23 ธันวาคม 2567 "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล" นักวิชาการ สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย เปิดเผยผ่านเนชั่นทีวี ถึงกรณีที่"นายอันวาร์ อิบราฮิม" นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียนปี 2568 แต่งตั้ง "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียนว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษาประธานอาเซียนของนายอันวาร์นั้น ไม่ได้แต่งตั้งเฉพาะ "นายทักษิณ"เพียงคนเดียว แต่ยังมีการแต่งตั้งผู้นำ และอดีตผู้นำประเทศในอาเซียนคนอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น จึงอาจเข้าใจได้ว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษา อาจแต่งตั้งจากผู้ที่มีประสบการณ์
เพราะ "นายทักษิณ"เอง ก็มีประสบการณ์ทำงาน เป็นที่รู้จัก เป็นนักธุรกิจ สามารถเจรจาต่อรองได้ และยังมีความคุ้นเคย มีเครือข่าย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำหลายประเทศ รวมถึงความคุ้นเคยเป็นการส่วนตัว เช่น กรณีที่ผู้นำต่าง ๆ ไปเยี่ยมเยือนนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคอาเซียนนั้น อย่างกรณีปัญหาภายในเมียนมา ก็แก้ไขปัญหาได้ยาก จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากชาติต่าง ๆ และบทบาทนายทักษิณ รวมถึงความสัมพันธ์ หรือความเห็นต่าง ๆ ที่ผ่านมา ประธานอาเซียน จึงอาจเห็นว่า จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับอาเซียนได้
"ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประพีร์" ยังมองว่า หากบทบาทนายทักษิณ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับอาเซียนได้ อย่างปัญหาของเมียนมา ที่อาเซียนถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ก็จะดีต่อบทบาทของประเทศได้ด้วย ซึ่งถือว่า ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งประโยชน์ต่อเมียนมา ประโยชน์ต่อมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ประโยชน์ต่อตัวนายทักษิณ และประโยชน์ต่อประเทศไทยด้วย
''เมียนมา'' เตรียมจัดการเลือกตั้งในปี 2568
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา "นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังเป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนระดับสูง 6 ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา ทั้งไทย, เมียนมา, สปป.ลาว, จีน, อินเดีย และบังคลาเทศ เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และสะท้อนความจริงจังของทุกประเทศ ที่ต้องการส่งเสริมความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ หรือ Five-Point Consensus ที่ได้ให้กับเมียนมาในการสร้างสันติภาพ และเสถียรภาพภายในให้มีผลเป็นรูปธรรม ซึ่งทางเมียนมาก็เปิดเผยว่า เมียนมาได้เตรียมการจัดการเลือกตั้งในปีหน้าแล้ว ทั้งการจัดทำสำมะโนประชากร การจดทะเบียนพรรคการเมือง และรัฐบาลเมียนมา ก็พร้อมเปิดประตูสำหรับการพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยกระบวนการทางการเมือง
ขณะที่ ทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ยังคงยึดฉันทามติ 5 ข้อ และหวังเห็นพัฒนาการ หรือมีสัญญาณเชิงบวกในการแก้ไขปัญหาเมียนมา แต่ท้ายที่สุด การตัดสินใจจะเป็นไปในทิศทางใด ก็ขึ้นอยู่กับเมียนมา หรือหากพูดตรง ๆ ก็คือ ''ไม่มีใครรู้จักประเทศเมียนมา ดีเท่ากับประเทศเมียนมาเอง''
ด้าน "นางสาวแพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่เว็บไซต์เดอะสตาร์ของมาเลเซียรายงานว่า"นายดะโต๊ะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม" นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มีกำหนดจะพบกับ "ประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต" ของอินโดนีเซีย และ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ในสัปดาห์หน้าที่เกาะลังกาวี เพื่อหารือในประเด็นยุทธศาสตร์ในภูมิภาคและพัฒนาการของอาเซียน วันที่ 26 ธันวาคม 2567 นี้ ว่า ยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ก่อนย้อนถามว่า "นายทักษิณ" คอนเฟิร์มแล้วหรือไม่
ส่วนการที่ "นายทักษิณ" ไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะเป็นผลดีในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ "นางสาวแพทองธาร" ระบุว่า เราได้รับความร่วมมืออย่างดีอยู่แล้วจากมาเลเซีย ถ้าได้เจอได้พบก็น่าจะดีนะ แต่ไม่ทราบว่าจะไปจริงหรือเปล่า
ส่วน"นายทักษิณ" ตอบรับเรื่องนี้แล้วหรือไม่ "นายกรัฐมนตรี" ระบุว่า ยังไม่ได้คุยเรื่องนี้กับ"นายทักษิณ" ขอโทษที เดี๋ยวจะถามให้