svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กษ.ชงยกเลิกปุ๋ยคนละครึ่ง ฟื้นจ่ายไร่ละ 500 ไม่เกิน 20 ไร่

กษ.ชงยกเลิกปุ๋ยคนละครึ่ง ฟื้นจ่ายไร่ละ 500 ไม่เกิน 20 ไร่ - พร้อมเตรียมเสนอ 2 โครงการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก วงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท เข้า ครม. 29 พ.ย.นี้

กษ.ชงยกเลิกปุ๋ยคนละครึ่ง ฟื้นจ่ายไร่ละ 500 ไม่เกิน 20 ไร่ เอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง)

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยผลประชุมของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข.ด้านการผลิต ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ซึ่งมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม ภายหลังคณะกรรมการ นบข.ชุดใหญ่ ได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯทบทวนโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เนื่องจากเกิดปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ และปัจจุบันได้ล่วงเลยระยะเวลาการสนับสนุนปุ๋ยปัจจัยการผลิตไปแล้ว อีกทั้งเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว และนำผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน มากเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินงานโครงการจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน ครัวเรือนละ 20,000 บาท

กษ.ชงยกเลิกปุ๋ยคนละครึ่ง ฟื้นจ่ายไร่ละ 500 ไม่เกิน 20 ไร่ กษ.ชงยกเลิกปุ๋ยคนละครึ่ง ฟื้นจ่ายไร่ละ 500 ไม่เกิน 20 ไร่

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ดังนั้น คณะอนุกรรมการ นบข.ด้านการผลิต จึงมีมติให้ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง และปรับเปลี่ยนเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ และจะยังได้มีการเสนอ 2 โครงการคู่ขนาน คือ โครงการศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าข้าว และโครงการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยจะนำเสนอที่ประชุม นบข.พิจารณาอนุมัติเห็นชอบภายในอาทิตย์หน้านี้ และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) ยังระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมเสนอ 2 โครงการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 วงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งคาดจะให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาได้ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม จะเป็นช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก ได้แก่

1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 3,000,000 ตัน วงเงินงบประมาณรวมราว 43,000 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินสินเชื่อ 35,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 8,000 ล้านบาท โดยธนาคาร ธ.ก.ส.จะจ่ายสินเชื่อตามโครงการ ให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉาง ในอัตราข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,500 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองได้รับเต็มจำนวน สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการฯ ได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก

 

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 1,500,000 ตัน วงเงินงบประมาณรวม 15,000 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 656.25 ล้านบาท โดยธนาคาร ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย หรือเพื่อการแปรรูป โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3.50 ต่อปี