“พญานาค” หรือ “นาค” ในตำนานของคนไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับความเชื่อของชาวพุทธมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นในบริบทของพุทธศาสนา พิธีกรรมพื้นบ้าน หรือแม้แต่ในความเชื่อเรื่องพลังลี้ลับที่มองว่าพญานาคเป็นผู้พิทักษ์แหล่งน้ำ และเป็นสื่อกลางระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณ
จังหวัดพะเยา เมืองเล็ก ๆ ที่โอบล้อมด้วยภูเขาและทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชื่อว่า “กว๊านพะเยา” ก็มีตำนานและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพญานาคอย่างแน่นแฟ้น ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ ตำนานท้องถิ่น พิธีกรรม และศิลปะวัฒนธรรม
หนึ่งในตำนานพื้นบ้านที่แพร่หลายในพะเยาคือตำนาน “นาคขุนน้ำ” ที่เชื่อว่าพญานาคมีส่วนสำคัญในการสร้างและดูแลกว๊านพะเยา แหล่งน้ำสำคัญที่เลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่มาหลายร้อยปี ตามความเชื่อ พญานาคเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำ เป็นผู้รักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนน้ำ และยังเชื่อว่าบางช่วงเวลาของปี พญานาคจะขึ้นมาจากใต้น้ำเพื่อดูแลโลกมนุษย์
ดร.อัษฎากรณ์ ฉัตรานันท์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เล่าถึงตำนานพญานาคในพื้นที่แห่งนี้ว่า
“โบราณสถานพระธาตุจอมทอง จ.พะเยา มีตำนานที่เล่าเรื่องพญานาคไว้โดยตรง โดยเล่ากันมาว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับบนยอดดอยที่นี่ เมื่อนายช่างทองได้นำอาหารถวายพระพุทธเจ้าเสร็จเรียบร้อย พระพุทธเจ้าก็ได้ให้พระอานนท์ลงลงไปขอน้ำจากพญานาคด้านล่าง (ปัจจุบันคือกว๊านพะเยา)”
“พระอานนท์ก็ถือฝาบาตรลงไปที่หนองน้ำ พญานาคที่รักษาหนองน้ำชื่อว่า 'ธุมะสิกขีนาคราช' ไม่ยอม และได้พ่นควันบังหนองน้ำไปจนมิด พระอานนท์จึงต้องกลับไปทูลพระพุทธเจ้าว่า พญานาคไม่อนุญาต พระพุทธเจ้าจึงเสด็จลงไปเอง เมื่อไปถึงพญานาคก็ยังไม่ยอม พ่นควันบังหนองน้ำไปอีกครั้ง พระพุทธเจ้าจึงแสดงอภินิหารขยายร่างให้ใหญ่แล้วก็เหยียบพญานาคให้จมหนองน้ำไป พญานาคจึงยอมให้พระพุทธเจ้าตักน้ำขึ้นมา”
“พระพุทธเจ้าได้ทำนายว่า ที่นี่ในอนาคตจะมีตายายมาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ให้พญานาค ให้เอาทองคำไปให้ตากับยายสร้าง เวลาล่วงเลยมา พญานาคก็ได้จำแลงแปลงกายเอาทองคำมาให้ตากับยายสร้างพระพุทธรูปองค์นั้น ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่เหมือนกับครั้งที่พุทธเจ้าจำแลงกาย (32 ศอก) ก็คือ พระเจ้าตนหลวง องค์ปัจจุบันนั่นเอง”
เรื่องเล่านี้สะท้อนความผูกพันทางจิตวิญญาณของคนพะเยาที่มีต่อกว๊านแห่งนี้ และย้ำเตือนว่าผืนน้ำแห่งนี้ไม่ใช่แค่แหล่งทำมาหากิน หากแต่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ควรเคารพนับถือ
ในหลายวัดของจังหวัดพะเยา โดยเฉพาะวัดรอบ ๆ กว๊านพะเยา เช่น วัดติโลกอาราม หรือ วัดศรีโคมคำ มักมีรูปปั้นพญานาคประดับอยู่บริเวณบันไดนาค หรือแม้แต่ในองค์พระธาตุ ซึ่งเป็นการแสดงถึงพญานาคในฐานะผู้พิทักษ์พระธรรม
“ชาวบ้านในดินแดนล้านนานี้เรานับถือพญานาคอยู่แล้ว จะเห็นว่ามีศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพญานาคเยอะแยะไปหมด ด้วยความเชื่อว่าพญานาคมาเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนดูแลพุทธศาสนา โดยเฉพาะ พระเจ้าตนหลวง สร้างด้วยการที่พญานาคทองคำมาให้ตากับยายเป็นผู้สร้าง” ดร.อัษฎากรณ์ ระบุ
รูปปั้นพญานาคในศิลปะพะเยา มักมีลักษณะยาวโค้งเป็นลอน คล้ายงูใหญ่ มีเกล็ดละเอียดลออ และแสดงอารมณ์ขึงขัง น่าเกรงขาม อาจมีทั้งพญานาคหนึ่งเศียร หรือเจ็ดเศียร ซึ่งแต่ละแบบมีความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น นาคเจ็ดเศียร เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องพระพุทธเจ้าขณะตรัสรู้
