เรื่องที่ดิน 2 ผืน เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของแต่ละฝ่าย กล่าวคือ “ที่ดินอัลไพน์” อยู่ในมือพรรคภูมิใจไทย เพราะกระบวนการสำคัญอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยที่ “เสี่ยหนู อนุทิน” และ พลพรรคภูมิใจไทย คุมอยู่เกือบทั้งกระทรวง
ส่วน “ที่ดินเขากระโดง” อยู่ในมือพรรคเพื่อไทย เพราะผู้ที่จะชี้ขาดว่า “ตระกูลการเมืองบุรีรัมย์” จะอยู่ใน “ที่รถไฟ” ต่อไปได้อย่างสุขสบายหรือไม่ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.
สาเหตุเพราะหาก รฟท.เลือกฟ้องขับไล่ โดยยื่นฟ้องศาลยุติธรรม เหมือนกับที่ดำเนินการกับที่ดินแปลงอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมถึงบางแปลงในเขากระโดงด้วย ศาลก็จะใช้คำพิพากษาศาลฎีกามายืนยันว่า ที่ดินทั้ง 5,083 ไร่ บริเวณเขากระโดง เป็น “ที่รถไฟ” ตามที่เคยพิพากษาชัดเจนไปแล้ว
และที่ดินของตระกูลการเมืองที่ปลูกบ้าน ปลูกคฤหาสน์ ตั้งอาณาจักร บริษัท ห้างร้านกันอยู่นั้น ไม่ได้อยู่บริเวณชายขอบของเขากระโดง จนต้องมานั่งพิสูจน์สิทธิ์ ตรวจเช็คแผนที่กันใหม่ แต่ที่ดินอยู่ใจกลางแทบจะไข่แดงของบริเวณเขากระโดงที่ศาลพิพากษาชัดแล้วว่าเป็น “ที่รถไฟ”
ฉะนั้นหากการรถไฟฯ นำคดีไปยื่นฟ้องศาลยุติธรรมเพื่อขับไล่ ไม่ใช่ไปฟ้องศาลปกครองให้สั่งกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ทุกอย่างก็จะจบลงเหมือนที่ดินของ “นายเอ” ซึ่งกลายเป็นคดีตัวอย่าง “จุดจบของที่ดินเขากระโดง” คือโดนฟ้องขับไล่ และชำระหนี้ให้การรถไฟฯด้วย (น่าจะรวมถึงค่าขนย้าย)
เหตุนี้เอง เมื่อคดีถึงที่สุด พลิ้วต่อไม่ได้อีก และการรถไฟฯคือฝ่ายชนะ แนวทางต่อไปที่จะเกิดขึ้น ก็คือ “อัลไพน์โมเดล”
โดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทยผู้รับมอบอำนาจ ลงนามอนุมัติให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ หรือหนังสือการทำประโยชน์ทั้งหมด เพราะถือว่าออกโดยไม่ชอบ เมื่อถึงเวลานั้นก็จะมีการหยิบยก “อัลไพน์โมเดล” ขึ้นมา นั่นก็คือ อ้างว่าผู้ครอบครองที่ดินอยู่ในบริเวณเขากระโดง ได้ที่ดินมาโดยสุจริต จึงถือเป็นผู้เสียหายจากการออกเอกสารสิทธิ์ หรือหนังสือแสดงการทำประโยชน์ที่ออกโดยรัฐ จึงต้องมีการจ่ายค่าชดเชยเหมือนที่ดินอัลไพน์
ปลายทางของ “เขากระโดง” ก็จะกลายเป็นว่า ไม่ว่าบทสรุปจะจบลงที่การฟ้องเพิกถอนรายแปลงหรือไม่ แต่ท้ายสุดการรถไฟฯก็จะเปิดให้เช่าที่ดินในราคาถูก เพื่อเยียวยา และรัฐโดยกรมที่ดิน ก็ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายให้ด้วย
เพราะแม้จะยอมให้เช่าในราคาถูก แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นอยู่ดีกับ “ผู้ซื้อโดยสุจริต” เนื่องจากสถานะเดิมคือ “เจ้าของกรรมสิทธิ์” แต่วันดีคืนดีกลายเป็น “ผู้เช่า” แถมยังต้องจ่าย “ค่าเช่า” ต่อไปอีก โดยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ฉะนั้นโอกาสที่จะได้ทั้งเงินชดเชย และสัญญาเช่า ย่อมมีสูงมาก ยกเว้นใช้วิธีการตรากฎหมายเป็น “พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์...” แต่วิธีนี้ต้องผ่านสภา และโดยปกติต้องมีเงื่อนไขนำที่ดินแปลงอื่นไปเปลี่ยนกับที่ธรณีสงฆ์ที่ต้องการจะโอนนั้น หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องมีคำอธิบายที่ดีพอ
ดูจากข้อเท็จจริง ณ เวลานี้ หากเลือกแนวทางตรากฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่กฎหมายจะผ่านทั้งสองสภา เนื่องจาก...
