World of Change EP.3 ถอดบทเรียน ภัยพิบัติเปลี่ยนโลก พาไปเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่สร้างภัยพิบัติครั้งใหญ่ให้กับมนุษย์ พายุเฮอริเคน และพายุไต้ฝุ่น ปัญหาที่มนุษยชาติต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางแก้ไขและตั้งรับ เพื่อความอยู่รอดของมวลมนุษย์
รับชมรายการได้ที่นี่ :
ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะ "พายุเฮอริเคน" และ "พายุไต้ฝุ่น" ที่สร้างความเสียหายมหาศาล มีผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินมนุษยชาติ มนุษย์เราจึงต้องเตรียมพร้อม รับมืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
พายุเฮอริเคน คือ พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรหรือทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 26 องศาเซลเซียส ซึ่งมักเกิดขึ้นในบริเวณที่ห่างไกลจากเส้นศูนย์สูตร พายุประเภทนี้เริ่มต้นจากพายุฝนฟ้าคะนองแล้วพัฒนาไปสู่พายุที่มีความรุนแรง โดยลมจะมีความเร็วไม่ต่ำกว่า 74 ไมล์ต่อชั่วโมง พายุเฮอริเคนมีขนาดใหญ่มากและสามารถขยายวงกว้างได้ถึง 600 ไมล์
พายุเฮอริเคน เกิดจากการหมุนของลมและกระบวนการหมุนรอบตัวเองของพายุ ซึ่งทำให้เมฆฝนหมุนคล้ายกับล้อรถยนต์ เมื่อความเร็วของลมเพิ่มขึ้นถึงระดับ 74 ไมล์ต่อชั่วโมง พายุจะกลายเป็นพายุเฮอริเคน ซึ่งเมืองที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเล เช่น นิวออลีนส์ อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง พายุเฮอริเคนจะหมุนทวนเข็มนาฬิกาและดูดซับความชื้นและไอน้ำจากทะเล ซึ่งอาจมีปริมาณมากถึง 200,000 ตัน
พายุเฮอริเคนจะเคลื่อนที่เข้าไปในฝั่งด้วยความเร็วประมาณ 12 ไมล์ต่อชั่วโมง และเมื่อเข้าสู่พื้นที่ที่มีน้ำตื้นจะทำให้เกิดคลื่นสูงที่มีอันตราย โดยเมื่อพายุเฮอริเคนเข้าใกล้พื้นที่ที่มีความชื้นและอากาศอุ่นจากทะเล พายุจะค่อยๆ อ่อนกำลังลงและมักจะสิ้นสุดลงภายใน 2-3 วัน
พายุเฮอริเคน "เฮลีน" ประเทศสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ของพายุเฮอริเคน "เฮลีน" ถือเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกาในรอบ 55 ปี เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้จึงนำไปสู่บทเรียนต่อมนุษยชาติที่สำคัญ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2024 พายุเฮอริเคน "เฮลีน" มีความรุนแรงระดับ 1 และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระดับ 4 ขณะพัดขึ้นฝั่งในรัฐฟลอริดา พยากรณ์อากาศเตือน อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงถึงขั้นหายนะ อันตรายต่อชีวิต และอาจมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงานเมื่อเวลา 5.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นพายุเฮอร์ริเคนเฮลีน ความเร็วลมสูงถึง 144 กม./ชม. เคลื่อนตัวข้ามอ่าวเม็กซิโกมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้วยความเร็ว 19 กม./ชม. และคาดว่า พายุจะมีความเร็วลมถึง 208 กม./ชม. ในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว อาจมีกำลังแรงเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนพัดขึ้นฝั่ง ใกล้แอปาลาชิโคลาในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดี
ต่อมาศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ ระบุว่า อาจมีสตอร์มเซิร์จ หรือ น้ำทะเลสูงขึ้นเนื่องจากพายุในพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งบิกเบนด์ ของรัฐฟลอริดา โดยอาจเกิดสตอร์มเซิร์จ สูงถึง 20 ฟุต และอาจมีคลื่นรุนแรงด้วย พร้อมกับแนะนำให้ประชาชนเตรียมพร้อมปกป้องชีวิตและทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นภายในเช้าวันพฤหัสบดี
ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา, รัฐจอร์เจีย, รัฐนอร์ธแคโรไลนา, รัฐเซาท์แคโรไลนา และรัฐเวอร์จิเนีย ประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับพายุ ซึ่งพายุอาจทำให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในหลายรัฐ และอาจเกิดทอร์นาโดในบริเวณตั้งแต่รัฐฟลอริดาไปจนถึงรัฐนอร์ธแคโรไลนา และรัฐเซาท์แคโรไลนาในวันนี้ รวมทั้งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์ในแถบภูเขาของภาคตะวันออกเฉียงใต้
วันที่ 27 กันยายน 2024 พายุเฮอริเคน "เฮลีน" พัดขึ้นฝั่งในเขตบิกเบนด์ของรัฐฟลอริดาด้วยความรุนแรงระดับ 4 มีความเร็วลมสูงถึง 224 กม./ชม. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายในฟลอริดาและอีก 2 รายในรัฐจอร์เจีย รวมถึงมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุในหลายรัฐ ทางการท้องถิ่นในหลายเมือง ออกคำสั่งให้ประชาชนเร่งอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงแถบชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือภายในเช้าวันพฤหัสบดี เนื่องจากพายุอาจทำให้เกิดสตอร์มเซิร์จสูงถึง 6 เมตร ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นที่ผู้คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบอาจไม่สามารถรอดชีวิตได้
วันที่ 29 กันยายน 2024 พายุส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 100 ปี ของรัฐนอร์ธแคโรไลนา ในเมืองแอตแลนตา วัดปริมาณน้ำฝนได้ 28.24 ซม. ในเวลา 48 ชม. ถนนกว่า 400 สาย ต้องปิดไม่ให้ประชาชนสัญจร
วันที่ 30 กันยายน 2024 ซีเอ็นเอ็น รายงานสถานการณ์ของพายุเฮลีนยังคงรุนแรง โดยมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 95 รายใน 6 รัฐ โดยรัฐนอร์ธแคโรไลนาได้รับผลกระทบหนักที่สุด นอกจากนี้ยังมีความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ ถนนและสะพาน ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อกิจการบรรเทาทุกข์ และซ่อมแซมโครงข่ายไฟฟ้า
นักวิทยาศาสตร์จากลอเรนซ์ เบิร์กเลย์ เนชั่นแนล แลบอราทอรี (Lawrence Berkeley National Laboratory) วิเคราะห์ข้อมูลและพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยส่วนสำคัญในการทำให้ฝนตกมากขึ้นกว่า 50% ในบางพื้นที่ของรัฐจอร์เจีย, รัฐเซาท์แคโรไลนา และรัฐนอร์ธแคโรไลนา ช่วงที่พายุเฮอริเคน "เฮลีน" พัดปกคลุม นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณฝนตกในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เท่า เนื่องจากปัญหาโลกร้อน
ผลการวิเคราะห์ของไคลมาเมเตอร์ (ClimaMeter) เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศของยุโรป เผยว่า มหาสมุทรและบรรยากาศที่อุ่นขึ้นทำให้ผลกระทบจากพายุรุนแรงขึ้น พายุเฮอร์ริเคน "เฮลีน" ส่งผลให้ฝนตกมากขึ้นเกือบ 20% ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ และมีกระแสลมในอ่าวเม็กซิโกรุนแรงขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
สรุปได้ว่า พายุเฮอริเคน "เฮลีน" ถือเป็นภัยพิบัติที่สร้างความสูญเสียทั้งในด้านทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์ รวมถึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง โดยถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 55 ปี
ทางสำนักงานพยากรณ์อากาศกลาง (CWA) ของไต้หวัน รายงานว่า พายุไต้ฝุ่นกระท้อน มีความรุนแรงระดับ 1 ด้วยความเร็วลมต่อเนื่องสูงสุด 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลมกระโชกแรงสูงสุด 162 กม./ชม. พัดขึ้นฝั่งบริเวณเขตเสี่ยวกัง เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน เมื่อเวลา 12.40 น. ของวันพฤหัสบดี ที่ 3 ตุลาคม 2024
