18 เมษายน 2568 ที่หอประชุมกองทัพเรือ "พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์" ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยชี้แจงกรณี นายสมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ หรือ พีช ผู้ขับรถ BMW คู่กรณีรถกระบะ ที่อ้างว่ารู้จักโดยใช้คำเรียกขาน "อาต่าย"
โดย พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ หัวเราะ พร้อมย้ำว่า ทุกคนสามารถเรียกตนว่า "อาต่าย"ได้ ตนได้ดูคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และได้เน้นย้ำไปทางตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ในเรื่องการดำเนินคดี และอยากให้แยกมิติของการรู้จัก กับความเป็นญาติ ซึ่งในความเป็นตำรวจ ก่อนที่ตนจะได้เป็น ผบ.ตร. รู้จักคนมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น สส. ตนเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว
"คุณพ่อ (นายกฤษฎา หลีนวรัตน์ หรือ นายกเบี้ยว อดีตนายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี) ของผู้ก่อเหตุ ผมก็รู้จัก ยอมรับว่า มีคนอยากถ่ายรูปกับผม ซึ่งผมก็ถ่ายด้วย ยิ่งเมื่อผมก้าวขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. มีคนอยากเป็นลูกเป็นหลานผมเยอะ และทุกคนก็เรียกผมว่า อาต่าย ซึ่งผม ได้ย้ำกับตำรวจทุกคนว่า เราทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ขอให้ทำตัวเหมือนญาติ ใครจะเรียกเราน้า หรืออาเป็นเรื่องที่ดี ผมไม่ชอบให้ใครมาเรียกว่าท่าน ดังนั้นความใกล้ชิดหรือรู้จักกันเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่เด็กคนนี้กระทำเราแยกออกไป และยืนยันว่า ผมไม่มีญาติแบบนี้ ผมตระกูลพันธุ์เพ็ชร์ และเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางพ่อหรือแม่ของผม"
ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องขาดวุฒิภาวะและจิตสำนึก ขาดความเอื้ออาทรบนท้องถนน ขาดความรับผิดชอบต่อผู้อื่น อยากให้มองว่าหากรถกระบะมีเด็กอยู่ด้วย จะเป็นอย่างไร การขับรถต้องมีสติ และเมื่อเกิดเหตุ ไปอ้าง หรือเรียก นั่นคือนิสัย การโอ้อวดให้พ้นผิด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งโอ้อวด ยิ่งทำเช่นนี้ ยิ่งโดน ตนได้กำชับไปยังกรมทางหลวง ในเรื่องของการจราจร ต้องดำเนินการในคดีอุบัติเหตุ ส่วนคดีอาญา เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษ สภ.ลำลูกกา ซึ่งตนได้เน้นย้ำ ไปทางคู่บัญชาการภาค 1 ให้ทำคดีตรงไปตรงมา ไม่มีการช่วยเด็ดขาด ให้ผู้กระทำผิดได้รับบทเรียน และโทษทัณฑ์ ที่เป็นกฎเกณฑ์ของสังคม ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพื่อให้เกิดสำนึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำ ต้องปรับปรุงอย่างไร ส่วนใครจะไปลงเล่นการเมืองอย่างไรตนไม่รู้ แต่ใครจะไปลงคะแนนเลือกก็จงมีวิจารณญาณ ว่าควรจะเลือกหรือไม่
เมื่อถามว่า การที่ผู้ก่อเหตุพยายามโอ้อวด ว่ารู้จักคนใหญ่คนโต หวังต้องการให้คู่กรณีเกิดความยำเกรงหรือไม่ "พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ" กล่าวว่า เป็นเรื่องของนิสัยคน ตัวตนคน บางคนอาจจะไปกระทบกระทั่ง แต่เราต้องแยกแยะให้ดี ตนไม่ได้เข้าข้างใคร พ่อเขาจะเป็นอย่างไร ก็แยกแยะไป ลูกชายอีกคนเป็น สส. ก็แยกแยะ ส่วนตัวเด็กที่ก่อเหตุจะด้วยอุปนิสัย เราต้องแยก หากทำผิด ต้องได้รับโทษทัณฑ์
"การไปโอ้อวดแอบอ้าง หวังให้คู่กรณีหรือ เจ้าหน้าที่รัฐเกรงใจ ได้รู้ว่าผมรู้จักคนใหญ่คนโต แต่อย่าลืมว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว และมั่นใจว่าตำรวจยุคใหม่ ไม่ได้สนใจ ว่าคุณจะรู้จัก ผบ.ตร. รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่ไปงานบวชของคุณ คำว่าหลานอาต่าย ผมฟังแล้วไม่ลื่นหูเท่าไหร่ แค่รู้สึกว่าทำไมทำเช่นนี้ ยืนยันผมมีลูกคนเดียว ย้ำเสมอ ว่าอย่าทำตัวเป็นขยะสังคม"
ส่วนข้อกังวลว่าจะมีการวิ่งเต้นเรื่องคดีนั้น ตนย้ำไปแล้ว ให้ทำตรงไปตรงมา ไม่มีการช่วย พบใครช่วยเหลือ ตนก็จะเล่นตำรวจด้วย ใครจะปลูกฝังไม่ดีกันมาอย่างไร ไม่ใช่เรื่องของตน เพราะตนไม่ใช่ญาติ คงไม่จำเป็นต้องไปสั่งสอนใคร ก็รับผิดชอบกันเองตามกฎหมาย
สำหรับเรื่องคดีนั้น ปัจจุบันดำเนินคดีในเรื่องการจราจร ส่วนคดีอาญา รอให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีอื่น ส่วนจะเป็นฐานความผิดพยายามฆ่าหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนถึงพฤติการณ์ขับรถ อาการบาดเจ็บของผู้เสียหาย ก็ต้องนำมาพิจารณา เป็นเหตุและองค์ประกอบในฐานความผิดใด ทั้งนี้อยากวิงวอนสังคม ไม่อยากให้วิพากษ์วิจารณ์ หรือเอาตนไปเกี่ยวข้อง
โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา คดีที่เกี่ยวข้องกับการจราจรก่อน ซึ่งตนได้กำชับว่าให้รีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด เข้าใจว่าสังคมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดถึงล่าช้า ส่วนเรืองคดีอาญา ก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เดินทางไปพบผู้เสียหาย ไม่ใช่รอให้เขามา