หนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อน “เกมการเมือง” ซึ่งกำลังดุเดือดอยู่ในขณะนี้ ระหว่างสองพรรคใหญ่ร่วมรัฐบาล คือ เพื่อไทย กับ ภูมิใจไทย เปรยให้ฟังว่า…“เคยคิดมั้ยว่า พฤติกรรมของพรรคภูมิใจไทยเหมือนไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล” จึงไม่แปลกที่สื่อมวลชนจะขนานนามพรรคการเมืองนี้ ในวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา ด้วยฉายา “ภูมิใจขวาง”
เพราะฉายานี้ไม่ได้ “ปังเพราะโชคช่วย” แต่เพราะอยู่ในรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยมาปีเศษๆ มีเรื่องที่ “โดดขวาง” มากกว่าเรื่องสนับสนุน บางคนตั้งคำถามว่า อาจจะขวางเยอะกว่าฝ่ายค้านเสียด้วยซ้ำ
- ขวางกัญชากลับบัญชี “ยาเสพติด”
- ขวางแจกเงินหมื่นเป็นเงินดิจิทัล (ข่วงแรกๆ ออกอาการขวาง ก่อนยอมกลับลำภายหลัง)
- ขวางเอนเตอร์เมนต์คอมเพล็กซ์ (แต่เงียบหลังมีเรื่องแก้ พ.ร.บ.พนัน โยงประเด็นพนันออนไลน์)
- ขวางแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
- ขวางแก้รัฐธรรมนูญ
- ขวางตัดไฟแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (ขอคำสั่งนายกฯ)
ผู้ขับเคลื่อน “เกมการเมือง” ที่เราอ้างถึงนี้ เป็นระดับ “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ยังไม่ใช่ “ขุนพล” และไม่ใช่ระดับ “นายน้อย” หรือ “นายใหญ่” ของเพื่อไทย แต่อารมณ์ความไม่พอใจยังมาขนาดนี้ แล้วลองนึกดูว่า “ผู้มีอำนาจตัวจริง” จะรู้สึกขนาดไหน อย่าลืมว่า สส.พรรคเพื่อไทยเคยออกมาขู่ยุบสภา เพราะรำคาญที่พรรคภูมิใจไทยขวางแก้รัฐธรรมนูญไม่เลิกมาแล้ว และทุกอย่างก็สุกงอมเมื่อเสร็จศึก อบจ. และเกิดปรากฏการณ์ “มอบปี๊บเย้ย”
เหตุการณ์นี้ คุณอนุทิน ก็ยอมรับผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์บางแขนงว่า เป็นประเด็นอ่อนไหวจริงๆ แม้จะพยายามชี้แจงว่าได้ห้ามปรามทีมงานแล้ว เพราะยังมีปี๊บเตรียมไว้อีก 11 ใบ (ครบโหล) และไม่ได้จงใจเย้ย “นายใหญ่” เพราะเป็นเกมกดดันที่ตนขิงทีมงานหาเสียงที่ศรีสะเกษว่า ถ้าแพ้ให้หาปี๊บมาคลุมหัว (ทีมงาน) แต่ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไร เรื่องราวก็ Go so big ไปกันใหญ่แล้ว เพราะหลังจากนั้นดูเหมือนเกมเอาคืนจะ “ข้นคลั่ก” เมื่อตรวจสอบเชิงลึกถึงเบื้องหลังปฏิบัติการ “ล้างแค้น - เอาคืน” พบว่ามีแรงแค้น 2 แรงบวก
หนึ่ง - แรงแค้นนายใหญ่ จากภาพบาดใจ “มอบปี๊บเย้ย” บวกกับความต้องการปรับ ครม. ริบกระทรวงเกรดเอคืนมา โดยเฉพาะมหาดไทย
สอง - แรงแค้นจาก “คนโตสามดาว” เพราะรู้เรื่องราวการเดินเกมเชือดในองค์กรอิสระจากน้ำมือ “คนโตเขากระโดง” แต่เจ้าตัวสกัดทัน จึงแก้แค้น บวกกับความต้องการปรับ ครม. เพื่อเข้ามามีอำนาจเต็มมืออีกรอบ จึงเปิดเกมลุย
แต่การจะปรับ ครม.ต้องหาเหตุ และเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุด คือ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พูดง่ายๆ คือ “ยืมมือฝ่ายค้าน จัดการพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน” นั่นเอง และพรรคภูมิใจไทยก็เป็น “เป้าใหญ่ที่สุด” ในการอภิปรายของฝ่ายค้านรอบนี้
กระทรวงสำคัญที่ฝ่ายค้านล็อกเป้าซักฟอกแน่นอน 1 กระทรวง และอยู่ในความรับผิดชอบของพรรคภูมิใจไทยด้วย ก็คือ กระทรวงมหาดไทย ประเด็นอภิปรายหลักๆ มี 2 ประเด็น คือ
1. การแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ด้วยการ “ตัดไฟ” ซึ่งถือเป็น “ท่อน้ำเลี้ยงสำคัญ” ของขบวนการหลอกลวงออนไลน์ ในเมืองศูนย์กลางสแกมเมอร์โลก อย่างเมียวดี เป็นไปด้วยความล่าช้า
- ออกแนว ยึกยัก เล่นแง่ หรือไม่
- มีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า
- หรือว่าเล่นเกมการเมือง จนประเทศชาติเสียหาย
ประเด็นนี้ สส.รังสิมันต์ โรม จากพรรคประชาชน จัดหนักแน่นอน เพราะปัญหานี้ชัดเจนที่สุดที่ทำให้เกิดความล่าช้า แต่หลังจาก “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย เข้ามาคุมเกม ทุกอย่ากลับดูรวดเร็ว คืบหน้า และมีผลสัมฤทธิ์บางส่วน ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้รับผิดชอบในเบื้องต้น คือ รมว.มหาดไทย เหตุใดจึงไม่ยอมทำ
2. ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ประเด็นนี้ทับซ้อนกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง 2 ประเด็น
