svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มติรัฐสภา ส่งศาล รธน.วินิจฉัยประชามติ-อำนาจรัฐสภาจัดทำ รธน.ใหม่

"ผู้นำฝ่ายค้านฯ" หนุนเดินหน้าแก้ไข ม.256 ต่อ ชี้ถ้าศาลฯ มีคำวินิจฉัยก็แค่รีเซ็ตกระบวนการใหม่ จี้พรรคร่วมรัฐบาลสื่อสารจริงใจตรงไปตรงมา

17 มีนาคม 2568  ที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก 304 เสียง ต่อ 150 เสียง งดออกเสียง 124 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง จาก สส.และ สว.ในที่ประชุมทั้งหมด 572 คน ให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1 (2) ตามที่ญัตติที่นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ  
 

โดยนายแพทย์เปรมศักดิ์ ได้ชี้แจงและหลักการการเสนอญัตติว่า ที่ประชุมรัฐสภา เคยได้พิจารณาหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ สส.และ สว.ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน จนทำให้การพิจารณาไม่สามารถดำเนินการได้ และเกิดปัญหา รวมถึงมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง และมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องจัดการออกเสียงประชามติก่อน และการที่รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรจัดการออกเสียงประชามติก่อน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ตนจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า รัฐสภา มีอำนาจลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติได้หรือไม่ และหากรัฐสภา มีอำนาจพิจารณาแล้ว การดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติ สามารถกระทำภายหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกับประชาชนเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (รวบประชามติครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2) ได้หรือไม่ 

นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา

ส่วนข้อกังวลหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว จะไม่ทันต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น นายแพทย์เปรมศักดิ์ เห็นว่า ไม่ได้กระทบต่อการเลือกตั้ง เพราะระบบการเลือกตั้งได้แก้ไขเป็นระบบขนานแล้ว และมีสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่ควรนำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปผูกกับการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ และไม่ควรเร่งรีบ เพราะจะไม่มีความรอบคอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง แต่จะต้องเป็นรถไฟธรรมดา ส่งผู้โดยสารโดยปลอดภัย และคงความเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมหวังว่า การพิจารณาญัตติในวันนี้ (17 มี.ค.) จะไม่ซ้ำรอยรัฐสภาล่ม เมื่อ 13 – 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ได้ชี้แจงและหลักการการเสนอญัตติว่า จากกรณีที่สมาชิกรัฐสภา ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เนื่องจาก ยังมีความเห็นต่างระหว่าง สส.และ สว.ต่ออำนาจของรัฐสภาในการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติ จึงเกิดข้อถกเถียงต่อกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติก่อนรับหลักการ หรือจัดการออกเสียงประชามติก่อนลงมติวาระที่ 3 ทำให้รัฐสภา ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จนเกิดอุปสรรค เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีดังกล่าว จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาว่า รัฐสภา สามารถลงมติร่างรัฐธรรมนูญโดยที่ยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติประชาชนว่า ประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ 

ขณะที่ การอภิปรายนั้น นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สร้างความไม่ชัดเจนให้กับพรรคการเมืองที่อยากแก้ไข และไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เตะถ่วง เพราะไม่รู้ว่า จะใช้เวลาแค่ไหน แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งดีกว่าเดินหน้าต่อไปแล้ว ในการลงมติถูกตีตกในสัปดาห์หน้า ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จึงต้องการผ่าทางตันเท่านั้น ซึ่งแม้ตนเอง จะไม่เห็นด้วยกับการมีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องอยู่ในโลกความเป็นจริง ไม่ใช่โลกอุดมการณ์ และหลายคนชอบอ้างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เรื่องการทำอะไรแบบเดิม ๆ แต่หวังผลแบบใหม่ ซึ่งถือเป็นการพูดไม่หมด  เพราะถ้าไอน์สไตน์ ยังมีชีวิตอยู่ตนจะถามว่า ทำวิธีเดิม ในบริบทใหม่ มันอาจะได้คำตอบใหม่ ซึ่งเชื่อว่า ไอน์สไตน์ น่าจะคิดเหมือนกัน ดังนั้น วันนี้แม้จะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญแบบเดิม แต่ในบริบทใหม่ที่เกิดความเห็นต่างกัน ตนก็หวังว่า ได้คำตอบใหม่ ตนจึงภูมิใจ ที่จะสนับสนุนให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญตีความ

