกิน 5 ล้านบาทอยู่ที่ 2 สถาบันการเงินก็สามารถเข้าโครงการได้ทั้งหมด แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ในเงื่อนไข
สำหรับรูปแบบในการช่วยเหลือ จะมีการลดค่างวด 3 ปี โดยปีแรกจะลดค่างวดขั้นต่ำที่ 50% ปีที่สอง 70% และปีที่สาม 90% โดยจะนำค่างวดทั้งหมดไปตัดเป็นเงินต้นและจะพักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี และจะยกเว้นทั้งหมดให้ หากลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดสัญญาในช่วงที่อยู่ในมาตรการ
ทั้งนี้บัญชีที่สามารถเข้าโครงการได้ จะต้องทำสัญญาก่อน 1 ม.ค. 2567 และต้องมีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ต.ค. 67 อย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 30วันแต่ไม่เกิน 12เดือนหรือ 365 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันที่ 1ม.ค 2565
สำหรับเงื่อนไขการเข้าโครงการ ลูกหนี้ต้องทำสัญญาไม่ก่อหนี้ใหม่ในช่วง 12 เดือนแรก ยกเว้นสินเชื่อธุรกิจที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งขึ้นกับเจ้าหนี้พิจารณา ทั้งนี้ลูกหนี้ต้องรับทราบการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้ามาตรการและหากลูกหนี้ไม่จ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำตามกำหนดจะหลุดจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่พักไว้ระหว่างเข้ามาตรการ สุดท้าย หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องยินยอมในการเข้ารวมโครงการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่ด้วย
สำหรับมาตรการที่ 2 คือ “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ที่เป็นหนี้เสียต่อบัญชีไม่เกิน 5,000บาท โดยไม่จำกัดสินเชื่อ สามารถเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1บัญชี โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเกิน 90 วัน ณ วันที่ 31ต.ค. 67
“มาตรการที่ 2 จ่าย ปิด จบหนี้ ในข้อมูลมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายราว 3.4 แสนบัญชี หรือวงเงินหนี้รวมน้อยมาก โดยมีวงเงิน 1 พันล้านบาท กลุ่มนี้เป็นหนี้ทั้งแบงก์รัฐ แบงก์พาณิชย์ หรือนอนแบงก์ที่ไม่รู้ว่าเป็นหนี้ค้างชำระ หรือมีวงเงินค้างชำระอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ไม่ได้ติดตามทวงหนี้เพราะวงเงินน้อยมาก ดังนั้นหากลูกหนี้จ่ายเพียง 10% ลูกหนี้ก็มีโอกาสปิดจบหนี้ได้ เพื่อล้าง และเคลียร์ประวัติออกจากระบบได้”
อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
สำหรับมาตรการแก้หนี้ในระยะข้างหน้า จะมีการขยายกลุ่มไปสู่ ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่อยู่ภายใต้กำกับ ธปท.ด้วย โดยคาดว่า มาตรการจะมีความชัดเจนได้ในต้นปี 2568 แต่มาตรการสำหรับนอนแบงก์ จะไม่ช่วยเหลือมากเท่ามาตรการชุดแรกเพราะสินเชื่อที่อยู่กับนอนแบงก์ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน วงเงินต่ำกว่ามาตรการชุดแรก