เหตุผลของกระทรวงการคลัง ก็คือ ร่างพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. ในการสืบสวน สอบสวน รวมถึงสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการต่อผู้กระทำความผิดในตลาดหลักทรัพย์ โดยเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.จากขอบเขตอำนาจในปัจจุบัน เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดีที่มีผลกระทบสูง หรือ high impact ซึ่งจะสามารถจำกัดขอบเขตความเสียหายของผู้ลงทุนได้ โดยไม่ต้องรอการทำงานของเจ้าพนักงานตำรวจตามระบบเดิม ซึ่งบางกรณีมีความล่าช้า และเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในบางเรื่อง
“ฐานเศรษฐกิจ” สื่อในเครือเนชั่น ได้ไปตรวจสอบความเห็นของผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ พบว่ามีความเห็นแบ่งเป็นสองทาง คือ ทางหนึ่งสนับสนุนการเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. เพราะจะทำให้สามารถบังคับใช้กฎหมาย สกัดหรือปราบปรามบริษัทที่กระทำผิด สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดได้อย่างทันท่วงที คาดว่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทยได้
แต่ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์อีกส่วนหนึ่ง ก็มองว่า เรื่องนี้อาจเป็น “ดาบสองคม” ที่ถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองได้เหมือนกัน เพราะอำนาจของ ก.ล.ต.จะเพิ่ืมขึ้นมาก ไม่ต่างอะไรกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่มีขอบเขตอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ขณะเดียวกันก็มองว่าที่ผ่านมาอำนาจของ ก.ล.ต.ก็มีมากเยอะมากอยู่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถช่วยสกัดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ปัญหาจึงอาจอยู่ที่การทำงานของ ก.ล.ต.เองบางส่วนด้วย
“เนชั่นทีวี” ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า การตราพระราชกำหนดนั้น คณะรัฐมนตรีสามารถกระทำได้ โดยให้มีผลบังคับใช้เหมือนพระราชบัญญัติ แต่ต้องมีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ดังนี้
โดยให้กระทำเฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น
และเมื่อพระราชกำหนดบังคับใช้แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีรีบเสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป (เสนอทีละสภา คือสภาผู้แทนราษฎรก่อน ตามด้วยวุฒิสภา) เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้น
นอกจากนั้นยังมีพระราชกำหนดอีกประเภทหนึ่งทีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 174 คือ พระราชกำหนดที่เกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา โดยจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ ต้องเป็นเรื่องที่พิจารณาโดยด่วน และลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีก็จะตราพระราชกำหนดได้ แต่เมื่อพระราชกำหนดบังคับใช้แล้ว ก็ต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเหมือนพระราชกำหนดประเภทแรก
ทั้งนี้ ตามประเพณีทางการเมือง หากพระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรีตราขึ้นไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีจะต้องลาออก ส่วนผลจากการใช้พระราชกำหนดนั้น จะไม่กระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปแล้วระหว่างที่พระราชกำหนดนั้นมีผลบังคับใช้
นอกจากนั้น ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา จะได้อนุมัติพระราชกำหนด สมาชิกของแต่ละสภา คือ สส. หรือ สว. ยังมีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาของตน ส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วยว่า การตราพระราชกำหนดของคณะรัฐมนตรี เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำวินิจฉัยภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่รับเรื่อง
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ก็ให้ถือว่าพระราชกำหนดนั้นไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น
สำหรับร่างพระราชกำหนดเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.ที่มีการเสนอคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ก็มีคำถามเช่นกันว่า มีความจำเป็นรีบด่วน หรือเป็นเรื่องฉุกเฉินที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริงหรือไม่
สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เคยตราพระราชกำหนดมาแล้ว 1 ฉบับ และไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา คือ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พ.ร.ก.ไซเบอร์” บังคับใช้ตั้งแต่รัฐบาลอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน
และเมือต้นปี 68 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบในหลักการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดฉบับนี้ เพื่อให้สถาบันการเงิน บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน หากไม่จัดทำมาตรการป้องกันหรือช่วยเหลือประชาชนที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ได้ตามที่กฎหมายกำหนด
แต่หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการไปแล้วหลายเดือน กลับยังไม่มีความคืบหน้า ถึงขั้นฝ่ายค้านนำไปทวงถามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งจบลงไป ว่ามีสาเหตุมาจากความเกรงใจเอกชนหรือผู้ประกอบการที่เป็น “ทุนใหญ่” หรือไม่
ส่วนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 66 ก่อนหมดวาระเพียงเดือนเศษ ได้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 (ชื่อเต็มตามนี้เลย) เพื่อชะลอการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกภาพและวีดีโอในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว โดยอ้างเหตุผลและความจำเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลาตามที่กฎหมายบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องทำ
ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การตราพระราชกำหนดฉบับนั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ทำให้พระราชกำหนดต้องตกไป แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