13 กุมภาพันธ์ 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมกรณีปัญหาท่าข้ามชายแดนที่มีความเชื่อมโยง กับเรื่องแก๊งคอลเซนเตอร์ ว่า เมื่อพูดถึงแก๊งคอลเซนเตอร์ ไม่ได้มีแค่เฉพาะไฟฟ้าอินเตอร์เน็ต และน้ำมัน
แต่พบว่าสิ่งที่เป็นการเอื้ออำนวยต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์คือท่าข้ามทั้ง 59 ท่า ซึ่ง จ.ตาก มีท่าข้ามมากที่สุดในประเทศไทย ที่ต้องโฟกัสท่าข้าม เพราะท่าข้ามคือจุดที่มีการส่งสิ่งผิดกฎหมายจำนวนมาก
วันนี้ได้รับข้อมูลว่า การส่งสินค้าจาก จ.ตาก ไปที่เมียวดี หรือฝั่งตรงข้าม 60% มาจากท่าข้ามทั้งสิ้น ซึ่งวันนี้ สมช. ให้ข้อมูลว่า โดยหลักการแล้วการเปิดท่าข้าม ต้องเปิดในกรณีที่จำเป็นจริงๆ และเป็นกรณีชั่วคราว แต่ใน กมธ. พบข้อเท็จจริงว่า ท่าข้ามทั้ง 59 แห่ง เปิดมานานแล้ว
รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
โดยหลังโควิดก็มีการเปิดเพิ่มเติมอีก 9 ท่า อีกทั้งได้รับทราบว่าไม่เคยมีการปิดท่าเลย ดังนั้นเรื่องท่าข้ามจึงเป็นจุดที่มีความสำคัญและมีปัญหาในเชิงกฎหมาย ว่าที่เปิดกันอยู่มีความชอบด้วยกฎหมายมากน้อยแค่ไหน กมธ. จึงให้ทางจังหวัดรวบรวมข้อมูล ซึ่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ กมธ.จะลงพื้นที่แม่สอด ให้เขารวบรวมว่าวัตถุประสงค์ของการเปิดท่าข้ามเป็นอย่างไร และมีความตั้งใจที่จะเปิดยาวนานแค่ไหน เพราะตามข้อกฎหมาย การจะเปิดและปิดท่าข้าม ต้องมีระยะเวลา
ทั้งนี้ สมช. พูดอย่างชัดเจนว่า การค้าขายอยากให้ใช้ช่องทางปกติที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ นั่นคือด่านถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่านแดนที่ได้รับการผ่อนปรนเป็นกรณีพิเศษ แต่ถ้าเป็นท่าข้ามก็จะมีช่องโหว่ในทางกฎหมาย และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงก็พบว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรบางคนต้องดูแลถ้า 3-5 ท่า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกันการลักลอบทำผิดกฎหมาย เป็นฟันหลอที่เกิดขึ้นอยู่
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ตนเข้าใจมาตลอดว่า ท่าข้ามเป็นเรื่องของมหาดไทย แต่สรุปแล้วเป็นอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากร ในการกำหนดให้เปิดหรือปิด โดยที่ศูนย์สั่งการจังหวัดและหน่วยงานความมั่นคง เป็นแค่ผู้ให้ข้อมูลและให้คำชี้แนะเท่านั้น วันนี้ สมช. พูดอย่างชัดเจนว่า ท่าข้ามเหล่านี้น่าจะกระทบต่อความมั่นคง เพราะอาจถูกใช้เพื่อส่งเสริมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่อไป
“สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อคือ วันนี้เราเห็นประโยชน์การค้า แต่ภัยร้ายของเราคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แล้วจะดำเนินการอย่างไร แต่เราต้องคุยกันตรงไปตรงมา ว่าที่ผ่านมาที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใหญ่โตขนาดนี้ เราได้เห็นถึงจุดอ่อนแล้ว และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรับผิดชอบอะไรเลย ในการเป็นผู้สนับสนุนให้บรรดาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เติบใหญ่”
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า วันนี้การขนส่ง สินค้า แม้กระทั่งการเอกซเรย์ต่างๆ ก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่เพียงพอ จำนวนคนก็ไม่พอ ชายแดนอ่อนแอแบบนี้เพราะ เราไม่มีศักยภาพที่จะดูแลได้อย่างเข้มแข็ง ก็อยากใช้โอกาสนี้ส่งไปถึงรัฐบาลว่าต้องมีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรในการป้องกันจุดอ่อนทั้งหลาย และตนกำลังชี้ให้เห็นว่าท่าข้ามถ้าไม่สามารถเพิ่มศักยภาพในการดูแลได้จริงๆ ก็อาจจะกลายเป็นความเสียหายต่อประเทศชาติต่อไป
“ปกติท่าข้ามเปิด 6.00-18.00 หรือ 18.30 น. ผมได้รับการร้องเรียนเยอะมาก ปัจจุบันประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง บริเวณท่าข้ามฝั่งตรงข้ามเมียวดี ก็ยังมีการข้ามกันอยู่ ผมไม่รู้ว่าจริงเท็จอย่างไร แต่ก็พยายามแจ้งกับหน่วยงานในที่ประชุม กมธ. ว่ามีเรื่องร้องเรียนแบบนี้ ดังนั้นระยะกลางระยะยาวก็ต้องคิดว่าจะสร้างกลไกอย่างไร ในการป้องกันไม่ให้แก๊งคอลเซนเตอร์ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ และแม้ว่าถ้าเราปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ จะทำอย่างไรไม่ให้กลับมาอีก
อย่างไรก็ตาม วันที่ 16 กุมภาพันธ์ กมธ. จะเชิญ สมช. ลงพื้นที่แม่สอด จ.ตาก และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ จะไปพิษณุโลก เพื่อคุยกับกองทัพภาคที่ 3 โดยแก๊งคอลเซนเตอร์เป็นภัยร้ายต่อพวกทุกคน ไม่อยากให้เรื่องนี้จบที่ความเงียบ แต่จบที่ผลสำเร็จ และความโปร่งใส จบที่ทุนไทยเทาถูกเอาไปดำเนินคดี ถ้าไม่มีทุนไทยเทา ปัญหาหลายอย่างของประเทศจะดีกว่านี้ ขอร้องสื่อมวลชนช่วยกันเป็นกระบอกเสียงและติดตามเรื่องนี้ต่อไป และหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการจัดการปัญหานี้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งจะติดตามเรื่องของหม่องชิตตูด้วย
เมิ่อถามว่า กรมสอบสวนพิเศษ และอัยการ มีการนัดหารือเพื่อสรุปว่าจะสามารถออกหมายจับหม่องชิตตู ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ นายรังสิมันต์ ระบุว่า จากข้อมูลที่ตนมี ยังเชื่อว่าจะสามารถออกหมายจับได้ แต่ในรายละเอียดขอดูข้อมูลอีกประมาณ 1-2 วันหลังจากนี้