svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

"ฟุตบอลทีมชาติไทย" กับการก้าวข้าม (ไม่พ้น) อาเซียน

หากปี 2565 เป็นปีที่วอลเลย์บอลหญิงไทยสร้างความสุข ในทางกลับกัน "ฟุตบอลทีมชาติไทย" ก็สร้างความผิดหวังให้แฟนๆอย่างต่อเนื่อง จากเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ว่า "ก้าวข้ามอาเซียน" มาถึงวันนี้ ฟุตบอลไทยยังก้าวไม่พ้น และยังไม่รู้ว่าจะก้าวพ้นเมื่อไหร่

วันที่ 1 มกราคม 2565 แฟนบอลชาวไทยได้มีความสุขกับการเห็นทัพ "ช้างศึก" ผงาดคว้าแชมป์ฟุตบอล เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ นับเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวัง ว่าฟุตบอลทีมชาติไทย จะก้าวข้ามระดับอาเซียนสู่ระดับเอเชียอย่างที่ตั้งใจมาตลอด

แต่ 11 เดือนนับจากวันนั้น กลายเป็นช่วงเวลาที่ทีมชาติไทยต้องพบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากที่ต้องการ "ก้าวข้ามอาเซียน" กลายเป็นว่าปีนี้ทีมชาติไทยทุกชุดทุกระดับ ทั้งชายและหญิง ก้าวข้ามไม่พ้นอาเซียนเสียที เนื่องจากพลาดแชมป์ไปหมดทุกรายการ

โดยไฮไลท์สำคัญของปีนี้สำหรับทีมชาติไทยก็คือ การแข่งขันฟุตบอลในกีฬาซีเกมส์ และศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ ที่กลับมาจัดอีกครั้ง ผลปรากฏว่าในซีเกมส์ ทีมชาติไทยทำได้แค่รองแชมป์ทั้งชายและหญิง ด้วยการแพ้ เวียดนาม 0-1 ในนัดชิงเหมือนกันทั้งคู่

\"ฟุตบอลทีมชาติไทย\" กับการก้าวข้าม (ไม่พ้น) อาเซียน ส่วนศึกคิงส์คัพที่เชียงใหม่ พลพรรค "ช้างศึก" ก็ต้องอกหักซ้ำสอง เมื่อพลาดท่าพ่าย มาเลเซีย ในการดวลจุดโทษ 3-5 (ในเวลาเสมอ 1-1) ก่อนจะมาเฉือนชนะ ตรินิแดดฯ 2-1 คว้าอันดับ 3 เป็นการปลอบใจ

ไม่เพียงเท่านั้น สถิติในการเจอกับทีมคู่รักคู่แค้นอย่างเวียดนามยังกลายเป็นสถิติสุดเลวร้าย เพราะในปีนี้ ทีมชาติไทยทุกชุดไม่สามารถเอาชนะแข้ง "ดาวทอง" ได้เลยแม้แต่นัดเดียว แบ่งเป็น 9 นัด ชนะ 0 เสมอ 4 แพ้ 5 ดังนี้

  • U23 ชิงแชมป์อาเซียน รอบแบ่งกลุ่ม : เวียดนาม 1-0 ไทย
  • U23 ชิงแชมป์อาเซียน รอบชิงชนะเลิศ : เวียดนาม 1-0 ไทย
  • ซีเกมส์ รอบชิงชนะเลิศ : เวียดนาม 1-0 ไทย
  • U23 ชิงแชมป์เอเชีย รอบแบ่งกลุ่ม : เวียดนาม 2-2 ไทย
  • U19 ชิงแชมป์อาเซียน รอบแบ่งกลุ่ม : เวียดนาม 1-1 ไทย
  • U19 ชิงแชมป์อาเซียน รอบชิงอันดับ 3 : เวียดนาม 5-3 ไทย (ดวลจุดโทษ) หลังเสมอในเวลา 1-1
  • U19 ฟุตบอลสี่เส้า ทันเนียน คัพ รอบรองชนะเลิศ : เวียดนาม 1-0 ไทย
  • U16 ชิงแชมป์อาเซียน รอบรองชนะเลิศ : เวียดนาม 2-0 ไทย
  • U17 ชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก : ไทย 0-3 เวียดนาม

\"ฟุตบอลทีมชาติไทย\" กับการก้าวข้าม (ไม่พ้น) อาเซียน

ซึ่งจากผลงานดังกล่าว ส่งผลให้บรรดาแฟนฟุตบอลชาวไทย เริ่มที่จะทนไม่ไหวกับการบริหารของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ชุดนี้ โดยออกมาแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม ถึงผลงานล้มเหลวแทบทุกชุดที่ตกต่ำอย่างน่าใจหาย อีกทั้งดูเหมือนผู้บริหารสมาคมฯจะไม่ค่อยมีใครสนใจใยดี และไม่มีใครกล้าออกมาให้สัมภาษณ์ หรือแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด

มุมมองสาเหตุความล้มเหลว
ความตกต่ำของทีมฟุตบอลทีมชาติไทยนั้น หลายคนมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าเป็นเพราะปฏิทินการแข่งขันที่ทับซ้อนกันหลายรายการ บ้างก็ว่าเป็นเพราะคู่แข่งพัฒนาขึ้น บ้างก็ว่าเป็นเพราะการสร้างนักกีฬาเยาวชนของไทยยังไม่ดีพอ และอีกหลากหลายเหตุผล

มาโน่ โพลกิ้ง กุนซือทีมชาติไทยชุดใหญ่ มองความล้มเหลวของทีมเยาวชนทุกชุดในปีนี้ว่า “ผมเองมองว่าสาเหตุเกิดมาจากนักเตะไม่มีลีกเยาวชนให้ลงแข่งขัน ทำให้ขาดการพัฒนาและความต่อเนื่อง พอจะไปแข่งขันรายการใดก็เรียกมาเก็บตัว 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ช่วยพัฒนา” 

อย่างไรก็ตาม เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กลับมองว่า จะไปโทษสมาคมฟุตบอลฯอย่างเดียวไม่ได้ ผลงานล้มเหลวคนแรกที่ต้องรับผิดชอบคือโค้ช

"คุณเป็นเชฟ แต่หากปรุงอาหารแล้วสุนัขไม่รับประทาน ไม่ใช่ความผิดของผัก หมู ไก่ หรือซีฟู้ดเลย" บิ๊กบอส ปราสาทสายฟ้า กล่าว “ผมมองว่าหน้าที่ของสมาคมไหนในโลกก็แล้วแต่ เขามีหน้าที่จัดการแข่งขัน และสนับสนุนในเรื่องการเตรียมความพร้อมของทีมชาติไทย ส่วนสุนัขจะรับประทานได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับเชฟที่มาปรุง”

\"ฟุตบอลทีมชาติไทย\" กับการก้าวข้าม (ไม่พ้น) อาเซียน

ขณะที่ "โค้ชเฮง" วิทยา เลาหกุล อดีตประธานพัฒนาเทคนิค สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มองว่าสาเหตุความล้มเหลวเกิดจากความ "ไม่ชัดเจน" ในการสร้างแบบฉบับฟุตบอลของไทย เทียบกับญี่ปุ่นที่มีแผนแม่บทที่เด็กญี่ปุ่นต้องใช้ฝึกตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงทีมชาติ เป็นแบบเดียวกัน เป็นมาตรฐานสากล ตรงข้ามกับไทยที่แต่ก่อนพยายามสร้าง "ไทยแลนด์เวย์" แต่ตอนนี้ไม่มีใครสนใจ นักฟุตบอลเล่นตามใจที่ตัวเองอยากเล่น ทีมชาติไทยเปลี่ยนระบบไปตามโค้ชที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จึงสู้ใครไม่ได้ ถ้าไทยไม่เริ่มสร้างตั้งแต่วันนี้ จะไม่มีทางสู้ใครได้เลยในอนาคต

"โค้ชเฮง" ยังบอกอีกว่า ฟุตบอลไทยชอบมองที่ผลการแข่งขัน หรือชัยชนะ มากกว่าการพัฒนาระยะยาว โค้ชต่างชาติฝีมือดีอย่าง อากิระ นิชิโนะ หรือ มาโกโตะ เทกุระโมริ ถึงอยู่ทำงานที่นี่ได้ไม่นาน ขณะที่เหล่าสโมสรในไทยก็เน้นทำแต่ทีมชุดใหญ่โดยไม่สร้างเยาวชน เหมือนบ้านที่เริ่มปูหลังคาก่อนโดยไม่สนใจฐานราก อย่างไรก็ไม่มีวันมั่นคง
\"ฟุตบอลทีมชาติไทย\" กับการก้าวข้าม (ไม่พ้น) อาเซียน
ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไรบ้าง แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องจับมือกันเพื่อพา "ช้างศึก" ฝ่าวิกฤตให้ได้ เพราะในปี 2566 ทีมชาติไทยทุกชุดมีโปรแกรมรออยู่อีกเพียบ โดยเฉพาะระดับเอเชีย และหากยังล้มเหลวอีก ก็มีโอกาสสูงที่เราจะต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ กับตัวโค้ชใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งผู้บริหารสมาคมฯชุดใหม่ก็เป็นได้