ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
บทความนี้จะทดลองนำเสนอ “ภาพอนาคต” ของปัญหาบางประการของประเทศไทย อาจจะเป็นภาพบางด้านอย่างสังเขป เพื่อให้เห็นแนวโน้มของปัญหาภายในของไทยใน 4 ส่วน ดังนี้
1) การเข้าสู่ปีที่ 3 ของรัฐบาลผสมนั้น ย่อมทำให้มีการคาดเดาถึงอนาคตทางการเมืองในทิศทางต่างๆ กัน และปัญหาอนาคตของรัฐบาลนั้น เป็นประเด็นที่ชวนให้คิดเสมอ เพราะปีที่ 3 ย่อมมีนัยถึงการแข่งขันทางการเมืองที่มากขึ้นภายในตัวรัฐบาลผสมเอง
2) การแข่งขันของพรรคร่วมรัฐบาลในปีที่ 3 จะมีความเข้มข้นในตัวเอง เพราะปีที่ 4 จะเป็นช่วงสุดท้ายของการเป็นรัฐบาลก่อนที่การเลือกตั้งครั้งใหม่จะมา
3) ปัญหาแรงเสียดทานทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเรื่องปกติของความเป็นรัฐบาลผสม การควบคุมแรงเสียดทานไม่ให้ขยายตัวเป็นความขัดแย้ง
จึงเป็นประเด็นที่ “ผู้มีอำนาจจริง” ในแต่ละพรรคในปี2568 จะต้องควบคุมปัญหาดังกล่าวให้ได้ การคุยหลังฉากอาจเป็นสิ่งที่เราจะเห็นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในสนามกอล์ฟ หรือที่ไหนก็แล้วแต่
4) แม้จะคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดอะไรในอีก 12 เดือนข้างหน้า แต่หากการเมืองของรัฐบาลผสมยังเคลื่อนไปในทิศทางเช่นที่ปรากฏในปีที่ผ่านมา แรงเสียดทานระหว่างพรรคจะยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ น่าจะยังไม่ถึงจุดแตกหักในปี 2568 แม้จะมีการตอกลิ่มจากบางฝ่ายในเวทีการเมืองอย่างไรก็ตาม
5) ไม่ว่าจะมีปัญหาแรงเสียดทานอย่างไร ทั้งพรรคการเมืองและตัว สส. เองในปัจจุบัน ยังไม่อยู่ในสภาวะที่ต้องการการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งใหม่จะมีค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจอย่างมาก
อย่างน้อย ทุกพรรคและสส. (ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน) และผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แทบทุกคน ยังมี “ความสุขมาก” กับตำแหน่งทางการเมืองของตน (รวมถึงค่าตอบแทนที่พวกเขาได้รับทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ)
6) ข่าวลือเรื่องรัฐประหาร ยังคงเป็น “ข่าวปล่อย” ที่ความเป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน อยู่ใน “ระดับต่ำมาก” ซึ่งผู้นำกองทัพในปัจจุบัน ไม่มีใครอยากมี “ชนัก” ทางการเมืองติดตัวไปชั่วชีวิต
และด้วยพลวัตการเมืองไทยปัจจุบัน อำนาจรัฐที่ได้มาด้วยการรัฐประหารจะเป็น “ทุกขลาภใหญ่” ของผู้นำทหาร และบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และทั้งจะนำความผันผวนทางการเมืองให้เกิดแก่สังคมไทย (ตัวอย่างชัดเจนจากปัญหาเมียนมาร์เป็นข้อเตือนใจในเรื่องนี้)
7) การจัดม๊อบด้วยทฤษฎี “มวลชนคือทัพหน้า” ของการรัฐประหาร เช่นในแบบปี 2549 และ 2557 จะเกิดได้ต่อเมื่อ "กลุ่มทุนใหญ่" ตัดสินใจยืนตรงข้ามรัฐบาล และทำหน้าที่เป็น “ขุนคลัง” ผู้ยอม “จ่ายเต็มที่”ให้แก่การยึดอำนาจของผู้นำทหาร
ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถึงจุดดังกล่าว แม้จะมีตัวละครที่เป็น “ทุนเล็ก” บางคนอยากจ่ายและยังฝันที่จะล้มรัฐบาลด้วยมวลชนแบบเดิม แต่รัฐบาลต้องไม่ประมาท ที่จะเดินไปในทางที่ถูกขีดไว้
8) พรรคฝ่ายค้านจะใช้แนวทาง “3 ต” คือ “ตรวจสอบ-ตอบโต้-ตอกลิ่ม” เป็นทิศทางการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภา เพราะการเดินแนวทางนี้คือ การเก็บคะแนนทางการเมือง และสร้างภาพการทำงานของฝ่ายค้านแต่ยังไม่ใช่ปัจจัยในการเปลี่ยนรัฐบาล (ธรรมชาติของรัฐบาลมักถูกล้มจากพรรคร่วม ไม่ใช่จากฝ่ายค้าน)
9) ปี 2568 จะเป็นปีของความท้าทายในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบที่ดำเนินการโดย “กลุ่มแบ่งแยกดินแดน BRN” เพราะการพูดคุยที่สำคัญไม่ใช่ระหว่าง "รัฐบาลไทยกับ BRN" แต่เป็นเรื่องระหว่าง “ไทยกับมาเลเซีย” ที่จะต้องคุยกันจริงจังมากขึ้น และทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 มากขึ้น
