svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

คลอด"คุมขังนอกเรือนจำ" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

"ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ ประกาศ"กรมราชทัณฑ์" กำหนดคุณสมบัติ "คุมขังนอกเรือนจำ" มีผลบังคับใช้ ต้อนรับ "เทศกาลสงกรานต์" คลิกอ่านฉบับเต็ม

10 เมษายน 2568  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ ปรากฎว่า  " ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่  ประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังผู้ต้องขังในสถานที่คุมขัง ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566  พ.ศ. 2568  หรือ "ขังนอกเรือนจำ"  ลงนามโดย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์  อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ประกาศเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568  

สำหรับสาระสำคัญ ประกาศกรมราชทัณฑ์ กำหนดคุณสมบัติ "ขังนอกเรือนจำ" ระบุไว้ดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2563 อาศัยอำนาจตามความในข้อ 20 แห่งระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 จึงออกประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 สถานที่คุมขัง

(1) กรณีการปฏิบัติตามระบบการจำแนกลักษณะและการแยกคุมขัง ได้แก่

(ก) สถานที่อยู่อาศัย

(ข) สถานที่สำหรับควบคุม กักขัง หรือกักตัวตามกฎหมายของทางราชการที่มิใช่เรือนจำ ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับอยู่อาศัยเท่านั้น ในกรณีผู้ต้องขังจะต้องไปฝึกวิชาชีพ ทำงาน หรืออบรมตามหลักสูตรที่กำหนด ต้องประกาศสถานที่ฝึกวิชาชีพ ทำงาน ศึกษาหรืออบรมตามหลักสูตรที่กำหนด ให้เป็นสถานที่คุมขังกรณีการดำเนินการตามระบบพัฒนาพฤตินิสัยเพิ่มเติมด้วย

(2) กรณีการดำเนินการตามระบบพัฒนาพฤตินิสัย ได้แก่

(ก) สถานที่ราชการ หรือสถานที่ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ

 

 

(ข) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

(ค) วัดตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์

(ง) มัสยิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม

(จ) สถานที่ทำการหรือสถานที่ประกอบการของเอกชน

(ฉ) สถานที่ทำการของมูลนิธิ สถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับการสังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือเอกชน

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับการฝึกวิชาชีพ ทำงาน ศึกษาหรืออบรมตามที่กรมราชทัณฑ์กำหนดเท่านั้น ในกรณีกำหนดให้ผู้ต้องขังค้างคืนภายนอกโดยไม่ต้องกลับมาคุมขังที่เรือนจำ ให้ประกาศสถานที่คุมขังกรณีการปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขังเพิ่มเติมด้วย

(3) กรณีการรักษาพยาบาล ได้แก่ สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ในกรณีแพทย์มีความเห็นให้กลับมารักษาตัวและเรือนจำเห็นว่าอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังร้ายแรงจนไม่มีความเสี่ยงในการหลบหนี หรือต้องไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาต่อเนื่อง ให้ประกาศสถานที่คุมขังกรณีการปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยเพิ่มเติมด้วย

(4) กรณีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ได้แก่ สถานที่คุมขังอย่างหนึ่งอย่างใดตาม (1) – (3) โดยให้ดำเนินการตามข้อ 10 แห่งประกาศนี้ ในกรณีที่สถานที่สำหรับคุมขังมีพื้นที่เพียงพอที่จะจัดได้ทั้งสถานที่คุมขังตาม (1) – (3) ได้หลายประเภทให้กำหนดพื้นที่ของสถานที่คุมขังแต่ละประเภทให้ชัดเจน

ข้อ 2 ผู้ดูแลสถานที่คุมขัง การพิจารณาเรื่องผู้ดูแลสถานที่คุมขัง ต้องมีความพร้อมทั้งในด้านการจัดการสถานที่คุมขัง ด้านการเงิน และด้านเวลาส่วนตัว ในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมราชทัณฑ์กำหนด พร้อมทั้งต้องกำกับดูแลผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาให้ไปคุมขังในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด หากผู้ต้องขังหรือผู้ดูแลสถานที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ต้องขังและผู้ดูแลสถานที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการชดใช้ค่าเสียหาย หรือมีการรับผิดทางอาญา

