18 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงเรียนท่าปลาอนุสรณ์ 1 อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ โรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 2 บรรยากาศภายในร่มรื่น เขียวขจี และแทบไม่น่าเชื่อว่าแทบทุกพื้นที่ว่างเปล่าของโรงเรียน ไม่ว่าเดินไปทางไหน พบต้นผักหวาน ขนาดต่างๆ แทบจะเรียกว่า "ดงผักหวาน" บางต้นมีการตอนกิ่งเตรียมขยายพันธุ์ และร้อยละ 80 ของจำนวนต้นผักหวานกำลังแตกยอดอ่อน อวบๆ งามๆ เต็มต้น
นายนิรุจน์ นาสม ผอ.โรงเรียนท่าปลาอนุสรณ์ 1 พร้อมด้วยครู นักเรียนที่อยู่ในช่วงการเข้าค่ายลูกเสือ ต่างช่วยกันเก็บยอดผักหวานอย่างชำนาญ และมีความสุข เนื่องจากเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของเด็กๆ ที่มีส่วนร่วมดูแล จนผักหวานแตกยอดอ่อนเต็มต้น พร้อมจัดเป็นอาหารมื้อกลางวัน และ เมนูในฐานของลูกเสือ ไม่ว่าจะเป็น ผักหวานน้ำมันหอย, ผักหวานชุบไข่, แกงผักหวานปลาย่าง, ผักหวานไฟแดง
นายนิรุจน์ นาสม ผอ.โรงเรียนท่าปลาอนุสรณ์ 1 กล่าวว่า โรงเรียนท่าปลาอนุสรณ์ 1 จัดศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนพื้นที่ว่างภายในโรงเรียนแบ่งเป็นฐานเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งหนึ่งในฐานเรียนรู้เป็นฐาน "ผักหวาน" ที่นำผักหวานป่าทั้งเมล็ดและกิ่งตอน ลงปลูก เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จัก เรียนรู้ เริ่มจากปลูกไม่กี่สิบต้น ต่อเนื่องปี 2568 เป็นที่ 9 ปัจจุบันจาก ผักหวานป่า เป็น "ผักหวานโรงเรียน" มากกว่า 120 ต้น เป็นผลงานที่เด็กๆรุ่นต่อรุ่น ได้ร่วมปลูก เรียนรู้ แบบครบวงจร คือ ปลูก ดูแล ขยายพันธุ์ เก็บอาหารกลางวันของโรงเรียน ส่งต่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้ปกครอง
ที่สำคัญคือ เผยเคล็ดลับ ปลูก "ผักหวานแตกยอดตลอดปี" เมื่อผักหวานเจริญเติบโตเต็มที่ ทำการตัดแต่งกิ่ง และรูดใบแก่บางส่วนทิ้งให้เหลือติดกิ่งๆ ละ 3-4 ใบ ให้น้ำพอดินชื้น ผักหวานเป็นพืชทนแล้ง เพียงแต่นี้ ผักหวานแตกยอดอ่อนสวยงาม แนะนำให้เก็บในช่วงเช้าไปจนถึงเที่ยงวัน จะได้ยอดผักหวานที่เขียวสด ทำอาหารเมนูผักหวาน จะหวานสมชื่อ
ทั้งนี้ ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกผักหวานโรงเรียน พร้อมเปิดให้ผู้ปกครองประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษา เพื่อนำไปปลูกเป็นผักหวานบ้าน อย่างน้อยครอบครัวละ 5 ต้นสามารถเก็บกิน เหลือขายได้ทั้งปี โดยไม่ต้องเข้าป่าและเผาป่าเพื่อให้ยอดผักหวานแตก เป็นการลดการเผา ลดมลภาวะทางอากาศ ที่เกิด PM 2.5 โดยราคาในช่วงฤดูกาล เดือนมีนาคม-เมษายน อยู่ที่กิโลกรัม 200 บาท นอกฤดูกาลเพิ่มเท่าตัว