10) กลุ่ม BRN ในปี 2568 จะยังคงใช้การก่อเหตุร้ายเป็นเครื่องมือหลักในการกดดันรัฐบาลไทย และคาดหวังที่ใช้แนวทาง “ฆ่าไป-คุยไป/คุยไป-ฆ่าไป” พร้อมกับอาศัยการยอมรับข้อตกลง “JCPP” ของรัฐบาลไทยเป็นหนทางในการแสวงประโยชน์
ดังนั้น รัฐบาลไทยในปี 2568 จะต้องตอบตัวเองให้ได้ถึงทิศทางในเรื่องนี้ไม่ใช่การคิดในแบบ “ลัทธิยอมจำนน” ที่ปล่อยให้เกิดเวทีแบบที่ไปทำกันในยุโรป เพื่อลากประเทศไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ และเชื่อแบบไร้เดียงสาทางยุทธศาสตร์ว่า “เรายอมโจรแล้ว โจรจะยอมเราเอง”
11) การขยายงานแนวร่วม ที่ดำเนินการคู่ขนานกับการทำสงครามการเมือง จะเป็นทิศทางหลักของกลุ่ม BRN ในปี 2568 เพราะปีที่ผ่านมา ผู้ก่อความไม่สงบเชื่อว่า พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นและข้อเรียกร้องของกลุ่มเข้าสู่เวทีการเมืองไทย ผ่านแนวร่วมต่างๆ
ฉะนั้น รัฐบาลในปี 2568 จะต้องคิดรับมือกับ “สงครามการเมือง-สงครามแนวร่วม” ของ BRN อย่างจริงจัง โดยเฉพาะแนวร่วมจากภายนอก (ทั้งจากยุโรปและเอเชียบางชาติ) ที่อาศัยความเสรีของประเทศไทย เข้ามาดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย และไม่มีมาตรการจากรัฐบาลในเรื่องนี้แต่อย่างใด
12) การกำหนด “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” (ที่ไม่ใช่การเดินตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”) ยังคงเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้เสมอ ปี 2568
ยังเป็นคำถามเดิมว่า รัฐบาลกรุงเทพฯ พร้อมจะกำหนดยุทธศาสตร์นี้หรือยัง เพราะสถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เคยรอความพร้อมรัฐบาลไทย
13) ปัญหาค่าครองชีพและสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สะท้อนชัดจาก “หนี้ครัวเรือน” ของไทยที่อยู่ในอัตราที่สูงมาก ดังนั้น หาก “สงครามการค้า” ในเวทีมีผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยแล้วอาจก่อให้เกิด “วิกฤตค่าครองชีพ” ในสังคมไทยได้ ซึ่งรัฐบาลอาจต้องเตรียมรับกับสภาวะเช่นนี้ด้วย
14) ปัญหาสำคัญทางสังคมไทยที่ต้องกังวลในปี 2568 คือ สภาวะความเปลี่ยนแปลงของอากาศ (Climate Change) ที่เราเริ่มเห็นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า น้ำท่วมใหญ่ ความแห้งแล้ง โดยเฉพาะปัญหา“ฝุ่นพิษ” หรือ PM 2.5 ที่อยู่ในสังคมไทยด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นในแต่ละปี
อันเป็นปัญหา “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข” ที่สำคัญของประเทศที่เราอาจจะไม่รู้สึกเท่ากับการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลอาจต้องออกมาตรการที่ชัดเจนในการต่อสู้กับปัญหาฝุ่นและความผันผวนของอากาศให้ได้
15) ปัญหายาเสพติดยังคงเป็นโจทย์ของ “ปัญหาความมั่นคงทางสังคม” ที่ไทยต้องเผชิญ และปัญหานี้ยังมีแนวโน้มที่ขยายตัวมากขึ้น การต่อสู้กับ “สงครามยาเสพติด” เป็นความท้าทายของทุกรัฐบาลเสมอ
16) ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ การพนันออนไลน์ หรือโดยภาพรวมคือ “อาชญากรรมออนไลน์” โดยเฉพาะกรณีของการหลอก “ดูดเงินจากบัญชี” ซึ่งในส่วนนี้ มีกลุ่ม “จีนเทา” ดำเนินการ โดยอาศัยพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนไทยเป็นฐาน ปัญหานี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงไทยอย่างมาก รัฐบาลไทยในปี 2568 จะกำหนดมาตรการในการต่อสู้กับปัญหาโลกออนไลน์เช่นนี้อย่างไร
ทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามที่จะทดลองนำเสนอ “ภาพจำลอง” ของประเด็นและปัญหาสำคัญใน 4 ด้าน ที่รัฐบาลไทยในปี 2568 ต้องเผชิญ แน่นอนว่า หลายปัญหาไม่ใช่เรื่องใหม่ และหลายปัญหาเก่าเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น
ปัญหาทั้งหลายในปัจจุบัน จึงเป็น “สัมภาระกองใหญ่” หน้าทำเนียบ ที่ท้าทายนายกฯ แพรทองธาร และรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง … ไม่ว่าปีนี้จะเป็น “งูใหญ่” หรือ “งูเล็ก” แต่ปัญหาที่นำเสนอนี้ใหญ่แน่นอน จนไม่แน่ใจว่า ปี 2568- “งูจะรัดนายกฯ” หรือ “งูจะกัดนายกฯ”