ข้อ 3 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามกรณีการปฏิบัติตามระบบการจำแนกลักษณะและการแยกคุมขังและการพัฒนาพฤตินิสัย

(1) คุณสมบัติ

(ก) ต้องเป็นผู้ต้องขังซึ่งได้รับการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง ตามคู่มือการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ว่าเป็นผู้ต้องขังในกลุ่มที่ 1 (มีแนวโน้มไม่กระทำผิดซ้ำ) หรือกลุ่มที่ 2 (แก้ไขได้) หรือเป็นผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ใกล้คลอด เพื่อให้เด็กได้คลอดนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงโดยคำนึงถึงสิทธิของมารดาและเด็ก และต้องระบุไว้ในแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล (Sentence Plan) ด้วยว่าจะใช้วิธีการคุมขังในสถานที่อื่นแทนเรือนจำ หากผลการประเมินเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้

(ข) เป็นนักโทษเด็ดขาด ต้องโทษจำคุกครั้งแรก ต้องโทษเพราะถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ว่าในกรณีความผิดเดียวหรือหลายคดี โดยมิได้ถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐาน

กระทำความผิดอีกตามมาตรา 92 หรือมาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือตามกฎหมายอื่น และไม่เป็นผู้กระทำความผิดซ้ำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พันโทษจำคุกคราวก่อน โดยความผิดทั้งสองคราวไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(ค) ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือนักโทษเด็ดขาดซึ่งเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 4 ปี หากมีการพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษให้ถือเอากำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดหรือคำสั่งให้ลดโทษฉบับหลังสุด กรณีต้องโทษจำคุกหลายคดี ให้ใช้กำหนดโทษจำคุกรวมทุกคดี

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

(ง) ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังจากคณะทำงานจำแนกลักษณะผู้ต้องขังประจำเรือนจำ เพื่อกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล (Sentence Plan) หรือทบทวนแผนการปฏิบัติ โดยนักโทษเด็ดขาดสมัครใจในการออกไปคุมขังในสถานที่อื่นแทนเรือนจำ

(จ) มีผลการประเมินความเสี่ยงตามแบบประเมินความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง ก่อนได้รับการปล่อยตัว (Offender Pisk Assessment: OA) อยู่ในระดับความเสี่ยงค่อนข้างน้อยหรือความเสี่ยงน้อย

(2) ลักษณะต้องห้าม

(ก) ถูกขังระหว่างพิจารณา อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี หรือเจ้าพนักงานตำรวจมีหนังสือขออายัดตัวไว้ดำเนินคดี

(ข) มีประวัติกระทำผิดวินัยในเรือนจำ หรืออยู่ระหว่างรับโทษหรือดำเนินการทางวินัย

(ค) เคยถูกส่งออกไปคุมขังในสถานที่คุมขังอื่นและกระทำผิดเงื่อนไข หรือกระทำผิดอาญาขึ้นในระหว่างคุมขังในสถานที่คุมขังอื่นดังกล่าว

(ง) ถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิด ดังต่อไปนี้ (1) ความผิดตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565

(2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามมาตรา 135/1 มาตรา 135/2 มาตรา 135/3 และมาตรา 135/4

(3) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามมาตรา 209 มาตรา 210 มาตรา 211 มาตรา 212 และมาตรา 213

(4) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามมาตรา 337 มาตรา 338 มาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 มาตรา 340 ทวิ และมาตรา 340ตรี

(5) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งปรากฏผลการตรวจสอบจากสำนักงาน ป.ป.ส. ว่าเข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดรายสำคัญ หรือความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปถึงตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต หรือความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งมีปริมาณหรือจำนวนของกลาง ดังนี้

เฮโรอีน น้ำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป

ยาบ้า ตั้งแต่ 10,000 เม็ด หรือน้ำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป

ไอซ์ น้ำหนักตั้งแต่ 200 กรัมขึ้นไป

เอ็กซ์ตาซี (ยาอี) ตั้งแต่ 1,000 เม็ด หรือน้ำหนักตั้งแต่ 250 กรัมขึ้นไป

โคเคน น้ำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป

ฝิ่น น้ำหนักตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป

กัญชา น้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป

คีตามีน น้ำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป

มิดาโซแลม ตั้งแต่ 500 เม็ดขึ้นไป หรือความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 145 วรรคสอง และวรรคสามแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้แก่

การกระทำเพื่อการค้า

การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน

การจำหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี

การจำหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ

การกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

การกระทำโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ

การกระทำโดยหัวหน้า ผู้มีหน้าที่สั่งการ หรือผู้มีหน้าที่จัดการในเครือข่ายอาชญากรรม

การทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป

ข้อ 4 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามกรณีการรักษาพยาบาล

(1) คุณสมบัติ

(ก) เป็นนักโทษเด็ดขาดคดีถึงที่สุดทุกคดี

(ข) มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรง ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาด เป็นผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง หรืออยู่ในภาวะวิกฤติเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือก่อให้เกิดความพิการ หรือไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง เป็นผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง เป็นภาวะให้ผู้อื่นดูแล หรืออยู่ในภาวะพึ่งพิง (Dependent) และให้มีใบรับรองความเห็นแพทย์ของทางราชการ จำนวน 2 คน ให้ความรับรอง

(2) ลักษณะต้องห้ามถูกขังระหว่างพิจารณาในคดีอื่น อยู่ระหว่างดำเนินคดีในคดีอื่น หรือเจ้าพนักงานตำรวจมีหนังสือขออายัดตัวไว้ดำเนินคดีในคดีอื่น

ข้อ 5 เอกสารที่ต้องจัดหา ให้คณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำจัดหาเอกสารหรือหลักฐานตามที่กรมราชทัณฑ์กำหนด

ข้อ 6 เงื่อนไขและข้อห้ามในส่วนของผู้ต้องขัง ให้มีอย่างน้อยดังนี้

(1) ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ หากฝ่าฝืนและถูกลงโทษโดยเจ้าพนักงานเรือนจำ ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับนั้น ไม่ว่าโทษสถานใด ผู้ต้องขังหรือผู้ดูแลสถานที่คุมขังจะต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานเรือนจำหรือผู้มอบอำนาจหน้าที่ทราบทุกครั้งโดยเร็ว

(2) ปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล (Sentence Plan) ในสถานที่คุมขังที่คณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด หากมีปัญหาในการปฏิบัติตามแผน จะรีบแจ้งเจ้าพนักงานเรือนจำให้ทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการตามแนวทางที่กรมราชทัณฑ์กำหนดและดำเนินการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังซ้ำ

(3) ปฏิบัติตามคำแนะนำ และคำตักเตือนของเจ้าพนักงานเรือนจำ และเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการควบคุม และเพื่อการพัฒนาพฤตินิสัย ตามแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล (Sentence Plan) ในสถานที่คุมขังอื่น เงื่อนไขข้อปฏิบัติ และข้อห้าม ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

(4) ไม่ประพฤติตนในทางเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา แอลกอฮอล์ของมึนเมา คบหาคนอันธพาลหรือบุคคลที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายได้อีก เป็นต้น

(5) ไม่เกี่ยวข้องกับสารระเหย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตหรือประสาท หรือยาเสพติดให้โทษทุกประเภท รวมทั้งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดทุกชนิด

(6) ยินยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำตรวจดูสถานที่คุมขัง รวมถึงต้องแสดงภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของตนเองในสถานที่คุมขังเมื่อถูกร้องขอจากเจ้าพนักงาน

(7) ยินยอมให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ภายในระยะเวลาที่เหลือจำต่อไปในสถานที่คุมขังดังกล่าว หากคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำ เห็นสมควรให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวดังกล่าว

