โครงการนี้ ถือเป็น “โมเดลต้นแบบของการพัฒนา” ที่มาจากกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแทัจริง เพราะใช้เวลากว่า 3 ปีในการศึกษา ระดมความคิด และวางแผนร่วมกับภาคีเครือข่าย โดย “มูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา” ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ ผสมผสานการเรียนรู้ การพัฒนา และการตลาดเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืน
องค์ประกอบภายในโครงการ มีทั้ง ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อความยั่งยืน, ตลาดชุมชนแห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าคุณภาพจากเกษตรกรในพื้นที่, โรงงานแปรรูปผลไม้เคลื่อนที่มาตรฐานสากล, พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและถ่ายทอดความรู้ , ร้านอาหารที่นำเสนอวัตถุดิบและอัตลักษณ์ท้องถิ่น, ร้านสะดวกซื้อต้นแบบที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน รวมถึงการจัดต้ง “วิสาหกิจเพื่อสังคม โอกาสดี” ขึ้นมาบริหารจัดการโครงการ
นี่คือต้นแบบของการพัฒนาแบบยั่งยืนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ตามเทรนด์กระแสโลกอย่างชัดเจนและน่าสนใจที่สุด ซึ่งเกิดจากแนวคิดของชุมชน ทำโดยชุมชน และมีเป้าหมายเพื่อชุมชนยั่งยืนอย่างแท้จริง
งานนี้มี ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ประธานมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา เป็นแม่งาน
อำเภอคลองเขื่อน แวะไปเยือนไม่ยาก เพราะอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ใกล้ๆ กรุงเทพฯเรานี่เอง เดินทางสะดวก อากาศดี แถมมีอาหารอร่อยๆ และสวนผลไม้ โดยเฉพาะมะม่วงพันธุ์ดีไว้รอให้ชิม
วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ถ้ายังไม่มีโปรแกรมไปไหน เชิญไปเที่ยวกันได้ที่ “โอกาสดี @คลองเขื่อน”
ติดตามรายละเอียดคลิกที่นี่ >>>
ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ณ อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา มีสวนมะม่วงที่มีเอกลักษณ์พิเศษสืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เรียกว่า "มะม่วงสามน้ำ" อันเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้ค้นพบและถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ความพิเศษของมะม่วงสามน้ำ อยู่ที่ระบบนิเวศที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำสามรูปแบบตามฤดูกาล ในช่วงฤดูฝนจะได้รับน้ำจืดจากต้นน้ำ เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งน้ำทะเลจะหนุนสูงนำความเค็มมาถึง และในช่วงรอยต่อของฤดู น้ำจืดและน้ำเค็มจะผสมกันกลายเป็นน้ำกร่อย วัฏจักรนี้หมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง หล่อเลี้ยงผืนดินให้อุดมด้วยแร่ธาตุ
ชาวสวนที่นี่ได้พัฒนาระบบ "ร่องสวน" ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยขุดร่องน้ำกว้างประมาณ 4 เมตร สลับกับคันดินที่ยกสูง ปลูกมะม่วงบนคันดิน ใช้ร่องน้ำเป็นทั้งแหล่งน้ำและเส้นทางขนส่ง พร้อมทั้งพัฒนาระบบประตูน้ำเพื่อควบคุมการไหลเข้าออกของน้ำตามจังหวะน้ำขึ้นน้ำลง
มะม่วงที่ปลูกในระบบสามน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดอกไม้ อกร่อง จะมีรสชาติหวานฉ่ำเป็นพิเศษ ด้วยค่าความหวานที่สูงถึง 18-20 Brix มากกว่ามะม่วงทั่วไป เชื่อว่าเกิดจากการที่ต้นมะม่วงต้องปรับตัวกับสภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลง ทำให้สร้างน้ำตาลมากขึ้น ผสานกับแร่ธาตุจากตะกอนน้ำจืดและน้ำทะเลที่ทับถมกันมายาวนาน
มะม่วงสามน้ำจึงไม่ใช่เพียงผลไม้ธรรมดา แต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่รู้จักใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศอันซับซ้อนมาสร้างสรรค์ผลผลิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สมควรแก่การอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ต่อไป
โครงการนี้จะเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับชุมชนคลองเขื่อน และหวังว่าจะสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง
ดำเนินการโดยความร่วมมือของ:
• สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
• มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
• โครงการ FACTory Classroom คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
• บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด