svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ชิงลาออกเลือก "นายกอบจ." ใครว่าได้เปรียบ บทเรียน"ล้มช้าง"เมืองหมอแคน

แนวคิดการลาออกก่อนครบวาระ เพื่อลงเลือกตั้ง"นายกอบจ." ด้วยความมั่นใจว่า กุมความได้เปรียบทุกประตู สามารถกลับมาครองเก้าอี้ได้อีกครั้ง ดูเหมือนจะไม่แน่เสมอไป เหมือนบทเรียน กรณี "วัฒนา ชางเหลา" ล้มแชมป์เก่า"เมืองหมอแคน" ติดตามได้จาก "กระบี่เดียวดาย"

นักวิเคราะห์ทางการเมือง เคยกล่าวไว้ "กรณี นายกอบจ.ที่ลาออกก่อนครบวาระ เพื่อลงเลือกตั้งใหม่ ก่อนถึงการเลือกตั้งพร้อมๆกันทั่วประเทศในราวเดือน กุมภาพันธ์ 2568 นั้น ย่อมกุมความได้เปรียบ ทั้งชื่อชั้นฐานเสียง หรือแม้แต่พรรคคู่แข่ง ตั้งตัวไม่ทัน"

แต่ดูเหมือนว่า ทฤษฎีความเชื่อแบบนี้ หรือจะเรียกให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็น "บิ๊กแจ๊สโมเดล" อะไรทำนองนั้น อาจใช้ไม่ได้เสมอไป เรื่องจากมีเหตุปัจจัยแทรกซ้อนเหนือการควบคุม แถมการวางกลยุทธ์ช่วงชิงคะแนนอย่างแยบยลตามยุคสมัย

จริงอยู่ "อดีตนายก อบจ."ที่ลาออกแล้วลงเลือกตั้งใหม่ สามารถกลับมาได้ก็มีไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จ แต่ในจำนวนเหล่านั้นล้วนมีเงื่อนไข มีสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังปรากฎในการเลือกตั้งนายกอบจ.ก่อนครบวาระ ทั้ง 16 จังหวัดที่ผ่านมา

ชิงลาออกเลือก \"นายกอบจ.\" ใครว่าได้เปรียบ บทเรียน\"ล้มช้าง\"เมืองหมอแคน

1.คนเก่าลาออก แต่หนุนคนใหม่

อย่าง"นายกอบจ.เลย" ซึ่งเป็นจังหวัดแรก ๆ จาก กรณี "ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ"คนเก่าลาออกกลางคัน แต่ไม่ลงสมัคร หากแต่ตระกูลทิมสุวรรณให้การสนับสนุน "ชัยธวัช เนียมศิริ" อดีตผู้ว่าฯเลยลงแข่งขัน และประสบความสำเร็จ หรือกรณี"พะเยา"ที่ อดีตนายกอบจ. "อัครา พรหมเผ่า"ลาออก ปัจจุบันเป็นรมช.เกษตรฯ แต่หนุนคนในเครือข่าย อย่าง"ธวัช สุทธาวงศ์"ลงแข่งก็ประสบความสำเร็จ 


2. ผู้สมัครรายเดียว ไร้คู่แข่ง

-อ่างทอง เป็นผลพวงจากอดีตนายกอบจ.อ่างทอง "สุรเชษ นิ่มกุล" หรือ"นายกตี๋" ขอลาออก แต่ปรากฎว่า มีผู้สมัครเพียงรายเดียวซึ่งก็คืออดีตนายกอบจ. นั่นเองและเจ้าตัวก็กลับเข้ามาได้ คล้ายๆกับ ชุมพร "นพพร อุสิทธิ์" หรือ"นายกโต้ง" หรือกรณี อุทัยธานี "เผด็จ นุ้ยปรี"  ที่มีผู้สมัครรายเดียวแต่คนเหล่านี้ เรียกว่าเป็นบ้านใหญ่ที่มีนักการเมืองระดับชาติหนุน ซึ่งยากมากที่จะหาคู่แข่งลงประลองกำลัง

3.แชมป์เก่าบ้านใหญ่สั่งสมบารมี

ในขณะที่หลายจังหวัด อาทิ พระนครศรีอยุธยา "ซ้อสมทรง พันธุ์เจริญวรกุล" ค่ายสีน้ำเงิน หรือ "ราชบุรี" กำนันตุ้ย วิวัฒน์นิติกาญจนา "พิษณุโลก" อย่าง มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ รักษาเก้าอี้ไว้ได้ เช่นเดียวกับ"ยโสธร" วิเชียร สมวงษ์ จากค่ายเพื่อไทย คนเหล่านี้ก็ล้วนมาจากบ้านใหญ่สั่งสมบารมี

หรือ กรณี "ปทุมธานี" ที่เป็นที่มาของคำว่า "บิ๊กแจ๊สโมเดล" พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ซึ่งเจ้าตัวลาออกด้วยหวังจะกลับมาได้ หาก อดีตนายกฯ "ชาญ พวงเพ็ชร" ไม่โดนคดีกล่าวหาทุจริตเสียก่อนอาจไม่มีการเลือกตั้งรอบสอง และ"บิ๊กแจ๊ส" ก็คงไม่ได้กลับมาได้ในการเลือกรอบสอง

"เสี่ยกวง"  พงษ์ศักดิ์ ตั้่งวานิชกพงษ์ อดีตนายก อบจ.ขอนแก่น 6 สมัย ไม่สามารถสร้างสถิติ เป็นนายก อบจ.ขอนแก่น ด้วยการพ่ายแพ้ ให้นักการเมืองหนุ่ม วัฒนา ช่างเหลา

4.ล้มช้างด้วยกลยุทธ์ลับลวงพราง

ก่อนหน้านี้ มีกรณีจังหวัด"ระนอง" ผู้ใหญ่แบงก์ "สีหนาท สรรพกุล" คนสนิทสส.ภูมิใจไทย เอาชนะแชมป์เก่า "ธนกร บริสุทธิญาณี" อดีตนายกอบจ.ระนองมาได้ แต่อาจไม่ใช่ล้มช้างตัวใหญ่เหมือน กรณีล่าสุด ขอนแก่น ที่ "เสี่ยกวง" พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานจิชกพงษ์ อดีตนายก อบจ. 6 สมัยถูกโค่นแชมป์ด้วยน้ำมือ "วัฒนา ช่างเหลา" 

"กรณี ล้มช้างเมืองหมอแคน เป็นอะไรที่ชวนให้ขบคิด  อย่าลืมว่า วัฒนา ช่างเหลา สลัดสีเสื้อจากภูมิใจไทยเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย เพียงวันเดียวก่อนสมัครรับเลือกตั้ง  ในขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยพยายามบอกสังคม ว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งเข้าแข่งขัน  ทั้งที่ช่วงการหาเสียง วัฒนา สวมเสื้อแดงหาบ่งบอกในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองกลายๆ  แม้แต่หลังชัยชนะ ยังมีสส.เพื่อไทย ที่สนิทสนมวัฒนา มาร่วมแสดงความยินดี ตรงนี้ จะอธิบายเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร" 

"วัฒนา ช่างเหลา" ประสบชัยชนะเลือกตั้งนายกอบจ.ขอนแก่น ตลอดการหาเสียง มวลชนเสื้อแดงแห่สนับสนุน ฟังปราศรัย

กลยุทธ์ หาเสียงเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย ต่อการสร้างความสับสนในหมู่แฟนคลับ เพื่อไทย และมวลชนเสื้อแดง อย่าลืมว่า "จังหวัดขอนแก่น" มีพื้นที่ขนาดใหญ่มีเขตการปกครองถึง 26 อำเภอ ในอดีตถือเป็นจังหวัด"สีแดงเข้ม"  ในการระดมมวลชนเคลื่อนไหวทางการเมือง แถมเป็นพื้นที่มีสส.เพื่อไทยถึง 8 ที่นั่ง จาก 11 ที่นั่ง  แต่ทว่าก่อนเลือกนายกอบจ. 6 สส.เพื่อไทย นำโดย "อดิศร เพียงเกษ" ออกมาประกาศสนับสนุน"เสี่ยกวง" ซะงั้น

ในขณะที่แชมป์เก่าอย่าง "เสี่ยกวง" คาดหวังว่า ตนเองมีฐานเสียงการเมืองท้องถิ่นสั่งสมมาตลอด 6 สมัย อีกทั้ง ในช่วงหาเสียง ยังมีรมต.ค่ายสีน้ำเงินมาช่วยหาเสียง ซึ่งมองกันว่า"ครูใหญ่สีน้ำเงิน"คอยหนุนหลัง จึงทำให้นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า เสี่ยกวงมีแต้มต่อเหนือ"วัฒนา" 

แต่เหตุปัจจัยของความต้องการอยากเปลี่ยนแปลงในขอนแก่น กอปรกับต้องการคนรุ่นใหม่ และที่สำคัญ มีการทุ่มหมดหน้าตัก ผ่านกลยุทธ์แดงชนแดงลับลวงพรางแล้ว จึงทำให้ "วัฒนา" โค่นบัลลังก์แชมป์ "นายกอบจ.ขอนแก่น"สำเร็จ 

ดังนั้น การลาออกนายกอบจ.ในหลายจังหวัด โดยคาดหวังว่า ลงเลือกตั้งใหม่ ด้วยความคาดหวังจะหวนคืนสู่ตำแหน่งอาจไม่แน่เสมอไป 

การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่อน อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

ครั้นจะหาวิธี "คิดใหม่ทำใหม่"เป็นไปได้ในการเข้าวิน  หรือคนที่ "คิดผิด ชีวิตเปลี่ยน" ก็มีให้เห็นแล้ว 

ฉะนั้น คิดจะเลือกกลวิธีใดลงสนามแข่งขัน ต้องพร้อมรับความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น