(8) ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองแก่หน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการ การให้คำแนะนำ ปรึกษา ดูแล ช่วยเหลือ และให้การสงเคราะห์แก่นักโทษเด็ดขาดผู้นี้และครอบครัว และการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ และผู้ได้รับการพิจารณาให้ไปคุมขังยังสถานที่คุมขังอื่น

(9) ผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาให้ไปคุมขังในสถานที่คุมขังอื่นจะต้องแสดงหนังสือสำคัญนี้ต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ พนักงานฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีการเรียกให้แสดง หากหนังสือฉบับนี้สูญหายให้รีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานเรือนจำและขอรับฉบับแทน ถ้าไม่แสดงหนังสือสำคัญดังกล่าว ถือว่าผิดเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งอาจถูกส่งตัวกลับเข้าคุมขังในเรือนจำต่อไป หากประพฤติผิดเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น เจ้าพนักงานเรือนจำจะส่งตัวกลับเข้าคุมขังในเรือนจำทั้งจะต้องถูกลงโทษทางวินัยเรือนจำอีกด้วย

ข้อ 7 เงื่อนไขและข้อห้ามในส่วนของผู้ดูแลสถานที่คุมขังให้มีอย่างน้อย ดังนี้

(1) ติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณที่เจ้าพนักงานเรือนจำกำหนด โดยผู้ดูแลสถานที่คุมขังหรือนักโทษเด็ดขาดผู้ได้รับการพิจารณาให้ออกไปคุมขังในสถานที่คุมขัง เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าว

(2) จัดให้มีระบบอินเทอร์เน็ตส่งภาพในกล้องวงจรปิดให้เรือนจำตรวจสอบได้ตลอดเวลา

(3) ยินยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลในระบบสารสนเทศของกรมราชทัณฑ์

(4) รายงานการกำกับดูแล และให้คำแนะนำแก่ผู้ต้องขังให้ปฏิบัติตนตามเงื่อนไขและไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามที่กำหนดไว้ ให้เจ้าพนักงานเรือนจำตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งหรือเมื่อถูกร้องขอ

(5) แจ้งเจ้าพนักงานเรือนจำในทันที กรณีผู้ต้องขังที่ดูแลเกิดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต

(6) ขออนุญาตเจ้าพนักงานเรือนจำทุกครั้ง เมื่อต้องพาผู้ต้องขังที่อยู่ในความดูแลออกไปในสถานที่ที่ได้รับอนุญาต แต่ไม่อยู่ในตารางเวลาที่กำหนดไว้

(7) ควบคุมดูแลผู้ต้องขังให้อยู่ในพื้นที่คุมขังในช่วงเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

(8) กำกับดูแลผู้ต้องขังให้ปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคลในสถานที่คุมขังที่คณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด หากมีปัญหาในการปฏิบัติตามแผน จะให้ผู้ต้องขังรีบแจ้งเจ้าพนักงานเรือนจำให้ทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการตามแนวทางที่กรมราชทัณฑ์กำหนด และดำเนินการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังซ้ำ

(9) บันทึกและเปิดเผยรายชื่อ วัน และเวลาของผู้มาเยี่ยมนักโทษเด็ดขาดที่อยู่ในความดูแลตามระเบียบของทางราชการ

(10) จะไม่ประพฤติตนและไม่ให้ผู้ต้องขังประพฤติตนในทางเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา แอลกอฮอล์ของมึนเมา คบหาคนอันธพาลหรือบุคคลที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายอีก เป็นต้น

(11) จะไม่เกี่ยวข้องและไม่ให้ผู้ต้องขังเกี่ยวข้องกับสารระเหย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตหรือประสาท หรือยาเสพติดให้โทษทุกประเภท รวมทั้งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดทุกชนิด

(12) ยินยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำตรวจดูสถานที่คุมขัง รวมถึงต้องแสดงภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของตนเองในสถานที่คุมขังเมื่อถูกร้องขอจากเจ้าพนักงาน

