31 มีนาคม 2568 ที่ ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS ที่มีความล่าช้า ร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดีอี , นายภาสกร บุญญาลักษม์ อธิบดี ปภ. , นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. , และตัวแทนค่ายมือถือ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการประชุม นายประเสริฐ ได้รายงานนายกรัฐมนตรีว่า หลังจากที่ นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงดีอี , ปภ. , กสทช. และค่ายมือถือ ประชุมร่วมกันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (29 มี.ค.) เพื่อหาสาเหตุถึงความล่าช้าในการส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา
คณะทำงานได้ประชุมร่วมกัน ได้ข้อสรุป 3 ส่วน ถึงดำเนินการที่ช้าคือ ในช่วงสรุปข้อความ และขั้นตอนการส่งข้อความ เรื่องนี้ที่ประชุมร่วมกันได้สรุปว่า ในส่วนของ ปภ.ได้ให้ทำระบบปฏิบัติการใหม่ ในเรื่องการเตือนภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ปภ.อยู่แล้วตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ. 2550
ส่วนที่สองคือ กำหนดระยะเวลาไทม์ไลน์ ถ้าเกิดเหตุแล้วใช้เวลากี่นาที เพื่อที่จะให้เกิดความเร็ว
และอีกส่วนคือเรื่องของโอเปอเรเตอร์ ได้เรียกค่ายมือถือมาพูดคุยศึกษาดูว่า ระบบที่เป็นแมลนวลก่อนที่ระบบ Cell Broadcast ยังทำงานไม่ได้ จะต้องมีการใช้ระบบสำรองอย่างไร ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามว่า ข้อความที่ส่งแจ้งเตือนประชาชนออกจากหน่วยงานใด
ทำให้อธิบดี ปภ. ชี้แจงว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากกรมอุตุฯ และเว็บไซต์ ศูนย์เฝ้าระวังแผ่นดินไหวของ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี หากข้อมูล 2 ทางยืนยันตรงกัน จะเริ่มทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยวันเกิดเหตุได้รับข้อมูล จากกรมอุตุนิยมวิทยา และในเว็บไซต์ของสหรัฐอเมริกา ที่ยืนยันตรงกันในเวลา 13.36 น
ทำให้นายกรัฐมนตรีแย้งขึ้นว่า ปภ.ส่งครั้งแรก ในเวลา 14:40 น จำได้ว่าใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
อธิบดี ปภ.จึงชี้แจ้งต่อว่า การวิเคราะห์ข้อมูลของเราใช้เวลาประมาณ 10 นาที แต่ในขณะที่เหตุการณ์จริงใช้เวลา 4 นาที หลังจากฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลได้รับข้อมูลตรงกัน เพราะต้องดูแลสั่นสะเทือนและระยะ เวลาที่จะมาถึงเรา และหลังจากรับ SMS แจ้งเตือนจากกรมอุตุฯ ก็ได้ส่งกระจายข้อมูลทันที
ทำให้นายกรัฐมนตรี กล่าวขึ้นว่า ต้องปรึกษาภาคเอกชนว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็ชัดเจนอยู่แล้ว ความแรงของแผ่นดินไหวเอาไว้ก่อน แต่ถามเอกชนว่า ถ้าเกิดภายใน 5 นาที สามารถที่จะสื่อสารและสรุปได้หรือไม่ เข้าใจว่าต้องรอให้ข้อมูลชัด แต่ในเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว สามารถส่ง SMS ได้เลยหรือไม่ เช่น ข้อความสั้นแจ้งเตือนให้ออกจากตึก ต้องสอบถามจากเอกชนว่า มีวิธีการหรือไม่ว่า จะต้องทำอย่างไร ให้รวดเร็ว
นายจักรกฤษณ์ ตัวแทนบริษัททรู จึงกล่าวว่า การส่ง SMS ต้องเรียนตามตรงว่า ไม่ใช่เป็นการสื่อสารหลัก ในการแจ้งเตือนภัย เพราะวิธีการส่งเราต้องรู้เลขหมายก่อน อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทาง ปภ.ส่งมายัง Operator ว่า ขอให้ส่งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เราต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลว่า มีหมายเลขใดบ้างที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงชาวต่างชาติที่เปิดโรมมิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงจะทราบจำนวนเบอร์ที่อยู่ในพื้นที่ จึงจะสามารถส่ง SMS แจ้งเตือนได้ เพราะเราต้องรู้ก่อนว่า ใครอยู่ตรงไหนบ้าง
ซึ่งคำสั่งแรกบอกให้เราส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี แต่ปริมาณในการส่ง ข้อความแจ้งเตือนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละค่ายมือถือ ดังนั้น การจัดส่ง SMS อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอจำเป็นจะต้องมีการโทรแจ้งเตือนด้วย แต่หากมีเหตุจำเป็นจริงๆ เราก็จะมีการเพิ่มปริมาณในการส่งข้อความในแต่ละครั้ง ไม่ใช่ช่องแต่ขอย้ำว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียวในการส่งข้อความแจ้งเตือน
