7 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังหลายจังหวัดดึงเอาอัตลักษณ์ของตัวเอง มาทำกางเกง จนเป็นกระแสฮิต แบบกางเกงช้างที่กลายเป็นตัวแทนประเทศไทย ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ที่ อ.กันตัง จ.ตรัง มีหนุ่มเจ้าของร้านคอมพิวเตอร์ ได้ออกแบบและสั่งตัดกางเกง "พะยูนตรัง" เพื่อเป็นต้นแบบและเป็นสินค้าตัวอย่าง ให้คนตรังและนักท่องเที่ยวได้ซื้อเพื่อเป็นสินค้าสำหรับสวมใส่ เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นตรัง และเป็นของฝากอีกอย่างหนึ่งในอนาคต
โดยกางเกงพะยูนตรังผลิตจากผ้าไหมอิตาลีสีดำ พิมพ์ลายพะยูนสีขาว 3 ช่วงวัย ได้แก่ พะยูนวัยเด็ก พะยูนวัยรุ่น และพะยูนวัยผู้ใหญ่ แหวกว่ายอยู่ในท้องทะเลตรัง รายล้อมด้วยปลาเล็กปลาน้อย ปะการัง และหญ้าทะเล และมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ คำว่า "TRANG" อยู่บนกางเกง ซึ่งมีความสวยงามน่าสวมใส่ เพราะเป็นผ้าที่มีความพริ้วไหว และระบายอากาศได้ดี
นายสุทธิวัฒน์ อายุ 42 ปี เจ้าของไอเดียลายกางเกงพะยูนตรัง บอกว่า เขาเห็นหลายๆจังหวัดมีกางเกงที่มีสัญลักษณ์ของจังหวัดตัวเองออกมาขาย เช่น กางเกงช้าง กางเกงแมวโคราช กางเกงไดโนเสาร์ขอนแก่น ซึ่งจังหวัดตรังบ้านเขามีพะยูนฝูงใหญ่อาศัยอยู่ นึกถึงพะยูนก็ต้องนึกถึงตรัง จึงได้นำพะยูนเป็นลายบนกางเกงเพื่อสื่อความเป็นตรัง และรัฐบาลก็ส่งเสริมเรื่องซอฟต์พาวเวอร์
"หลังจากที่ผมปล่อยภาพตัวอย่างกางเกงพะยูนตรังลงในเพจและเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็มีประชาชนสอบถามและสั่งจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้มีร้านของฝากในจังหวัดตรังติดต่อขอรับไปขายแล้วเช่นกัน" สุทธิวัฒน์ บอกกับผู้สื่อข่าว
นายสุทธิวัฒน์ บอกด้วยว่า ส่วนราคาขาย เขาขายกางเกงพะยูนตรัง ตัวละ 180 บาท ค้าส่งตัวละ 40 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก เพราะอยากให้ทุกคนได้ซื้อสวมใส่กัน ซึ่งกางเกงพะยูนออกแบบเอง และสั่งให้โรงงานในกรุงเทพผลิตให้ สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก "ณ กันตัง by 99com"
รู้จัก "พะยูน" หรือ "เจ้าหมูน้ำ"
จากข้อมูลในเว็บไซต์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า พะยูน เป็นสัตว์สงวนแห่งท้องทะเล มีรายละเอียดดังนี้
พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล เชื่อว่าพะยูนเคยอาศัยหากินอยู่บนบก โดยมีบรรพบุรุษที่ใกล้เคียงกับบรรพบุรุษของช้าง เมื่อประมาณ 55 ล้านปีมาแล้ว สายพันธุ์ของพะยูนได้มีวิวัฒนาการลงไปอยู่ในน้ำ และไม่กลับขึ้นมาอยู่บนบกอีกเลย เช่นเดียวกับพวกโลมาและปลาวาฬ
ตัวบ่งชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของ "หญ้าทะเล"
ขณะที่ในเว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุถึงความสำคัญของเจ้าหมูน้ำ ว่า พะยูนกินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะ "หญ้าทะเล" ชนิดต่างๆ ตามแนวชายฝั่ง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลหนาแน่น และกว้างใหญ่เพียงพอ จึงถือได้ว่าพะยูนเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี
อีกทั้ง หญ้าทะเล ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เป็นทั้งออกซิเจน แหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย ที่วางไข่และหลบซ่อนศัตรู ช่วยลดมลพิษในทะเล ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่งได้ดี ในบริเวณที่มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่ จึงจัดเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลไทยอีกด้วย
ของเสียกลายเป็นปุ๋ยที่มีคุณค่า
การที่พะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร จึงปล่อยของเสียออกมาเป็นปุ๋ยที่มีคุณค่า เป็นอาหารแก่สัตว์น้ำขนาดเล็ก และปลาขนาดใหญ่ สอดคล้องกับ นักวิจัยจาก James Cook University ในออสเตรเลีย ที่พบว่า เมล็ดหญ้าทะเลที่ผ่านระบบย่อยอาหารของสัตว์อย่าง พะยูนและเต่าทะเล งอกเร็วกว่าและมีอัตราการงอกที่สูงกว่าเมล็ดที่หลุดมาจากต้น
เปิดความเชื่อที่สร้างกันมา เกี่ยวกับพะยูน
ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังระบุถึงความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับพะยูน เช่น กระดูกพะยูน สามารถนำไปทำยาโด๊ป และรักษาโรคมะเร็ง ส่วนเขี้ยวพะยูน นำไปเป็นเครื่องรางของขลัง ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็น ความเชื่อแบบผิดๆ ทำให้พะยูนยังเป็นที่ต้องการของตลาดมืด
สิ่งที่จะช่วยแก้ไขได้ คือ การเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่เป็นจริงว่า กระดูกหรือเขี้ยวพะยูน ไม่สามารถนำไปรักษาโรคหรือของขลังแต่อย่างไรเลย เป็นเพียงความเชื่อที่สร้างขึ้นมา
รู้ไว้เผื่อได้ใช้ วิธีช่วยสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม หากพบเกยตื้น คุณช่วยได้ ดังนี้
ทั้งนี้ ทาง ทช. ได้แนะนำการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะประเภทที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้ง โลมา วาฬ และพะยูน หากพบติดอวน เบ็ด หรือเกยตื้นจากการหลงทิศ หรือป่วย ถ้ายังสมบูรณ์แข็งแรงดีให้รีบปล่อยคืนสู่ทะเลตามวิธีการที่ถูกต้อง
หากต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้ง ทช. หรือเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเพื่อประสานหน่วยงานมาที่กรม ทช. ในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ทำความรู้จัก "พะยูน" >> คลิกที่นี่
วิธีช่วยเหลือชีวิตสัตว์ทะเลเกยตื้น >> คลิกที่นี่
อ้างอิงจาก :
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ศูนย์ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทางทะเล
คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
https://www.komchadluek.net/quality-life/environment/558229
https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000078954
เพจ Boontohhgraphy
https://www.abc.net.au/.../seagrass-grows.../100419004
https://www.nationtv.tv/news/foreign/378838311
วิกิพีเดีย