(13) กำกับดูแลผู้ต้องขังในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวทั้งไม่ทำลายอุปกรณ์ติดตามตัวหรือทำให้เกิดความเสียหายด้วยประการใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการติดตาม สอดส่องพฤติกรรมด้วยอุปกรณ์ติดตามตัวภายในระยะเวลาที่เหลือจำต่อไปในสถานที่คุมขังดังกล่าว หากปรากฏว่าผู้ต้องขังไม่ยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือทำให้เกิดความเสียหาย ด้วยประการใด ๆ ให้ถือว่าผู้ดูแลสถานที่คุมขังกระทำผิดเงื่อนไข และให้เรือนจำ/ทัณฑสถานดำเนินการจับกุมตัวผู้ต้องขังกลับเข้าคุมขังในเรือนจำ โดยไม่ต้องมีหมายจับ

(14) ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองแก่หน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นข้อมูลในการให้คำแนะนำ ปรึกษา ดูแล ช่วยเหลือ และให้การสงเคราะห์แก่นักโทษเด็ดขาด และการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ

(15) ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคำแนะนำอื่นใดของเจ้าพนักงานเรือนจำ

(16) ผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้ดูแลสถานที่คุมขังไปคุมขังจะต้องแสดงหนังสือสำคัญนี้ต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ พนักงานฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีการเรียกให้แสดง หากหนังสือฉบับนี้สูญหายให้รีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานเรือนจำและขอรับฉบับแทน ถ้าไม่แสดงหนังสือสำคัญดังกล่าว ถือว่าผิดเงื่อนไข และให้เรือนจำ/ทัณฑสถานดำเนินการจับกุมตัวผู้ต้องขังกลับเข้าคุมขังในเรือนจำโดยไม่ต้องมีหมายจับ

ในตอนที่มอบหนังสือสำคัญ ให้เจ้าพนักงานเรือนจำแจ้งหรือกำหนดไว้ในหนังสือด้วยว่า ในกรณีที่ผู้ดูแลสถานที่คุมขังให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขังกระทำผิดเงื่อนไข จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องขังดังกล่าวกระทำผิดอาญาหรือหลบหนีไป ผู้ดูแลสถานที่คุมขังอาจต้องถูกดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่อง กับความผิดที่เกิดขึ้นด้วย

แฟ้มภาพ ประกอบเรื่อง

ข้อ 8 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

(1) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับผู้ต้องขังที่จะถูกคุมขังในสถานที่อื่นทุกราย เว้นแต่

(ก) ผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงไม่สามารถหลบหนีได้

(ข) ผู้ต้องขังพิการซึ่งไม่สามารถเดินทางเองได้

(ค) ผู้ต้องขังที่ต้องถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามคำสั่งแพทย์ หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

(2) วิธีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

(ก) การใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับผู้ต้องขัง ให้เจ้าพนักงานเรือนจำเป็นผู้ใส่ด้วยตนเอง

(ข) ให้เจ้าพนักงานเรือนจำให้คำแนะนำแก่ผู้ต้องขังเกี่ยวกับการใช้งานและดูแลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามคู่มือหรือคำแนะนำจากบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว

(ค) ให้เจ้าพนักงานเรือนจำแจ้งแก่ผู้ต้องขัง ในกรณีที่จะต้องถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้แจ้งเจ้าพนักงานเรือนจำเพื่อไปทำการถอดอุปกรณ์ทุกครั้ง

(ง) เมื่อเหตุที่จะต้องถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หมดไป ให้เจ้าพนักงานเรือนจำใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ต้องขังตามเดิม

ข้อ 9 การคุมขังในสถานที่คุมขัง

(1) วิธีการคุมขังผู้ต้องขังในสถานที่คุมขัง

(ก) ในสถานที่จะใช้คุมขัง ให้ติดตั้งกล้องวงจรปิด โดยผู้ต้องขังหรือผู้ดูแลสถานที่คุมขังเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย อย่างน้อย 1 ตัว โดยเจ้าพนักงานเรือนจำที่ได้รับมอบหมายต้องสามารถเปิดดูได้ตลอดเวลา

