svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เรื่องเล็ก... การปรับครม. เรื่องใหญ่... ล้ม สว.สีน้ำเงิน

11 กุมภาพันธ์ 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

เมื่อการปรับ ครม. เป็นเพียงเกมเก้าอี้ดนตรี ที่หมุนเวียนตำแหน่งเพื่อรักษาสมดุลอำนาจ การเคลื่อนไหวเพื่อล้ม สว.สีน้ำเงิน กลับเป็นศึกใหญ่ที่อาจเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย

เป็นธรรมดาของข่าวปรับ ครม. ที่เวลาเริ่มมีปรากฏออกมาสู่สาธารณะ ก็จะมีคนออกมาปฏิเสธเสียงแข็ง บางคนร่วมจัดโผเอง ก็ยังไม่ยอมรับ 

แต่ “วงในผู้มีอำนาจ” ใน “รัฐบาลพ่อเลี้ยง” ยืนยันว่า หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีปรับ ครม.ใหญ่แน่นอน เพียงแต่ตำแหน่งไหน ใครสลับกับใคร ใครเข้า ใครเก็บของ ยังเขย่าได้อีกนาน และยังไม่นิ่งง่ายๆ เพราะการเมืองคือเรื่องผลประโยชน์และการต่อรอง 

 

เหตุผลของการปรับ ครม.รอบนี้ มี 3-4 เหตุผลหลักๆ คือ 

- ผลงานยังไม่โดนใจ “นายใหญ่” โดยเฉพาะรัฐมนตรีหลายกระทรวง ทำงานไม่เข้าตา

- รัฐมนตรีหลายคนยังเฉื่อย ไม่กระฉับกระเฉงมากพอ อาจวางตัวไม่เหมาะกับงาน จึงต้องมีกรขยับ 

- ปรับตามวาระ หมุนตำแหน่งเหมือน “เก้าอี้ดนตรี” เพื่อตอบแทนบุญคุณทางการเมือง บางคนหมดโปรฯ บางคนกำลังจะได้โปรฯ

- แก้แค้นเอาคืนพรรคเจ้าเล่ห์ รัฐมนตรีอีแอบ ตามที่ “นายใหญ่” เคยพูดเอาไว้ ทั้งเวทีสัมนาพรรค และเวทีปราศรัยนายก อบจ. รวมถึงล่าสุดบนเวทีพบปะ “คนเสื้อแดง กทม.” ทั้ง “ปากอย่างใจอย่าง” และพวกพกมีด ซ่อนมีด เป็นฤทธิ์มีดสั้น เหมือน “ลี้คิมฮวง” 

 

ย้อนวาทกรรม “นายใหญ่” ตั้งแต่ “อีแอบ - เจ้าเล่ห์ - รมต.รำวง ไม่ยอมตัดสินใจ - ปากอย่างใจอย่าง - ลี้คิมฮวง” คุณผู้อ่านคิดว่าหมายถึงใคร และเชื่อจริงๆ หรือว่าจะไม่มีการเอาคืนด้วยการริบกระทรวง ปรับ ครม.  ตอนนี้ข่าวทุกกระแสตรวจสอบตรงกันหมดแล้ว ตามที่รายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี เปิดประเด็นเอาไว้เป็นสื่อแรกๆ ว่า ภาพบาดตาที่ “นายใหญ่” ยอมไม่ได้จริงๆ ก็คือภาพจากปาร์ตี้แสดงความยินดีกับชัยชนะนายก อบจ.ศรีสะเกษ ที่การหิ้วปี๊บไปมอบในลีลาเย้ยหยัน 

 

จากนั้นความอดทนก็หมดลง และเริ่มปฏิบัติการ “เอาคืน”

 

 

จากเหตุผลทั้งหมด ทำให้การปรับ ครม. จะพุ่งไปที่กระทรวง 3 กลุ่มคือ 

 

หนึ่ง กลุ่มกระทรวงภูมิใจไทย ได้แก่ มหาดไทย ศึกษาฯ แรงงาน - เพราะทำงานไม่ได้ผลตามที่พรรคแกนนำรัฐบาลต้องการ แถมยังออกอาการดื้อ และสวนกลับนายกฯแพทองธาร รวมถึงพรรคแกนนำ เช่น ขึ้นค่าแรงไม่ได้ตามเป้า, ไม่ยอมตัดไฟแก๊งคอลฯ ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม  ฉะนั้นจึงต้องปรับตัวคน หรือหมุนกระทรวง เพื่อสร้างผลงานในเวลาที่เหลือ และริบกระทรวงสำคัญกลับคืนมา โดยเฉพาะมหาดไทย กับอีกเหตุผลหนึ่งคือ  “แก้แค้นเอาคืน” จากศึก อบจ. 

