นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงจุดยืนของฝ่ายค้านต่อร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมว่า พรรคประชาชน ตั้งแต่เป็นพรรคก้าวไกล ก็มีชุดกฎหมายชุดแรก ที่ได้ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 แต่เพิ่งได้พิจารณาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่คณะรัฐมนตรี ได้ขอนำกลับไปพิจารณา 60 วัน ก่อนคืนกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรก่อนปิดสมัยประชุม จึงมีการขยับเคลื่อนไหวของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ที่จะมีการยื่นร่างกฎหมายมาประกบอีกฉบับ ซึ่งเชื่อว่า หากพรรคก้าวไกล ไม่ดำเนินการ ก็เป็นไปได้อาจจะไม่มีพรรคการเมืองใด เริ่มดำเนินการเรื่องนี้ด้วยตนเอง ดังนั้น จึงยืนยันว่า พรรคก้าวไกลในฐานะผู้เสนอกฎหมาย พรรคฯ จึงสนับสนุนอยู่แล้ว และร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ที่นำเสนอโดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ถือว่ามีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับของพรรคประชาชน แต่แตกต่างกันในรายเอียด และพรรคประชาชน เห็นด้วยกับทั้งร่างกฎหมายของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทยดังกล่าวอยู่แล้วแน่นอน และเชื่อว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพที่หลายพรรคเคยหาเสียงไว้
ส่วนข้อโต้แย้งกรณีการป้องกันการรัฐประหารจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะสุดท้ายคณะรัฐประหารในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ก็สามารถฉีกกฎหมายใด ๆ ได้อยู่แล้วนั้น นายปกรณ์วุฒิ อธิบายว่า หลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการป้องกันรัฐประหารโดยตรง แต่เป็นการทำให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน และการแก้ไขก็สามารถลองดูก่อนได้ เพื่อเป็นช่องทางในการป้องกัน เช่น ปัจจุบันหากจะมีการรัฐประหาร ก็ไม่สามารถมีใครห้ามได้ แต่เหตุใดจึงไม่ลองปรับแก้ เพื่อให้อำนาจประชาชน สามารถต่อต้านอำนาจนอกระบบได้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่สภาสามารถยับยั้งกฎอัยการศึกได้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกล ที่หาเสียงในการเลือกตั้งด้วยนโยบายปฏิรูปกองทัพด้วย ดังกล่าว แต่พรรคเพื่อไทยเองก็หาเสียงเรื่องการปฏิรูปกองทัพด้วย จึงไม่แน่ใจว่า พรรคเพื่อไทย จะยังคงมีจุดยืนดังกล่าวอยู่หรือไม่ เพราะนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า จะมีโอกาสสำเร็จยาก และไม่จำเป็น เพราะไม่สามารถแก้ไขได้จริง จึงขอถามนายณัฐวุฒิด้วยว่า หากเชื่อว่า จะไม่สามารถสำเร็จ และแก้ไขได้จริง แล้วพรรคเพื่อไทยจะหาเสียงด้วยนโยบายดังกล่าวทำไม? และโอกาสการผลักดันร่างกฎหมายให้สำเร็จนั้น จะยากได้อย่างไร เพราะเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งเสียงของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ถือเป็นเสียงข้างมากแน่นอน หรือยังเป็นเพราะมีอำนาจอื่น ๆ หรือพรรคอื่น ๆ กดพรรคเพื่อไทยอยู่ ก็สามารถบอกกันตรง ๆ ได้ว่า ประเมินจากปัจจัยใด
ส่วนกรณีการถอนร่างกฎหมายจะเป็นเพราะเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ หรือไม่นั้น นายปกรณ์วุฒิ เห็นว่า หากย้อนกลับไปที่การเลือกตั้ง ที่มีการนำนโยบายนำเสนอกับประชาชน เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง ก็ควรมองย้อนกลับไปดูตัวเองในตอนนั้นว่าเคยพูดอะไรไว้ ก็คงตัดสินใจได้ไม่ยาก จึงขอให้พรรคเพื่อไทยกลับไปพิจารณาว่า จะกลับไปทำตามแนวทางพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่ง ประชาชนจะตัดสินอย่างไร และการให้เหตุผลแต่ละอย่าง หากนำกลับไปเปรียบเทียบกับการปราศรัย ก็ไม่ได้สอดคล้องกัน