11 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 มีมติ เห็นชอบในหลักการ "ร่างกม.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร" หรือ "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์"
โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกฤษฎีกานำไปตรวจร่าง โดยวางกรอบเวลาทำงาน 50 วัน ก่อนเสนอกลับเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อเห็นชอบส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯต่อไปนั้น
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดย"ปกรณ์ นิลประพันธ์" เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ"ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" พร้อมกับเปิดระบบการรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านช่องทางเว็ปไซต์สำนักงาน ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม -14 กุมภาพันธ์ 2568 หรือ 15 วัน ซึ่งผ่านมาถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้ขอเข้ามาแสดงความเห็นกว่าห้าหมื่นคน เป็นจำนวนตัวเลขที่สูงมากนับตั้งแต่มีการเปิดรับฟังความเห็นร่างกฎหมายฉบับต่างๆ
ทั้งนี้ เว็ปไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ได้เปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2568 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 หรือเหลือเวลาเพียง 4 วัน จะปิดระบบการรับฟังความเห็น โดยมีผู้เข้ามาแสดงความเห็น ทั้งเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขร่างกม. ทั้งการเสนอผลกระทบมิติต่างๆ ทั้งการสนับสนุนและคัดค้าน รวมเป็นจำนวน 58,448 คน
การเปิดรับฟังความเห็นครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สอง หลังจากจากครั้งแรก "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" ได้เปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2567 – 18 สิงหาคม 2567 ปรากฎว่ามีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวน 4,908 คน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เปิดรับแสดงความเห็นร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ครั้งที่ 1
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาเปิดรับฟังความเห็นร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ครั้งที่ 2
การเปิดรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ที่มีจำนวนผู้แสดงความเห็นกว่าครึ่งแสน สะท้อนให้เห็นว่า "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ได้รับความสนใจในวงกว้างมากขึ้น เมื่อเทียบกับการเปิดแสดงความเห็นครั้งแรกเพียงแค่หลักพัน ในระยะเวลาการดำเนินโครงการใกล้เคียงกัน คือ 15 วัน
นอกจากนี้ "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ยังถูกจับตามองโดยเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลมีความต้องการผลักดัน สถานกาสิโนอย่างถูกกฎหมาย อยู่ในเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ยังไม่สามารถตกผลึกความคิดในเรื่องการกำหนดสัดส่วนพื้นที่เป็นขนาดเท่าใด
อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบาย สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา ทำให้มีการยกร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวและสถานบันเทิงหลากหลายประเภทไว้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถสร้างงานและสร้างรายได้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงยังคงถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและกฎหมายที่ว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของบ้านเมืองและประชาชน โดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ให้คำนิยาม "สถานบริการ" หมายถึง สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้า
เช่น 1) สถานเต้นรำ รำวง หรือ รองเง็ง ประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ 2) สถานที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า 3) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า และ 4) สถานที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอย่างอื่นเพื่อความบันเทิง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะสถานบริการและสถานบันเทิง ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้รายได้ของประชาชนที่ประกอบอาชีพอยู่ในภาคบริการ และรายได้จากนักท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศลดลงเป็นจำนวนมาก และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มผ่อนคลายลงจึงเป็นช่วงเวลาอันดีที่จะพิจารณากลไกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมกลุ่ม Fun Economy ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่การท่องเที่ยว กีฬา สถานบันเทิง ธุรกิจ และการประชุมสัมมนาหรือไมซ์ (MICE) ทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อยอด โดยหนึ่งในแนวทางที่ดำเนินการได้ คือ การสร้างสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อเป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจบันเทิงที่มีองค์ประกอบของธุรกิจหลากหลายประเภทรวมกัน เช่น โรงแรม ศูนย์การประชุม ศูนย์การจัดแสดงสินค้า ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ธนาคาร สวนสนุก สนามกีฬา เป็นต้น ร่วมกับกาสิโน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่และสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ และเป็นการทำให้ธุรกิจกาสิโนเข้ามาอยู่ในระบบการบริหารจัดการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลและจัดเก็บภาษีจากสถานบันเทิงครบวงจรดังกล่าวเพื่อเป็นรายได้ของประเทศได้
ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย
กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันที่มีความใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ได้แก่
1) พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้กำหนดคำนิยาม “สถานบริการ” ไว้ ดังที่ได้แสดงข้างต้น
2) พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และประเภทการพนันที่อนุญาตให้มี หรือเข้าเล่น หรือเข้าพนันได้ และ
3) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงื่อนไขการพนัน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 (ฉบับที่ 2) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2482) โดยมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ระบุว่า การพนันบางรายการจะจัดให้มี เข้าเล่น หรือเข้าพนันได้ ณ สถานกาสิโนของรัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดตั้งขึ้น อย่างไรก็ดี กฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวได้ถูกใช้บังคับมาเป็นเวลานานมาก และยังไม่ครอบคลุมรูปแบบการดำเนินการและประเภทธุรกิจที่จะจัดให้มีขึ้นในสถานบันเทิงครบวงจร ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมกลุ่ม Fun Economy ของประเทศ ผ่านการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการ ตลอดจนการกำกับดูแลที่รอบคอบ ครอบคลุม และชัดเจน จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายฉบับนี้
ความมุ่งหมายและผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์
การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรมีกฎหมายรองรับการดำเนินการ มีมาตรการเพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบการ (นักลงทุน) แรงงาน ผู้เล่นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และมีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่ประชาชนอาจได้รับจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร รวมไปถึงการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมกลุ่ม Fun Economy ซึ่งสร้างรายได้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการ และส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น
ไทม์ไลน์ การผลักดันร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
- ครม.ยุคเศรษฐา มีมติ เห็นชอบรายงานผลการศึกษา กมธ.สภาฯ และมอบหมายกระทรวงการคลังรับไปยกร่าง กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
- สคก.เปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่ 2 สิงหาคม - 18 สิงหาคม มีผู้เข้ามาเสนอความเห็น 4,908 คน
13 ม.ค. 68 ครม.แพทองธาร เห็นชอบในหลักการร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มอบหมายกฤษฏีกาตรวจพิจารณา
-สคก. เปิดรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม -14 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้เข้ามาแสดงคงวามเห็น 51,837 คน
-สคก. เสนอ ครม. เพื่อส่งเข้าสภา ภายใน 1-2 เดือน หรือ กุมภาพันธ์ -มีนาคม 2568 นี้