20 เมษายน 2568 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิด "มหกรรมแข่งขันประชันเสียงนกปรอดหัวโขนนานาชาติ" และงานจำหน่ายสินค้าระดับจังหวัดใน 5 จังหวัด โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ, พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมในพิธี
บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้เข้าแข่งขัน ตลอดจนประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบ และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เข้าร่วมรับชมและลุ้นผลการแข่งขันจำนวนมาก งานจัดขึ้นที่เวทีกลางศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวว่า นกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก เป็นสัตว์เลี้ยงที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมเลี้ยงเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) พบว่า มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ตลอดห่วงโซ่ของธุรกิจการเลี้ยงนก
ทั้งหมดสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ประชาชนกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนั้น ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เมื่อปี 2566 ปรากฏว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 เห็นชอบให้ขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ผ่านสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ "นกปรอดหัวโขน" เพื่อให้เกิดวงจรการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน บนพื้นฐานที่ไม่ทำให้นกปรอดหัวโขนตามธรรมชาติมีจำนวนลดลง
ในการนี้ได้มอบหมายให้ ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับนักวิชาการด้านชีววิทยา และกลุ่มเลี้ยงนกและเพาะพันธุ์นกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างใกล้ชิด
หลังจากมติ กพต. ได้มีการดำเนินส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับวงจรการเลี้ยงนก ทั้งการทำกรงนก ผ้าคลุม อาหารนก และฝึกอบรมทักษะการเพาะเลี้ยงนก สามารถจัดตั้งกลุ่มอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และได้นำครัวเรือนยากจนเข้ามาทำงานให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ครัวเรือน
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนและอนุรักษ์ การปล่อยนกคืนสู่ป่ามากกว่า 1,000 ตัวต่อปี
สำหรับการจัด "มหกรรมแข่งขันประชันเสียงนกปรอดหัวโขนนานาชาติ" จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 - 20 เม.ย.2568 เป็นกิจกรรมปลายน้ำ มีการแข่งขันนก 5 ประเภท โดยมีนกจากประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เข้าร่วมกว่า 3,000 ตัว พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การอนุรักษ์ นิทรรศการวงจรการเลี้ยงนก และการจำหน่ายสินค้าในชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การจัดการแข่งขันครั้งนี้ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นการขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนจากการเลี้ยงนกปรอดหัวโขน รวมไปถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้นำอาหารมาจัดจำหน่ายภายในงานด้วย
รัฐบาลเองจะต้องหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะส่งเสริมให้กลุ่มผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงนกได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย และได้มีการพัฒนาขยายสายพันธุ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์
"ผมรู้สึกดีใจมากที่ประเทศไทยของเราเป็นประเทศแรกที่ได้ผสมพันธุ์นกปรอดหัวโขน ด้วยฝีมือของคนในพื้นที่เอง สามารถกำหนดลวดลายสีต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปจะทำกันได้ เป็นความสามารถพิเศษของคนไทย
รวมไปถึงกรงนกที่เป็นงานฝีมือ เป็นงานศิลปะ เป็นคุณค่าทางจิตใจของคนที่มีความรักความชอบในการเลี้ยงนก สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ดังนั้นอยากให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ว่า รัฐบาลพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ผ่านสัตว์เศรษฐกิจที่มีอยู่ในพื้นที่" นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุ
หลังกล่าวเปิดงาน นายวันมูหะมัดนอร์ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี ได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการโครงการขับเคลื่อนยกระดับนกปรอดหัวโขนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของ ศอ.บต. ด้วย