กรณีที่ดินอัลไพน์ วัดรับเงินไปแล้ว กระบวนการโอนที่วัดไปขายให้เอกชนโดยผ่านตัวกลาง มีข้อสงสัยเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย และความไม่โปร่งใสในการดำเนินการ สังคมจะยอมปล่อยผ่านหรือไม่
ส่วนที่ดินเขากระโดง ตระกูลการเมืองที่ครอบครองอยู่ ก็จะอยู่ในข่ายได้รับประโยชน์ทั้งสองทางด้วย...ใช่หรือไม่ แต่ประเด็นที่น่าสนใจ และสังคมไม่ควรหลงประเด็นก็คือ...
ที่ดินเขากระโดง กับ ที่ดินอัลไพน์ เป็นโมเดลเดียวกันได้จริงหรือเปล่า?
หนึ่ง ถ้าเป็นโมเดลเดียวกันได้ เหตุใดกรมที่ดินจึงไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์และหนังสือแสดงสิทธิ์ต่างๆ ในที่ดินบริเวณเขากระโดงเหมือนอัลไพน์ โดยยึดตามคำพิพากษาของศาล หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีกำกับอยู่แล้วทั้งที่ดินอัลไพน์ และที่ดินเขากระโดง
เพราะที่ดินอัลไพน์ซึ่งบทสรุปสุดท้ายยังมีสถานะเป็น “ที่ธรณีสงฆ์” นั้น ก็มาจากคำพิพากษาของศาลที่ชี้ว่าการอนุมัติให้ขายที่ธรณีสงฆ์ ของวัดธรรมิการามฯ เป็นการอนุมัติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ธรณีสงฆ์ไม่สามารถซื้อขายได้ และยังมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกากำกับอีกชั้นหนึ่ง ส่วน “ที่ดินเขากระโดง” ศาลฎีกาและศาลปกครองก็ชี้ชัดแล้วเช่นกันว่า เป็น “ที่รถไฟ” แต่กรมที่ดินกลับไม่เพิกถอน
สอง ผู้ครอบครองที่ดินอัลไพน์ โดยเฉพาะกลุ่มลูกบ้านจัดสรร ซื้อบ้านและสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริต ไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ หรือมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายมาก่อน แต่ที่ดินเขากระโดง มีบันทึกของ “บุคคลในตระกูลการเมือง” เอง ยอมรับว่าที่ดินที่ตนครอบครองอยู่นั้นเป็น “ที่รถไฟ”
สาม กระบวนการได้มาซึ่งที่ดินทั้งสองผืน จนที่ดินไปตกอยู่ในมือของเอกชน ล้วนเป็นกระบวนการที่ “มิชอบ” โดยเฉพาะที่ดินอัลไพน์ การที่รัฐต้องจ่ายชดเชย คือการ “เสียค่าโง่” ให้ใครบางคนหรือไม่
และหากไปจ่ายชดเชยให้ที่ดินเขากระโดง ซึ่งผู้ครอบครองบางส่วนก็รู้อยู่แล้วว่าเป็น “ที่รถไฟ” โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังครอบครองต่อมาหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว คำถามคือ เป็นการ “เสียค่าโง่” ด้วยหรือไม่ และการจ่ายชดเชย เป็นการจ่ายโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า เพราะต้องไม่ลืมว่า สถานะของที่ดินเขากระโดงเป็น “ที่รถไฟ” นั้น แม้แต่หน่วยงานรัฐที่เข้าไปสร้างสาธารณประโยชน์ ก็ยังต้องขออนุญาต หรือจ่ายค่าธรรมเนียมให้การรถไฟฯ เช่น การเข้าไปตัดถนน เป็นต้น
นี่คือความลักลั่น และคำถามที่จะเกิดตามมาแน่ ทั้งที่ดินเขากระโดง และอัลไพน์ บนข้อตกลงและผลประโยชน์ร่วมของเพื่อไทยและภูมิใจไทย...ใช่หรือไม่