31 มีนาคม 2568 ปัญหาจากการสื่อสารของรัฐเกิดขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากหลายคนลืมไปแล้วช่วงหนึ่งความสามารถในการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนโดน Distrupt ไป สมัยก่อนเรามีระบบ ทรท (โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย) เมื่อครั้งคนไทยเฝ้าหน้าจอ โทรทัศน์ เพื่อตามข่าวสารที่ผลิตและกลั่นกรองโดยรัฐบาล เมื่อระบบนี้ถูก แทรกแซงโดย digital disruption พฤติกรรมการเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์จึงหมดไป 10 ปีที่ผ่านมา เรามีชีวิตอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์มากกว่า และ อำนาจในการเลือกที่จะเสพสื่อใดนั้นอยู่ในมือเรา
หลังจากเหตุการณ์กราดยิงที่พารากอน และมาถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดมหึมาครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมและความไม่เข้าใจในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรามักจะตื่นตัวต่อเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน จนทำให้อะไรๆก็ “วัวหายล้อมคอก” เพราะนี่เป็น พฤติกรรมพื้นฐานของสังคมเรา เราตื่นตัวเรื่องสึนามิ เมื่อปี คศ. 2004 เราก็ห่วงระบบเตือนภัย จ่ายเงินงบประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท จนระบบหมดอายุ ไม่มีการดูแลต่อ เพราะโอกาสที่จะเกิดคือ 1 ใน 200 ปี แต่เรามักไม่คิดถึงเรื่องใกล้ตัวและการพัฒนาระบบแบบยั่งยืน
ตัวผมเองได้อยู่ในเหตุการณ์กู้ภัยสึนามิตั้งแต่วันแรก วิ่งหนี อาฟเตอร์ช็อคหลอกๆถึง 6 ครั้งทั้งคืน ผ่านมายี่สิบปี ก็ยังไม่มีอะไรพัฒนาในด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติมากขึ้น รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีความเชี่ยวชาญทางทฤษฎีด้านนี้ ก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ท่านมีโอกาสได้แสดงวิสัยทัศน์ทุกครั้งแต่พอถึงช่วงการบริหารจริง ท่านไม่มีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วม จนทำให้ผมคิดว่าบางครั้ง เราอาจจะตอบสนองกับเรื่องใหญ่แต่มองข้ามเรื่องเล็กๆที่จำเป็นต้องบริหารเพื่อพัฒนาระบบของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่คาดหวังการตอบสนองกับความตระหนกตกใจแบบนี้ จนทำให้เรา “วัวหายล้อมคอก” ทุกครั้งไป
ทีนี้เรามาตอบข้อเรียกร้องของสังคม - ระบบการเตือนภัยผ่าน SMS นั้น มันไม่มีอยู่จริง มันมีแต่ระบบส่งข้อความผ่าน SMS โดยมีมาตั้งแต่ระบบโทรศัพท์ 2G ที่ส่งตัวอักษร 80 ตัวผ่าน Radio Network โดยการออกแบบในการส่งที่รองรับ P2P (Person-to-Person) หรือ A2P (Applicartion-to-Person) เป็นการส่งตรงไปยังเป้าหมาย ไม่ใช้ระบบการกระจายส่งหรือ Broadcasting แต่อย่างใด การเรียกร้องให้มีระบบเตือนภัยผ่าน SMS จึงไม่ต่างกับการเรียกร้องให้มีส่งจดหมายเตือนภัย
ในเมื่อเรารู้แล้วว่าระบบที่เขาเรียกร้องนั้นไม่ตรงโจทย์ และ เราก็ให้ได้ไม่ตรงปก ผมเข้ามาทำงานตรงนี้ ก็เลยขอให้รีบมีการจัดทำระบบ Warning System หรือ ระบบการแจ้งภัย ผ่านเทคโนโลยีที่ชื่อ Cell Broadcast ที่มาพร้อมกับระบบ 3G และ 4GLte + เป็นต้นมา เนื่องจากความสามารถในการใช้ Multi Band และการควบคุมระบบ Network ผ่าน Vran (หรือ centralized operating system) ระบบนี้จึงได้เกิดขึ้นและตามที่ ผู้นำฝ่ายค้าน คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ บอก หลายประเทศมีมาเป็นสิบปี ประเทศเหล่านั้นคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งผมก็มีโอกาสได้หารือ และ ขอความคิดเห็นจาก คุณณัฐพงษ์ เป็นครั้งคราวก่อน ท่านจะได้รับการโปรดเกล้าเป็น หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน
