svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สุริยะ" หั่นงบกลาง เหลือ 185 ล้าน ชดเชย เฉพาะ"บีทีเอส-ขสมก." ช่วงขึ้นฟรี 7วัน

28 มกราคม 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

"สุริยะ" หั่นงบกลางแล้ว เหลือ 185 ล้านชดเชยเฉพาะบีทีเอส-ขสมก. จากเดิมขอ 329 ล้าน ชี้ รฟม. มีรายได้ให้จ่ายเอง 144 ล้าน ด้าน"สามารถ ราชพลสิทธิ์" ซัด รถไฟฟ้าแน่น แต่บนถนนรถยังติดหนัก คิดแล้ว 140 ล้าน ไม่พอแน่

28 มกราคม 2568  "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หลังกระทรวงคมนาคมจะของบกลาง 329 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการ จากมาตรการรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี ว่า ในส่วนของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ 133.84 ล้านบาท และจ่ายชดเชยให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. 51.7 ล้านบาท รวมแล้วจะเสนอขอ งบกลางทั้งสิ้น 185.54 ล้านบาท

ส่วนเงินชดเชยที่จะจ่ายให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เดิมที กระทรวงฯ คาดว่าจะใช้งบกลางมาจ่ายชดเชย จำนวน 144 ล้านบาท  แต่ถูกมองว่า รฟม. มีรายได้เป็นของตัวเอง ก็ให้ใช้งบประมาณของรฟม. เอง ซึ่งสาเหตุที่ต้องตัดงบประมาณตรงนี้ออก เพราะรัฐบาลต้องการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ หากหน่วยงานไหนมีรายได้เป็นของตัวเองและมีเพียงพอ ก็ให้ใช้รายได้ของตัวเองไปก่อน ดังนั้นเรื่องนี้ก็ให้รฟม. รับภาระไป

ขณะเดียวกัน เรื่องจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นมาเฉลี่ย 5 แสนคน ในส่วนนี้กระทรวงคมนาคมจะไปต่อรองกับผู้ประกอบการ ว่าจะไม่ชดเชยให้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนได้พูดคุยกับผู้ประกอบการแล้ว และผู้ประกอบการก็รับในหลักการดังกล่าว

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม

เมื่อถามว่า บริษัท บีทีเอส ต้องการวางบิลที่ 200 ล้านบาท แต่จะจ่ายให้แค่ 133 ล้านบาท ใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า คิดว่าบริษัท บีทีเอส คงจะคิดตามข้อเท็จจริง ที่ว่ามีผู้ใช้บริการเท่าใดก็จะเก็บเงินเท่านั้น แต่รัฐบาลจะจ่ายชดเชยตามตัวเลขที่เปิดให้บริการฟรี 7 วัน ซึ่งในหลักการเชื่อว่าไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม  มีรายงานว่า ในวันนี้ ครม. ยังไม่มีการพิจารณางบกลางเพื่อชดเชยผู้ประกอบการรถไฟฟ้า และ ขสมก. แต่อย่างใด

รถไฟฟ้าแน่น แต่บนถนนรถยังติดหนัก คิดแล้ว 140 ล้าน ไม่พอแน่

ด้าน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  อดีตรองผู้ว่ากทม.  โพสต์ข้อความ แสดงความเห็น มาตรการให้ขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี 7 วัน ระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2568 เพื่อลดฝุ่นพิษ PM2.5   โดยระบุว่า  ผ่านไปแล้ว 3 วัน ผู้เกี่ยวข้องดีอกดีใจกันใหญ่ ป่าวประกาศว่ามีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก แต่ไม่ยอมแสดงผลการนับปริมาณรถแยกตามประเภทว่ารถยนต์ส่วนบุคคลลดลงตามที่คาดหวังไว้หรือไม่? จากการติดตามการใช้มาตรการนี้ ผมมีข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะรัฐบาล 3 ข้อ ดังนี้

1. เงินชดเชยจาก 140 ล้าน เพิ่มเป็น 329 ล้าน จะไม่ขอเพิ่มอีก แน่นะ?