มติรัฐสภา ส่งศาล รธน.วินิจฉัยประชามติ-อำนาจรัฐสภาจัดทำ รธน.ใหม่

ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เห็นว่า รัฐสภา ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐสภาเดินหน้าต่อตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาชนเสนอ จะไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ไม่ได้มี สสร.ทันที แต่ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็ต้องมีการจัดการออกเสียงประชามติก่อน จึงสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 100% และแม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับการจัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง แต่ตนก็ยอมรับว่ามีผู้สนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งรวมถึงประธานรัฐสภาด้วย ก่อนที่จะเปลี่ยนใจและเห็นด้วยกับตน หลังจากที่ตนเองได้รวบรวมข้อมูลว่า การจัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว เพราะเมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องให้จัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง 

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กังวลถึงการบรรจุญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี้ ที่ย้อนแย้งกับดุลยพินิจของประธานรัฐสภา ที่บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยการจัดทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง ดังนั้น ถ้าประธานรัฐสภา ใช้มาตรฐานเดียวกันว่า ญัตติดังกล่าว น่าจะขัดต่อข้อกฎหมายที่ประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยแล้ว ตนเองก็กังวลเช่นเดียวกันว่า น่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้เกิดความหลื่อมล้ำในเรื่องการตีความ 

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

นายณัฐพงษ์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงเหตุและผลที่รัฐสภามาเถียงกันในวันนี้ว่า เป็นเหตุผลทางการเมือง หรือเป็นเหตุผลทางข้อกฎหมาย เพราะถ้าเป็นเหตุผลทางการเมือง ก็ต้องแก้ด้วยการเมือง หากใช้ข้ออ้างเรื่องข้อกฎหมาย ตนก็คิดว่า คงไม่ได้คำตอบ จึงอยากให้สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ เพราะเพื่อนสส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย แต่เป็นเรื่องการเมือง ดังนั้น ตนอยากให้ สส.ทุกคนมาประเมินผลได้ผลเสียถ้าเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256  หากในอนาคต ศาลรัฐธรรมนูญเกิดวินิจฉัยแล้วมีใครไปร้องก็แค่รีเซ็ทกระบวนการทำประชามติใหม่ ซึ่งไม่มีอะไรน่ากังวล หรือ สส.คิดว่า หากปลดล็อกเงื่อนไขนี้แล้ว จะไม่มีเงื่อนไขต่อ ๆ ไปมาอ้าง ขัดขวางกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก สิ่งที่พวกตนอยากเรียงร้อง คืออยากให้ สส.พรรคร่วมรัฐบาล แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา หรือถ้าเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง ก็ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลไปพูดคุยกันให้จบ แก้กันที่เหตุผลทางการเมือง และนายกรัฐมนตรี ต้องแสดงบทบาทผู้นำในการควบคุมเสียงรัฐบาลให้ได้ 

ด้าน นายพริษฐ์ ยังเชื่อว่า มี สส.และสว.ส่วนหนึ่ง ไม่ได้กังวลข้อกฎหมาย แต่ไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ จึงพยายามหาข้อกังวลของกฎหมาย เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งที่ผ่านมา ตนเองก็ตั้งคำถามถึงเจตจำนงของพรรคร่วมรัฐบาล และ สว.หัวใจเดียวกัน ที่หากกังวลข้อกฎหมายจริง แต่เหตุใดกลับไม่มาร่วมลงมติสนับสนุนการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อการประชุมรัฐสภา เมื่อ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตถึงเจตจำนงของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้พยายามโน้มน้าว และคลี่คลายข้อกังวลใด ๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลแล้วบ้าง ซึ่งตนเองเชื่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้จัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาล และ สว.หัวใจเดียวกัน จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ดังนั้น ทางออกเรื่องนี้ จึงไม่ใช่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ดังนั้น รัฐสภา จึงจะต้องส่งสัญญาณไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างภาวะผู้นำให้นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยให้สำเร็จ 