 

สอง กลุ่มงานพลังงาน เพราะคุมรัฐมนตรีไม่อยู่ แสดงท่าที “เล่นคนละคีย์” กับนายกฯ และพรรคแกนนำ รวมถึงขัดกับกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล จึงต้องริบคืน โดยมีเป้าหมายรองคือ ตัดกำลัง “พรรคสีธงชาติ” 

 

สาม กลุ่มผลงานไม่เข้าตา เป็นกระทรวงในโควต้าเพื่อไทยเองบางกระทรวง ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มออกมาปฏิเสธกันแล้ว คนที่ปฏิเสธคือคนที่อยู่ในเป้าหมาย ไปเช็คกันดูได้

 

นาทีนี้เริ่มมีการวางตุ๊กตากันแล้วว่า ถ้าขยับคนนี้ออกจากกระทรวง A จะไปวางที่กระทรวงไหน ถ้าปรับพรรคนี้ออกไป จะได้ สส.จากค่ายไหน กลุ่มใดมาชดเชย เงื่อนไขชี้ขาดสถานการณ์อยู่ที่ผลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และคดี 44 อดีต สส.ก้าวไกลที่โดนร้องเรื่องมาตรฐานจริยธรรม กรณีเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

 

เพราะหากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิด และส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา อดีต สส.ก้าวไกลทั้งหมดต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยในจำนวน 44 คนนี้ มี 25 คนที่ยังมีสถานะเป็น สส.อยู่ในสภาชุดปัจจุบัน ในสังกัดพรรคประชาชน หาก สส.หายไปอีก 25 คนเพราะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เสียงในสภาจะลดลง และเสียง “กึ่งหนึ่งของสภา” ก็จะลดลงด้วย เหลือราวๆ 235 เสียงเท่านั้น ทำให้พรรคแกนนำอย่างเพื่อไทยมี “ช่องว่าง” มากขึ้นในการขยับปรับ ครม. คือ สามารถปรับได้ทั้งในแบบ ปรับตำแหน่งในพรรคร่วมฯเดิม และปรับพรรคร่วมรัฐบาล พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ โอกาสของการลงมือแก้แค้นเอาคืนทางการเมือง ก็เปิดกว้างมากขึ้น 

 

แต่ล่าสุด เกมนี้อาจมี “สับขาหลอก” เพราะปรับ ครม.ในแบบ “ถีบบางพรรคออก” ยังต้องอาศัยจังหวะเวลาหลายอย่างที่ลงตัวจริงๆ 

 

ทว่ามีอีกเรื่องที่กำลังจะถึงไคลแม็กซ์ ก็คือ การตรวจสอบข้อร้องเรียนความไม่สุจริตเที่ยงธรรมในกระบวนการคัดเลือก สว. หรือ สมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการฮั้ว ให้ผลประโยชน์ แลกผลประโยชน์ และเครือข่ายการเมืองจัดตั้ง จนทำให้ได้มาซึ่ง สว.กลุ่มหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นเครือข่ายจัดตั้งเดียวกัน ที่สังคมเรียกขานกันว่า “สว.สีน้ำเงิน” 

 

ช่วงก่อนที่ กกต.จะประกาศรับรอง สว.ชุดนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหากระบวนการได้มาซึ่ง สว.มากมาย สุดท้ายมีการตั้ง “หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย” จากภายนอก กกต. ร่วมตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ มีทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องของ “อดีต สว.ชุดตัวตึง (ชุด คสช.)” ที่ยื่นให้ศาลวินิจฉัยว่า กระบวนการได้มาซึ่ง สว.เป็นโมฆะ ทำให้สังคมเข้าใจว่า “ทุกอย่างจบ - end game”

 

แต่แม้เรื่องจะเงียบไป หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายยังคงทำหน้าที่ต่อ และล่าสุดวันนี้ตอนสายๆ จะมีอีเวนท์ “สว.สำรอง” รวมตัวเข้าพบอธิบดีดีเอสไอ เพื่อยื่นหนังสือให้รับคดีการสอบสวน “โพยฮั้ว สว.” เป็นคดีพิเศษ​ ข่าววงในแจ้งว่า การไปยื่นหนังสือ เป็นเพียง “อีเวนท์” เพื่อให้เป็นข่าว ให้สังคมหันมาสนใจ แต่จริงๆ “หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย” โดยเฉพาะ ดีเอสไอ ได้ตรวจสอบ เก็บข้อมูล และสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตลอด พบความเชื่อมโยงที่เป็นความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการคัดเลือก สว. โดยเฉพาะในระดับประเทศ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงระดับจังหวัดและอำเภอได้ 