พายุไต้ฝุ่นกระท้อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้ไต้หวันอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ส่งผลให้ในบางพื้นที่ของเมืองเกาสงมีปริมาณฝนสะสมสูงถึง 152 ซม. ในเวลา 5 วัน สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเมืองที่มีประชากร 2.7 ล้านคน ทำให้โรงเรียนและสถานประกอบการต้องปิดทำการต่อเนื่อง 3 วัน และทางการได้ออกคำเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนัก อาจเกิดลมแรง รวมถึงปรากฏการณ์สตอร์มเซิร์จ และน้ำทะเลหนุนสูง
สำนักงานพยากรณ์อากาศกลาง ออกคำเตือน ภัยจากทางบกครอบคลุมพื้นที่ในเมืองเถาหยวน เขตหนานโถว, อี้หลาน, ฮัวเหลียน, ไถตง และเกาะเผิงหู นอกจากนี้ยังออกคำเตือนลมแรงครอบคลุมเมืองเกาสง และเชตผิงตง
มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย ผู้สูญหาย 2 ราย และผู้บาดเจ็บกว่า 123 ราย บ้าน 170,000 หลัง ไฟฟ้าดับ และกว่า 51,000 หลัง ในเขตผิงตง และเมืองเกาสง ไม่มีไฟฟ้าใช้ การคมนาคมทั้งทางอากาศและทางบกต้องหยุดชะงัก เที่ยวบิน-บริการขนส่ง กว่า 211 เที่ยวถูกยกเลิก
ทางรัฐบาลไต้หวันได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวจำนวน 115 แห่ง เพื่อรองรับผู้ประสบภัยเกือบ 1,900 คน ขณะที่ทางสำนักงานพยากรณ์อากาศกลาง คาดว่า พายุไต้ฝุ่นกระท้อนจะยังคงเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ไปยังพื้นที่ราบลุ่มทางภาคตะวันตกของประเทศและจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันก่อนที่จะเคลื่อนตัวถึงกรุงไทเปในลำดับถัดไป
ที่ประเทศญี่ปุ่น ขึ้นชื่อว่าเผชิญภัยพิบัติบ่อยครั้ง แต่สามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างชาญฉลาด ด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า 300,000 ล้านเยน สร้างอุโมงค์ยักษ์ “คัสสึคาเบะ” ใต้มหานครโตเกียว โครงสร้างภายในมีเสาขนาดใหญ่ 59 ต้น แต่ละต้นหนัก 500 ตัน สูง 18 เมตร โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2535 แล้วเสร็จในปี 2543 แม้ใช้งบประมาณมหาศาล แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ระบุว่า ฤดูร้อนในปี 2567 ทำสถิติร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในปี 2441 ซึ่งการเกิดพายุรุนแรงกระทันหันในกรุงโตเกียว หรือที่เรียกว่า "ฝนตกหนักแบบกองโจร" เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น 1.1 เท่าเช่นกัน ขณะที่กรุงโตเกียวมีรูปร่างเหมือนชาม ความลาดชันมีน้อย ทำให้ง่ายต่อการกักเก็บน้ำ พอเกิดฝนตกหนัก ระดับน้ำจึงลดลงช้า เกิดน้ำขังและสร้างความเสียหาย
ภายในอุโมงค์ มีโครงสร้างเหมือนมหาวิหาร ท่ออุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร และมีความยาวถึง 6.3 กิโลเมตร เชื่อมไปยังถังพักน้ำ โดยมีเครื่องระบายน้ำถึง 78 ตัว สามารถระบายน้ำสู่แม่น้ำเอโดะได้ 200 ตันต่อวินาที ภายใต้การควบคุมผ่านเจ้าหน้าที่ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบริเวณชายฝั่ง
ปี 2562 เกิด ซูเปอร์ไต้ฝุ่น "ฮากีบิส" แต่กลับสร้างความเสียหายน้อยกว่าครั้งที่เกิดซูเปอร์ไต้ฝุ่น "ไอดา" อย่างมาก เพราะอุโมงค์ใต้ดินนี้มีปริมาตรเพียงพอที่จะบรรจุน้ำ ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ระดับน้ำได้ทั่วถึง
อุโมงค์แห่งนี้ยังเปิดให้ประชาชนได้เข้าชม เพื่อหาความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงาน แบบที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย และก็มีวิศวกรจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาดูงานที่อุโมงค์แห่งนี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน
ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ มักก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยความรุนแรงและผลกระทบจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือด้านความปลอดภัย รวมถึงศึกษาบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อพัฒนาศักยภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต