20 พฤศจิกายน 2567 "นายวีระ สมความคิด" เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) โพสต์ข้อความ นำเสนอข้อมูล เอกสาร หลักฐาน ปมพิพาท"ที่ดินเขากระโดง" จ.บุรีรัมย์ ที่กำลังถกเถียงกันอย่างไม่ได้ข้อยุติ ระหว่าง กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม
"นายวีระ" ระบุว่า เกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินอ้างว่า ขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฎชัดเจนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดินจึงเห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯเสนอให้ยุติเรื่องเพิกถอนเอกสิทธิ์ที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟทราบว่า หากการรถไฟเห็นว่าตนมีสิทธิ์ในที่ดินดีกว่า ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการโยนภาระไปให้การรถไฟฯต้องนำคดีไปฟ้องศาลเป็นรายแปลงอีกครั้ง หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนแปลงใด ก็แล้วแต่ศาล
ส่วนกรณีที่คนทั่วไปก็เข้าใจได้ว่า เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2560 ให้ที่ดิน 35 ราย 49 แปลง(สค.1) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณต้นกิโลเมตรที่ 5 - 6 ใกล้สนามช้างอารีนาประมาณ 56 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ และศาลสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ต่อมาในปี 2561ศาลฎีกาได้พิพากษากรณีที่ดินแปลงใหญ่ 2 ราย บริเวณกิโลเมตรที่ 8 ทางรถไฟแยกบุรีรัมย์เข้าเขากระโดงเนื้อที่เกือบ 10 ไร่ และในปี 2563 กรณีที่ดิน น.ส.3 จำนวน 4 แปลง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 (ยุติคดีไม่มีการฎีกา) ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่เขากระโดง บริเวณกิโลเมตรที่ 6 - 7 เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่
ที่ผ่านมาทุกคดีที่มีการพิสูจน์ในชั้นศาล ก็ล้วนแต่มีคำพิพากษาว่า ที่ดินเขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟ และศาลสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดทุกแปลงทุกราย
แต่ล่าสุดในขณะนี้ "กรมที่ดิน" กลับมีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์จำนวน 995 แปลง บนที่ดินทั้งผืน 5,083 ไร่ ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง 30 มีนาคม 2566 โดยอ้างว่าการรถไฟฯไม่สามารถชี้แจงระวางแผนที่ได้
เมื่อปรากฎชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการออกโฉนดและเอกสารสิทธิ์อื่นๆ ไปออกทับที่ดินของการรถไฟฯบริเวณเขากระโดง ที่สำคัญกรมที่ดินและการรถไฟฯ ได้มีการร่วมลงชี้แนวเขตทั้ง 112 แปลง ในบริเวณที่ดินจำนวน 5,083 ไร่ โดยมีการรังวัดเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2567 แต่กรมที่ดินกลับสรุปง่ายๆว่า ขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฎชัดเจนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
บอกตรงๆ ก"กรมที่ดิน"มีมติและบอกกับสังคมแบบกวนส้น...มาก เพราะการจะพิสูจน์หรือวินิจฉัยว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถดูได้จากคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งก็ยืนยันแล้วว่าที่ดินเขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟ ดังนั้น เอกสารสิทธิ์จำนวน 995 แปลง ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟ 5,083 ไร่
จึงเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ กรมที่ดินควรเรียกเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดมาตรวจสอบทันที หากพบว่าเอกสารสิทธิ์รายใดออกทับที่ดินของการรถไฟ ก็สามารถเพิกถอนได้ทันที พยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าเอกสารสิทธิ์ทั้ง 995 แปลง ได้มีการออกโดยมิชอบนั้น ก็ดูได้จากคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. , คำพิพากษาของศาลฎีกา , คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ภาค 3 และคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
ขอแนะนำให้กรมที่ดินไปศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549 เอาไว้ให้ดีๆ และขอแจ้งกับพี่น้องประชาชนทั้งหลายว่า การกระทำของกรมที่ดินดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้ว
มาดูพยานหลักฐานบางส่วนที่ใช้สู้กันจนถึงศาลฎีกา ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่ดินเขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่เป็นที่ดินของการรถไฟก็คือ
1. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2513 "นายชัย ชิดชอบ" ทำบันทึกการประชุมร่วมเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง สรุป นายชัยยอมรับที่ดินพิพาทเป็นของการรถไฟ และ "นายชัย"จะขออาศัยอยู่
2.หนังสือของกรมที่ดิน รับรองการครอบครองที่ดินของการรถไฟ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2498
3. หนังสือของกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2499 เรื่องที่ดินของกรมทางหลวงและที่ดินของการรถไฟฯ ไม่ต้องปฎิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497
4. หนังสือของกรมทางหลวงขอใช้ที่ดินของการรถไฟบริเวณเขากระโดง เพื่อก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 219
5. หนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 106/2541เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดง ที่การรถไฟฯระเบิดหินเพื่อใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ
6. หนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส 0005/5403 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2555