(ข) ที่ตัวผู้ต้องขัง ต้องสวมใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตลอดเวลา เว้นแต่กรณีตามข้อ 8 (1) (ก) – (ค)

(ค) ผู้ดูแลสถานที่คุมขัง จะต้องมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถถ่ายภาพและภาพเคลื่อนไหวได้ และต้องให้หมายเลขโทรศัพท์แก่เจ้าพนักงานเรือนจำสำหรับติดต่อได้ตลอดเวลา

(2) ผู้ต้องขังจะต้องอยู่ในสถานที่คุมขังที่กำหนดไว้ประเภทใดประเภทหนึ่งเสมอ เว้นแต่

(ก) ขณะเดินทางจากสถานที่คุมขังแห่งหนึ่งไปยังสถานที่คุมขังแห่งอื่น

(ข) ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเรือนจำให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยมีกำหนดเวลา

(ค) ทำงานในสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ตอนอนุญาตแล้ว

(ง) ทำงาน ฝึกวิชาชีพ หรืออบรมตามที่กรมราชทัณฑ์กำหนด

กรณีที่กำหนดสถานที่คุมขังไว้เพียงแห่งเดียว ผู้ต้องขังจะต้องอยู่ในห้องที่จะใช้คุมขังอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยอนุญาตให้เข้าห้องน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวได้ให้ผู้ดูแลสถานที่คุมขังแต่ละแห่ง บันทึกเวลาที่ผู้ต้องขังอยู่ในสถานที่คุมขังตามแบบที่กำหนดไว้ท้ายประกาศนี้

(3) ผู้ต้องขังจะต้องรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานเรือนจำอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง หรือตามวันและเวลาที่เจ้าพนักงานเรือนจำกำหนด เว้นแต่ผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรงไม่สามารถสื่อสารได้ ให้ผู้ดูแลสถานที่เป็นผู้รายงานแทน

ข้อ 10 การดำเนินการกรณีสถานที่คุมขังสำหรับเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

(1) คุณสมบัติ

(ก) เป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพิจารณาให้ออกไปคุมขังในสถานที่คุมขังอย่างหนึ่งอย่างใด ตามข้อ 6 (1) (2) หรือ (3) ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566

(ข) เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน หรือ ต้องโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกำหนดโทษครั้งหลังสุด ในกรณีที่เหลือกำหนดโทษจำคุกเกิน 3 ปี 6 เดือน

(2) การกำหนดสถานที่คุมขัง

(ก) กรณีผู้ต้องขังมีคุณสมบัติตามข้อ (1) ก่อนหรือในวันที่อธิบดีอนุมัติให้ไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ให้กำหนดไปพร้อมกับสถานที่คุมขังตามข้อ 6 (1) (2) หรือ (3) แห่งระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 แล้วแต่กรณี

(ข) กรณีผู้ต้องขังมีคุณสมบัติตามข้อ 1 ภายหลังวันที่อธิบดีอนุมัติให้ไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ให้กำหนดสถานที่คุมขังหลังจากวันที่มีคุณสมบัติแต่ต้องก่อนวันพ้นโทษ

(3) เอกสารที่เรือนจำต้องจัดหา เงื่อนไขและข้อห้ามในส่วนของผู้ต้องขังและผู้ดูแลสถานที่คุมขัง และหลักเกณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขัง ให้เป็นไปตามที่ได้อธิบดีได้อนุมัติไว้แล้วตามข้อ 6 (1) (2) หรือ (3) ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 แล้วแต่กรณี

ข้อ 11 กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาด

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

 

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

คลอด\"คุมขังนอกเรือนจำ\" กรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ มีผลบังคับใช้

คลิกอ่านฉบับเต็ม >>> ประกาศ กรมราชทัณฑ์ กำหนดคุณสมบัติ "ขังนอกเรือนจำ" มีผลบังคับใช้ 

    News Hub