หากพูดไปแล้วก็เหมือนกับพูดขวางสังคม แต่ความเป็นจริงคือ ในฐานะคณะทำงานระบบแจ้งเตือนภัยของ กสทช. คณะทำงานผมปิดส่งงานไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว (ปี 2567) หลังผมผลักดันระบบโครงสร้างพื้นฐานเสร็จเรียบร้อย รอระบบปฏิบัติการเข้ามาเชื่อมต่อ และหลังจากนั้น สำนักงานกสทช.ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบและทดสอบระบบของ ผู้ประกอบการให้มันใช้งานได้ และลงโทษผู้ประกอบการหากมันล้มเหลว งบประมาณที่ออกแบบมาก็ให้ ผู้ประกอบการเข้าไปจัดการเอง โดย กสทช.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแค่มีหน้าที่ลงต้นทุน และหลังจากนี้การประมูลคลื่นไปใช้ในการบริการโทรคมนาคม ก็จะต้องมีระบบนี้ติดตั้งมาด้วยทุกครั้งไป เป็นเงื่อนไข
หน้าที่ของ กสทช. ในเรื่องนี้รุ่นต่อๆไป คือการเตรียมรองรับเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรที่จะเข้ามาให้บริการ หากระบบโครงข่ายล้มเหลว อย่างเช่นกรณีไฟป่าทำให้เสาสัญญาณละลาย (โดยที่ยังมีผู้ประกอบการบางรายต่อต้านเนื่องจากกลัวกระทบผลประกอบการระบบดาวเทียมของตัวเอง) ซึ่งในปีนี้เราได้เห็นการพัฒนาเร็วมากเพราะจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นและหนักขึ้น นวัตกรรมใหม่ๆก็เกิดมาเพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้
ส่วนหลายคนด่า การทำหน้าที่ สำนักงาน กสทช. และ กรรมการ กสทช. น้้นก็เข้าใจได้ ด้วยความโกรธความเกลียดและภาพลักษณ์ที่ไม่ได้ดีนัก ก็ล้วนเกิดจากสิ่งที่สังคมด่านั่นแหละ แต่หน้าที่ของสำนักงานกสทช. และ กสทช. นั้นแบ่งชัดเจนมากกว่ากระทรวงและรัฐมนตรีเสียอีก และในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่บริหารเป็นอิสระจากรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 (ซึ่งหน้าที่หลักคือการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ยุติธรรม ตั้งแต่วิทยุยันดาวเทียม) กรรมการมีหน้าที่ๆอิสระจากรัฐและผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้เอื้อประโยชน์เอกชนหรือรัฐบาล จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากการแบ่งจัดสรรคลื่นที่ไม่เป็นธรรม ในสมัยก่อนหลักๆคือ การพยายามควบคุมทีวีให้เป็นของผู้มีอำนาจ แต่ตอนนี้เราได้เห็นจากย่อหน้าแรกแล้วว่ามันหมดยุคไปแล้ว
สำหรับผมแล้วในฐานะที่เราเป็นผู้น้อยและวัยวุฒิยังต่ำเตี้ย และเข้ามาทำหน้าที่ไนเวลาจำกัด ผมเข้าใจความโกรธและความรู้สึกของประชาชนดี และอยากตอบโจทย์สังคมได้อย่างทันท่วงที แต่อย่างที่ผมพูดเสมอ องค์กรรัฐไม่ว่าจะออกแบบอย่างไรก็มีข้อจำกัด จากอำนาจ กฎหมาย และ ผู้มีอำนาจ และใครถามผมก็ไปตอบ ทำงานและมองไปที่เป้าหมายมากกว่าปัญหารายวัน และพยายามจะเป็นมืออาชีพให้มากที่สุด แต่ก็อดห่วงสังคมไทยและอนาคตของเราไม่ได้ว่าเราจะพัฒนาไปในทางไหน วันนี้เรามีผู้นำรัฐบาล GenY และ ผู้นำฝ่ายค้าน GenY ซึ่งผมก็มีโอกาสได้แชร์ อายุกับผู้นำทั้งสอง
แต่หากเรายังให้ระบบและความคิดรูปแบบเดิมพาเราไป หรือ ถูกลากไปในระบบไร้พื้นฐานแบบรุ่นใหม่จนเสียแบบแผน ผมเองก็ไม่รู้ว่าประเทศจะไปต่อในทางไหน การสร้างความเกลียดชังผ่านโซเชียล และ การซื้อ target like หรือ i/o avatar ต่างๆเพื่อ agenda ส่วนตัวก็ไม่ต่างกับการซื้อความคิดของคน เราต้องหาทางที่จะ engage ใน productive dialogue มากกว่าการสร้างฝ่ายเกลียดชังเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของตัวเอง และหวังว่า เราจะค่อยพัฒนาฟาร์มของเราให้ปลอดภัยในขณะที่เรามีวัวอยู่ ไม่ใช่แค่ วัวหายล้อมคอกเป็นอาจิณ