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียว แต่เรื่องของแผ่นดินไหวเราไม่ทราบล่วงหน้า และตนก็คิดว่าการส่ง SMS เป็นการแจ้งข้อมูลเชิงรุก เช่น หากเรานั่งต่อจิ๊กซอว์อยู่ ไม่ได้กำลังเล่นมือถือจะรู้ได้อย่างไร ดังนั้น SMS จึงเป็นหนึ่งในช่องทางการแจ้งเตือนเชิงรุก ซึ่งเมื่อช่วงเช้าตนก็ต้องชี้แจงว่า ไม่ใช่แผ่นดินไหว ทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และชี้แจงในช่องทาง Social Media เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่ใช่แผ่นดินไหว
ภายหลังการประชุม น.ส.แพทองธาร ได้สอบถามกับสื่อมวลชนว่า มีใครได้รับข้อความทดสอบระบบแจ้งเตือน หรือไม่ ผู้สื่อข่าวได้ตอบกลับว่า ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวยังไม่ได้รับแม้แต่ข้อความเดียว นายกรัฐมนตรีจึงบอกว่า “เหมือนกันเลย”
ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนจะได้รับเฉพาะโทรศัพท์ ระบบแอนดรอยด์เท่านั้น แต่ระบบ iOS อยู่ระหว่างการประสาน
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การประชุมในวันนี้ ประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นการถอดบทเรียนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรได้บ้าง ซึ่งข้อสรุป คือ Cell Broadcast ที่จะมาในช่วงเดือนกรกฎาคม
ดังนั้นระหว่างนี้ หากมีอะไรเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร สมมติว่าหากเกิดแผ่นดินไหวอีก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยได้ข้อสรุปตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ Cell Broadcast จะมา โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ที่จะทำให้งานไหลลื่นชัดเจน
เรื่องแรกที่จะทำคือ การเปลี่ยนแปลงระบบ SOP ส่งข้อความได้ทันที ภายหลังจากได้รับข้อมูลจากกรมอุตุฯ โดยที่ ปภ. ไม่ต้องมาวิเคราะห์ในเรื่องของข้อความ ซึ่งจะมีการวางรูปแบบ ข้อความไว้ ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง เป็นข้อความที่กระชับ ถูกต้อง และเข้าใจง่าย ระหว่างรอ cell broadcast ระบบเต็ม ให้ใช้ระบบ Virtual cell broadcast ซึ่งขณะนี้การส่งข้อความแจ้งเตือนยังได้เพียงระบบแอนดรอยด์ โดยมีเลขหมายที่ใช้ในระบบนี้ทั้งหมด 70 ล้านเบอร์ จาก ปภ. ส่งตรงไปที่ผู้ให้บริการเครือข่ายได้เลย
ส่วนระบบ iOS อีก 50 ล้านเบอร์ ให้ใช้การส่ง SMS ไปก่อน โดยให้ทาง ปภ.ส่งตรงปลายทางผู้ให้บริการเครือข่ายได้เลย และกระจายส่งไปยังประชาชน โดยทาง กระทรวงดีอีฯ และ กสทช. จะเร่งเจรจากับ iOS เพื่อให้สามารถใช้ระบบ virtual cell broadcast ได้ชั่วคราว ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถใช้ได้ทันที ก่อนที่ระบบ cell broadcast เต็มรูปแบบ จะสามารถใช้ได้ช่วงเดือนกรกฎาคม
นายกฯ กล่าวว่า ระบบเตือนภัย SMS หรือ Cell Broadcast เป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการแจ้งเตือนภัย แต่รัฐบาลจะมีการสื่อสารกับประชาชน ผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย เช่น LINE Facebook และโทรทัศน์รวมกันเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย อย่างที่เคยได้สื่อสารไปแล้ว และยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่ง ปภ.จะส่งให้กับสื่อหลักอีกครั้ง เพื่อประชาสัมพันธ์
ย้ำว่า SMS ที่คุยกันเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นในการแจ้งเตือน เมื่อ cell broadcast จะสามารถกระจายทุกเลขหมายได้รวดเร็ว และเมื่อครู่นี้ที่ได้ทดสอบแจ้งเตือน จะมีเสียงเตือน เหมือนกับที่ต่างประเทศ หากมีเหตุการณ์น้ำท่วม พายุเข้า จะมีเสียงดังขึ้นมา ไม่ว่าโทรศัพท์จะปิดเสียงอยู่หรือไม่ ก็จะดังเตือนขึ้นมา เป็นการเอาไว้เตือนเรื่องสำคัญ
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งเป็นจุดที่มีการทดสอบ ได้รับแจ้งเตือน จากระบบ cell broadcast ซึ่งเป็นลักษณะแจ้งเตือนระดับสูง โดยระบุข้อความ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ว่า “ นี่คือการทดสอบการส่งข้อความของระบบ cell broadcast ผู้ได้รับ ปฎิบัติภารกิจตามปกติ” ซึ่งตรงกับที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า เป็นการทดสอบที่จับโลเคชั่น