ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ของการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. องค์กรนำด้านยางพาราระดับโลก ในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบที่ยึดมั่นยกระดับภาคอุตสาหกรรมยางพาราให้เป็น "ศูนย์กลางการผลิตการค้า นวัตกรรมยาง ผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" โดยการพัฒนาอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การสร้างรากฐานอาชีพให้เกษตรกรสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชร่วม/พืชแซม/เลี้ยงสัตว์ สร้างความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่น พร้อมเดินหน้าสานต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจ่ายเงินส่วนต่างราคายางไปแล้วกว่า 38,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางกับโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง อีกทั้ง ยังจัดสวัสดิการให้ชาวสวนยางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการทำประกันอุบัติเหตุกลุ่ม ที่ให้เงินสินไหมทดแทนไปแล้วกว่า 1,800 ล้านบาท และยังดำเนินงานส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ตลอดจนแก้ไขปัญหาสิทธิด้านที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์ระยะยาว
นอกจากนี้ กยท.ยังเปิดโอกาสให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยางได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ ตลอดจนให้เงินอุดหนุนแบบให้เปล่า รวมกว่า 960 ล้านบาท ควบคู่กับการผลักดันศักยภาพของเกษตรกรด้วยโครงการ Smart Farmer ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานมาตรการ R3I ของ กยท. คือ Reduce Cost Increase Yield Increase Value และ Increase Income พร้อมยกระดับฐานรากด้วย BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสวนยางพารา ผลักดันสินค้าและบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทางด้วยโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ด้านการพัฒนาองค์กร กยท.มุ่งพัฒนาสู่องค์กรดิจิตอล ภายใต้แนวคิด "ขับเคลื่อนยางพาราเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้กับการดำเนินงานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมคิดค้นวิจัยนวัตกรรมยางพาราเชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืนตามความต้องการของผู้ใช้ยางหลักของโลก และอีกหนึ่งแนวทางการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ “Traceability มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทย" ซึ่ง กยท.ได้สร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับจากฐานข้อมูลที่ กยท.มีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรแบบรายบุคคล การบันทึกข้อมูลแปลงสวนยางผ่านระบบ GISRUBBER ที่สามารถค้นหาตำแหน่งสวนยาง บริหารจัดการพื้นที่ปลูก และตรวจสอบความเหมาะสมของ
พื้นที่ปลูกได้ หรือระบบข้อมูลสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เชื่อมโยงกับระบบขึ้นทะเบียนของ กยท. สามารถตรวจสอบได้ว่าผลผลิตของสมาชิกอยู่ในพื้นที่ที่ทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมหรือไม่ และระบบตลาดกลางยางพารา กยท. ทั้ง 8 แห่ง ที่มีกระบวนการซื้อขายยางพาราทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ชัดเจนหากผ่านระบบ กยท. เป็นการสร้างความเชื่อมั่น สร้างโอกาสขยายตลาดตอบรับเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสหภาพยุโรป หรือ EU ที่เป็นกลุ่มคู่ค้ายางพาราสำคัญทั้งหมดนี้ คือ ความมุ่งมั่นของการยางแห่งประเทศไทยที่จะพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยการคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยางพาราทั่วประเทศ จับมือกันเดินสู่เป้าหมายอย่างยั่งยืน