ก่อนที่ รมว.คมนาคมจะชี้แจงว่าเงินชดเชย 140 ล้านบาท ไม่พอต้องขอเพิ่มเป็น 329 ล้านบาทนั้น ผมได้ให้สัมภาษณ์หลายรายการว่า 140 ล้านบาท ไม่พอที่จะชดเชยผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกสี รวมทั้งผู้ประกอบการรถเมล์ (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.) แน่นอน ถึงวันนี้ ขอให้ รมว.คมนาคม ยืนยันว่าจะใช้เงินชดเชยผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกสี รวมทั้งรถเมล์ ขสมก.ไม่เกิน 329 ล้านบาทแน่ จะไม่ขอเพิ่มอีก เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาก ผมคาดว่าจะต้องใช้เงินชดเชยมากกว่านี้ ทั้งนี้ นอกจากรัฐจะไม่ยอมจ่ายค่าโดยสารให้ผู้ประกอบการในส่วนผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น วงเงิน 329 ล้านบาท ก็อาจจะพอ

ด้วยเหตุนี้ ผู้เกี่ยวข้องควรเปิดเผยการคำนวณเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าและรถเมล์อย่างละเอียดต่อสาธารณชน

2. การคำนวณอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารรถไฟฟ้า น่าฉงน?

หลังจากใช้มาตรการนี้ในวันแรกคือวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 ผู้เกี่ยวข้องพากันดีอกดีใจกันใหญ่พร้อมกับประกาศก้องว่า มีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 45% ผมแปลกใจว่าเขาคิดได้อย่างไร? จึงตามไปดู พบว่าเขาใช้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าในวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 ลบด้วยปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ย 3 วัน ประกอบด้วยวันเสาร์ที่ 4 เสาร์ที่ 11 และเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 ทำให้ได้ผลลัพธ์ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 45%

การคำนวณที่ถูกต้องจะต้องเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าในวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 กับปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าในวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 เท่านั้น เพราะเป็นการเปรียบเทียบผลของการใช้มาตรการนี้ 7 วัน กับช่วงเวลา 7 วันก่อนการใช้มาตรการนี้ ไม่ควรนำปริมาณผู้โดยสารในวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568 (ซึ่งมีผู้โดยสารไม่มาก เพราะอยู่ในช่วงต้นปี หลายคนยังไม่กลับมาทำงาน) และในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 มารวมคำนวณด้วย

หากคำนวณตามข้อเสนอแนะของผมจะพบว่า ในวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 คิดเป็น 38% ไม่ใช่ 45%

3. จะต้องแสดงให้เห็นว่ารถยนต์ส่วนบุคคลลดลงเท่าใด?

ไม่ว่าปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเท่าใดก็ตาม ก็จะไม่มีผลกับการลดฝุ่นพิษ PM2.5 ถ้าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ อย่าหลงดีใจไปกับตัวเลขเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า เนื่องจากผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนจากรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถตู้ แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์ รถไฟ รฟท. รวมทั้งเรือ มานั่งรถไฟฟ้าฟรี ไม่ได้มาจากรถยนต์ส่วนบุคคล

 

\"สุริยะ\" หั่นงบกลาง เหลือ 185 ล้าน ชดเชย เฉพาะ\"บีทีเอส-ขสมก.\" ช่วงขึ้นฟรี 7วัน

 

ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องแสดงให้เห็นว่าผลจากการให้ใช้รถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี 7 วัน ทำให้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลงได้เท่าใด? โดยเฉพาะบนถนนที่มีรถไฟฟ้าให้บริการและถนนใกล้เคียง อย่ากล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีการนับปริมาณรถแยกตามประเภท แต่อย่าลืมว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลงก็คือการปิดโรงเรียน และ Work from Home (WfH)

หลายท่านคงเห็นด้วยกับผมว่า แม้จะให้ใช้รถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรีก็ตาม แต่บนท้องถนนรถก็ยังติดหนักเหมือนเดิม

ทั้งหมดนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคน ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับ “สงครามฝุ่นพิษ PM2.5” ครับ

 

 

logoline