3 เมษายน 2568 ช่วงนี้ผู้นำต่างชาติเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เป็นว่าเล่น ด้วยภารกิจร่วมประชุมผู้นำบิมสเทค (BIMSTEC) ระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย.นี้ ที่ไทยเป็นประธานวาระปี 2565-2568
"บิมสเทค" คือกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ข้อมูลจากเว็บไซต์ bimstecthailand.com ระบุว่า บิมสเทคได้รับการก่อตั้งจากปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ในปี 2540 และเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 ไทยได้รับตำแหน่งประธานบิมสเทค ต่อจากศรีลังกาในช่วงการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 ทำให้กรอบความร่วมมือบิมสเทคได้ “กลับบ้าน” อีกครั้งหนึ่ง โดยไทยมีวาระการเป็นประธานบิมสเทคในปี 2565 – 2568
ปัจจุบันสมาชิกบิมสเทคประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย เมื่อได้ยินว่าบิมสเทคได้กลับบ้านนับเป็นข่าวดี แต่บังเอิญว่าไม่กี่วันก่อนประชุมเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.7 ศูนย์กลางอยู่ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ประเทศเมียนมา เพื่อนบ้านไทยที่เป็นสมาชิกบิมสเทคเหมือนกัน ความรุนแรงรับรู้ได้ถึงในประเทศไทย แถมในกรุงเทพฯ เกิดความเสียหายอาคารก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังใหม่สูง 30 ชั้น ย่านถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. พังถล่มลงมา คนงานเสียชีวิตหลายราย ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเมียนมาหลายคน เรียกได้ว่า คนไทยคนเมียนมาร่วมชะตาชีวิตเดียวกัน
เอาล่ะสิ! งานใหญ่ก็ต้องจัด ภัยพิบัติก็ต้องกู้ นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงเมื่อวันอังคาร (2 เม.ย.) ยืนยันความพร้อมการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โฆษกกล่าวว่า อาคารโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้ง ท่าอากาศยาน สถานที่จัดประชุม โรงแรม ที่พัก และช่องทางการคมนาคมขนส่ง มีความปลอดภัย สามารถใช้งานได้เต็มที่ตามปกติ และไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา
เจ้าภาพว่าพร้อมแล้วแต่แขกนั้นพร้อมกว่า นายกรัฐมนตรีเค พี ศรรมะ โอลี ของเนปาล เป็นแขกรายแรกที่เดินทางมาถึง เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ในวาระเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกรัฐบาล หลังจากนี้จะมีผู้นำคนอื่นๆ เดินทางมาเรื่อยๆ แต่คนที่ถูกจับตามากที่สุดหนีไม่พ้น พลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา สัปดาห์ก่อนนักสิทธิมนุษยชนชื่อดังเปิดประเด็นผ่านโซเชียลมีเดียส่งเสียงเตือนถึงรัฐบาลไทยในการเชิญมิน อ่องหล่ายมาร่วมประชุมผู้นำบิมสเทคที่กรุงเทพฯ เพราะจะเท่ากับเป็นการรับรองผู้นำเผด็จการเข่นฆ่าประชาชน
นายกรัฐมนตรีเค พี ศรรมะ โอลี ของเนปาล
เช้าวันศุกร์ (28 มี.ค.) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างแหล่งข่าวสามรายว่า มิน อ่องหล่าย จะมาประชุมที่กรุงเทพฯ ตกบ่ายเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นที่เมียนมา โอกาสที่ผู้นำเมียนมาจะมาหรือไม่มาประชุมยังไม่แน่นอน ณ เวลานั้น ล่าสุดวันพุธ (2 เม.ย.) รอยเตอร์รายงานว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสทางการทูตให้กับผู้นำเมียนมาหลังจากปิดประเทศมาสี่ปี นับตั้งแต่ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี
พลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา
สำหรับไทยในฐานะเจ้าภาพ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตือนว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเว้นระยะและท่าทีทางการทูตต่อมิน อ่อง หล่าย เพราะหากปรากฏภาพว่านายกรัฐมนตรีไทยไปพบปะพูดคุยกับมิน อ่อง หล่าย ในลักษณะที่ใกล้ชิดและดูเป็นการส่วนตัว จะทำให้นานาประเทศตีความว่า นายกรัฐมนตรีไทยให้ความสำคัญและยอมรับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาคนนี้เป็นพิเศษ
ฟังแล้วก็น่าหนักอกหนักใจแทนนายกฯ เพราะ "อันธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" ช่วงเย็นวันพุธโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย จะมาประชุมที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 4 เม.ย. เล่นเอาสำนักข่าวหลายสำนักต้องรีบรายงานข่าวด่วน
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หากพิจารณาในแง่ที่ว่าบิมสเทคได้กลับบ้าน เพราะได้กลับมาประชุมในประเทศที่เป็นต้นกำเนิด แถมยังเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกของรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร แต่ต้องมาเจอโจทย์ยากในการต้อนรับแขกบางคน รัฐบาลจะทำอย่างไรให้พอเหมาะพอดี ไม่เสียหน้าทั้งเจ้าภาพและแขก ไม่ละเมิดหลักการประชาธิปไตย แค่สองเรื่องนี้ก็น่าติดตามไม่วางตา ยังไม่นับความตกลงอื่นๆ ที่จะตามมาก่อประโยชน์ให้ประชาชนทั้งเจ็ดประเทศ บิมสเทคคราวนี้สนุกจริงๆ ไม่เกาะติดไม่ได้แล้ว!
ขอบคุณข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