 

 - มีการจัดตั้งเป็นเครือข่ายเดียวกันมา 

 - เข้าพักสถานที่เดียวกันก่อนเลือก ทั้งๆ ที่มาจากคนละจังหวัด คนละภูมิภาค 

 - มีการจัดประชุมกันทั้งก่อนและหลังการเลือก ทั้งๆ ที่ไม่ได้่รู้จักกัน ไม่ได้อยู่กลุ่มสาขาอาชีพเดียวกัน 

 - หลังจากเลือกแล้ว ก็นัดพบปะกัน 

 - มีการจ่ายผลประโยชน์ เจรจาตกลง และมีคนที่ยอมให้ถ้อยคำ 

 - หลังจากเข้าไปทำหน้าที่ สว.แล้ว ก็มีการจัดสรรตำแหน่งในกรรมาธิการต่างๆ เชื่อมโยงกลุ่มบุคคลที่ร่วมเคลื่อนไหว เข้าพัก จัดประชุม และลงคะแนนเลือกกันเองร่วมกันมา จึงเชื่อได้ว่าเป็นเครือข่ายเดียวกันทั้งหมด 

 

ข่าวแจ้งว่า ดีเอสไอมีแนวโน้มรับเรื่องนี้ไว้เป็น “คดีพิเศษ” และจะดำเนินการต่อในข้อกล่าวหาที่เกี่ยวพันกับโทษอาญา คือ ผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ (ทำให้รับเป็นคดีพิเศษได้) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ว่าด้วยอั้งยี่ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) ว่าด้วยการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เป็นความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. มาตรา 77 เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ซึ่งก็มีข่าววงในแจ้งว่า น่าจะมีการชี้มูลความผิด สว.ล็อตแรกที่มีปัญหาทั้งเรื่องคุณสมบัติ และกระบวนการคัดเลือกที่เข้าข่ายมิชอบ ในเร็ววันนี้ 

 

ทำไมถึงมองว่าเรื่องนี้เป็น “เกมใหญ่” ยิ่งกว่าปรับ ครม. คำตอบก็คือ การหยิบประเด็นนี้มาขับเคลื่อนในช่วงนี้ เป้าหมายคือ “สว.สีน้ำเงิน” จำนวน 140+ ซึ่งเป็นฐานอำนาจของบางพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล เพื่อดักทางไม่ให้ใช้ สว.เป็นเงื่อนไขต่อรองพรรคแกนนำเหมือนที่ผ่านๆ มา พูดง่ายๆ คือเปิดทาง เพิ่มโอกาสให้การ “แก้แค้น เอาคืน” บางพรรคทำได้ง่ายขึ้นนั่นเอง 

 

ลองคิดดู หาก สว.ล้ม สมาชิกส่วนใหญ่ขาดคุณสมบัติ สมการการเมืองจะเปลี่ยนทันที พรรคเพื่อไทยจะเป็น “ผู้นำเดี่ยว” อย่างเบ็ดเสร็จ และแข็งแกรงที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะพรรคสีส้มยังต้องเผชิญกับการถูกสอย 44 สส. (ต้วเลขจริงของ สส.ปัจจุบัน คือ 25) หรือถ้าหากล้มสภาสูงไม่ได้ เพราะเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่การที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ย่อมบังคับวิถีทำให้การเคลื่อนไหวของ “สว.สีน้ำเงิน” ไม่สะดวก ง่ายดายเหมือนเก่า 

 

เกมนิติสงครามจะถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง โดยที่ฝ่ายน้ำเงินก็มี “ชนักติดหลัง” และอาจถูกฟาดฟันจากอีกฝ่ายได้เหมือนกัน นี่อาจเป็นอีกหนึ่ง “เกมรุกฆาต” ที่ถูกหยิบมาเล่นควบคู่กับการปรับ ครม. แต่บทสรุปสุดท้ายเท่าที่ฟังมา น่าจะเล่นกันหนักกว่าปรับ ครม. เข้าขั้นสาหัสกันเลยทีเดียว!

 

logoline