28 พฤศจิกายน 2567 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มีความเห็นผ่านเพจเฟสบุ๊คของ "สมาคมทนายความ" ความว่า บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ
ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนี้ คือปัญหาเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา หรือ MOU 44 ที่หลายฝ่ายแสดงความเห็นว่าอาจนำประเทศไทยไปสู่การเสียดินแดน หรือเสียอธิปไตยทางทะเล อันจะนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนกลุ่มต่างๆ นั้น
ผมเห็นว่าปัญหาดังกล่าวสามารถหาข้อยุติได้อย่างสันติด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธี เช่น
(1) รัฐบาลเปิดเวทีสาธารณะ (public deliberation) เพื่อเป็นเวทีพูดคุยแสดงความคิดเห็นและแสวงหาข้อยุติอย่างสันติวิธี โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มการเมืองที่เห็นต่าง ซึ่งคับข้องใจได้มีเวทีแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการ ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนรับผิดชอบได้ตอบคำถามอย่างครบถ้วน ผมแนะนำให้เชิญอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ลงนาม mou ได้มาชี้แจงข้อสงสัยของกลุ่มการเมืองที่เห็นต่างด้วย
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ จากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับ MOU 44 ต่อคณะรัฐมนตรี กรณีเช่นนี้สมาชิกและคณะรัฐมนตรีอาจร้องขอต่อประธานสภาเพื่อขอให้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนของฝ่ายที่เห็นต่างได้เข้ามาชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นต่อสมาชิกในที่ประชุมสภาได้
(3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ขอให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการ MOU 44 โดยต้องเชิญตัวแทนฝ่ายที่เห็นต่างมาเป็นกรรมาธิการ เพื่อร่วมพิจารณาและมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบและโปร่งใส
ทางออกที่ผมเสนอข้างต้น เป็นวิธีการตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายมีเวทีในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิพื้นฐานของปวงชนชาวไทย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทุกฝ่ายต้องยอมรับและเคารพความเห็นต่างที่ประกอบไปด้วยเหตุและผล
โดยไม่ใช้อารมณ์หรือวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตัวเองเป็นเครื่องมือและไม่จำเป็นต้องปลุกระดมก่อม็อบลงถนนแต่อย่างใด ซึ่งประชาชนที่ติดตามการแสดงความคิดเห็นจากเวทีที่กล่าวข้างต้นจะเป็นผู้ตรวจสอบ
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน แต่ในขณะที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ รัฐบาลควรต้องไม่เร่งดำเนินการใดๆ
จนกว่าจะได้ข้อยุติ แต่หากจัดเวทีร่วมกันดังกล่าวแล้วยังหาข้อยุติไม่ได้ ทางออกสุดท้ายคือการถามประชาชนโดยวิธี "ประชามติ" เพราะอำนาจเป็นของประชาชนทุกฝ่ายจึงต้องฟังเสียงของประชาชน