- กำกับดูแลกรมที่ดิน
- รีสอร์ทและสนามกอล์ฟหรู “แรนโช ชาญวีร์” เป็นกิจการของคนในตระกูลรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง
สองประเด็นนี้วนเป็นงูกินหางกลับมาที่กรมที่ดินว่าจะจัดการอย่างไร และรัฐมนตรีเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของกรมที่ดิน
สงครามตัวแทน “เกมริบมหาดไทย”
ปัญหาสนามกอล์ฟแห่งนี้ กำลังมีประเด็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ และอาจไม่ใช่ “เรื่องการเมือง” เสียทีเดียว เพราะข้อมูลจาก นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ยืนยันว่า ตรวจที่ดินแถบนั้นทุกแปลง และทำมาตลอด เพราะมีปัญหาทับซ้อนกับที่ ส.ป.ก. หรือ เขตปฏิรูปที่ิดิน ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรฯ ประเด็นที่ต้องจับจ้อง “ตาไม่กระพริบ” คือภาพ 5 ภาพนี้ เป็นข้อมูลที่เราได้มาจากแหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯ
ภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่า แนวเขตของ แรนโช ชาญวีร์ คร่อมอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง และอีกส่วนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน
ภาพที่ 2 จะยิ่งชัดเจนขึ้น เป็นภาพที่เห็นภาพรวมมากขึ้น คือ พื้นที่ของ แรนโช ชาญวีร์ สีม่วงๆ คร่อมอยู่ใน 2 พื้นที่ และถือเป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเอง ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปทีด่ิน
ภาพที่ 3 เป็นความแปลกที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า พื้นที่แนวเขตนิคมสร้างตนเองที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน เหมือนบวมออกมานั้น ทำไมมันถึงมีสภาพเป็นเหลี่ยมๆ เหมือนจงใจขีด ไม่ค่อยเป็นแนวธรรมชาติ
ภาพที่ 4 และ 5 เป็นภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบกัน ระหว่างปี 2546 กับ 2553 พื้นที่เปลี่ยนไปช่วงไหน เข้าไปพัฒนาสร้างรีสอร์ท และสนามกอล์ฟ กันในห้วงเวลาใด และห้วงเวลาเหล่านั้นได้โฉนดมาแล้วหรือไม่ รวมถึงใครเป็นรัฐมนตรีที่่ดูแลกระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดิน
ประเด็นที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความว่า...
- พื้นที่สวนป่าในเขต อ.ปากช่อง ซึ่งมีราษฎรถือใบแจ้งครอบครองที่ดิน หรือ ส.ค.1 และนำไปเปลี่ยนเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3 ก. รวมทั้งขอออกเป็นโฉนดในเวลาต่อมานั้น หากได้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหลังปีที่ประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้ คือ พ.ศ.2497 ให้ถือว่าการออกเอกสารนั้น เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- แม้ที่ดินนั้นจะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่เมื่อกระทรวงเกษตรฯยังไม่ประกาศแนวเขต ก็ยังต้องถือเป็นพื้นที่ป่า
- พื้นที่ทับซ้อนระหว่างนิคมสร้างตนเอง กับเขตปฏิรูปที่ดิน การออกโฉนดจึงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้แปลงมาจาก น.ค.1 - น.ค.3 ซึ่งหมายถึงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนิคมสร้างตนเอง ซึ่งสามารถแปลงเป็นโฉนดได้ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย หากครอบครองทำประโยชน์ครบ 5 ปี (น.ค.3)
ฉะนั้นการที่ใครบางคนมั่นใจว่า การได้โฉนดมาภายหลังย่อมไม่ผิด และหากที่ดินมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ ก็จะได้รับเงินชดเชยนั้น อาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะสิทธิ์ที่ได้รับตามเอกสารมันไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก เนื่องจากแนวเขตที่ดินอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างนิคมสร้างตนเอง กับเขตปฏิรูปที่ดิน แล้วโฉนดออกมาได้อย่างไร
ข่าวว่าฝ่ายค้านเตรียมข้อมูลอภิปราย ซึ่งก็มีข้อมูลไหลเข้ามือฝ่ายค้านเป็นระลอก
- ถ้าผู้รับผิดชอบโดยตรงชี้แจงไม่ได้ จะเป็นเหตุให้มีปัญหาในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่
- การอยู่ในกระทรวงมหาดไทยต่อไป ถือเป็น “การทับซ้อนกันของผลประโยชน์” ระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่
หรือนี่คือแผนลึก ริบมหาดไทย โดยใช้ “2 ธ.” กับ “2 น.” เป็นสงครามตัวแทน