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เห็นว่า การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก เป็นการยื้อเวลาออกไป ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและกลไกรัฐสภา พร้อมทวงถามถึงความกล้าหาญของพรรคเพื่อไทย เหมือนในอดีตที่ครั้งหนึ่ง รัฐสภาชุดก่อนเธอมีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาความเห็นต่างระหว่าง 2 สภา แต่นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขณะที่ทำหน้าที่ประธานวิปฝ่ายค้านในอดีตไม่เห็นด้วย พร้อมตำหนิรัฐสภาเป็นโรงลิเก หลอกต้มประชาชน แต่ในวันนี้กลับอภิปรายยอมรับถึงโลกของความเป็นจริง มากกว่าโลกของอุดมการณ์ และกลับยอมเลื้อย คุดคู้อยู่ในโลกความจริงที่ฟอนเฟะ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน

นายวิโรจน์ อยากได้อภิปรายย้อนเพื่อไล่เรียงความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในอดีตที่ผ่านมา ภายหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่มีความกำกวมไม่ชัดเจน และมีการตีความต่างกัน จนสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถูกคว่ำ ดังนั้น จึงมองว่า สส.และ สว.ควรใช้อำนาจของตนเองที่ประชาชนได้มอบให้ แทนการใช้อำนาจศาลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่ได้มาจากประชาชนในการวินิจฉัย พร้อมยังชื่นชมนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่เคยอภิปรายว่า ตนคงไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหกปลิ้นปล้อน ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊ก

 

นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ได้พยายามคลี่คลายความขัดแย้ง ในยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวอีกครั้ง แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตบหน้าฝ่ายนิติบัญญัติไม่รับวินิจฉัย เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งหากนับระยะเวลาความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2563 รัฐสภาได้ใช้เวลาไปเกือบ 5 ปีแล้ว หากรัฐสภา ยังจะเลื่อนการพิจารณาออกไปอีก ตนเองก็เห็นด้วยกับคำพูดของนายชาดา และนายสุทินว่า รัฐสภา คือโรงลิเก หลอกต้มประชาชน เป็นสภาโจ๊ก ที่ประชาชนไม่สามารถให้ความหวังได้ เพราะนักการเมือง ไม่กล้าใช้อำนาจนิติบัญญัติที่ประชาชนมอบมาให้ด้วยความเต็มใจ ดังนั้น ประเทศชาติเสียเวลามาครึ่งทศวรรษแล้ว ตนจึงไม่สนับสนุนให้มีการยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และขอให้ทั้ง สส.และ สว.ได้รวบรวมความกล้า ใช้อำนาจของตนเองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำเพื่อประชาชน สร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และหยุดโรงลิเก หลอกต้มประชาชน หยุดการอำนวยการสร้างโรงลิเกสภาโจ๊ก ซีซั่น 2 เพราะเมื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงมีการตีความกำกวมเช่นเดิม และฝ่ายนิติบัญญัติอาจจะถูกตบหน้าซ้ำอีก ทำให้เสียเวลาประเทศ และเสียเวลาชีวิตประชาชน โดยที่ประเทศย่ำอยู่กับที่

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงมติของรัฐสภา ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1 (2) ตามที่ญัตติที่นายแพทย์เปรมศักดิ์ และนายวิสุทธิ์ เป็นผู้เสนอนั้น ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกล้าธรรม พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาชาติ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีรายงานว่า การลงมติสนับสนุนครั้งนี้ ยังเป็นเพียงแค่การส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า มี สว.ส่วนหนึ่ง ที่งดออกเสียง เนื่องจากกังวลว่า หากในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องจัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง ก็อาจจะส่งผลต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในฐานะผู้ที่บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา โดยที่ยังไม่ได้มีการจัดการออกเสียงประชามติก่อน จึงต้องการปกป้องประธานรัฐสภา

 

    News Hub