หนึ่งในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพญานาคอย่างใกล้ชิดคือ พิธีบวงสรวงพญานาค ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำบริเวณริมกว๊านพะเยา โดยเฉพาะในวันพระใหญ่ หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ที่เชื่อว่าเป็นวันเปิดประตูเมืองบาดาล ชาวบ้านจะร่วมกันจัดพิธีบูชาด้วยเครื่องเซ่นไหว้ เช่น หมาก พลู ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน พร้อมกล่าวคำขอขมาและอธิษฐานขอพรจากพญานาค
นอกจากนั้น ยังมีประเพณี ลอยเรือบูชานาค ซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีกรรมพื้นบ้านที่น่าสนใจ ผู้คนจะนำเรือไม้จำลองลำเล็ก ๆ ที่บรรจุเครื่องสักการะ ลอยลงในกว๊านพะเยา เพื่อเป็นการส่งสารไปยังพญานาค และขอให้ช่วยดูแลปกปักรักษาผืนแผ่นดินและครอบครัวให้สงบสุข
รวมถึงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือวันสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านจะร่วมกันจัดขบวนแห่พญานาคจำลอง นำไปแห่รอบเมืองหรือเวียนรอบวัด ถือเป็นการแสดงความเคารพต่อพญานาค และขอพรให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าบริบูรณ์
“พระธาตุจอมทอง ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้มอบพระเกศาให้กับช่างทอง แล้วบอกว่าที่นี่จะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนาในอนาคต หากตถาคตนิพพานไปแล้วก็ให้ขุดถ้ำลึกลงไป 70 วา แล้วเอาพระเกศาธาตุกับพระธาตุกระดูกแขนซ้ายมาฝังไว้ที่นี่ และสั่งให้พญาอินทร์จุดประทีปบูชาไว้ตลอด 5,000 ปี คนที่มาพระธาตุแห่งนี้ก็จะจุดไฟจุดประทีปบูชาพระธาตุเหมือนกับครั้งในตำนาน ตามความเชื่อ” ดร.อัษฎากรณ์ กล่าว
ด้วยกระแสความนิยมเกี่ยวกับ “พญานาค” ที่เพิ่มขึ้นจากสื่อออนไลน์ ทำให้ผู้คนจากต่างถิ่นเริ่มสนใจมาเยือนพะเยาเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมและตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งนี้ทำให้ชุมชนต้องปรับตัวและสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว
โครงการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น งานแสดงนิทรรศการพญานาค หรือการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว “ตามรอยพญานาค” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ ความศรัทธา และความภาคภูมิใจของชาวพะเยาสู่คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยว
“หากมาเที่ยว จ.พะเยา ถ้าจะเอาสะดวกที่สุดก็อาจจะมาที่ วัดศรีโคมคำพระอารามหลวง ก่อนนะครับ เพราะเป็นวัดสำคัญประจำจังหวัด มาไหว้ขอพรพระเจ้าตนหลวง เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ขึ้นมาสักการะพระธาตุจอมทอง ตอนเย็นอากาศดีแล้วก็ล่องเรือไปไหว้พระที่วัดติโลกอาราม มาเมืองพะเยาครึ่งวันได้ครบเลย” ดร.อัษฎากรณ์ กล่าวปิดท้าย
ความเชื่อเรื่อง “พญานาค” ในจังหวัดพะเยาไม่ได้เป็นเพียงแค่ตำนานที่เล่าขานกันมาหลายชั่วอายุคนเท่านั้น หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ความศรัทธา และวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในทุกอณูของชุมชน
พญานาคไม่ได้เป็นเพียงงูใหญ่ลึกลับในความเชื่อทางพุทธศาสนา แต่เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ความเมตตา การปกปักรักษา และพลังแห่งธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์
ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรื่องเล่าแบบนี้อาจดูเหมือนไม่มีที่ยืนในโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ในพื้นที่เล็ก ๆ อย่างพะเยา พญานาคยังคงดำรงอยู่ในใจของผู้คน ในบทสวด บนลวดลายศิลปะ ในเสียงกระซิบริมกว๊าน และในฝันของคนที่ยังศรัทธา
วัดติโลกอาราม กว๊านพะเยา (วัดกลางน้ำ)