18 พฤศจิกายน 2567 Westminster Foundation for Democracy (WFD) , โคแฟค ประเทศไทย , สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย , สถาบันนิติวัชร์ , Decode.plus และ Tellscore ร่วมกันจัดเสวนา บทบาทของสื่อและความรุนแรงออนไลน์ ต่อนักการเมืองหญิง ที่โรงแรมสยามแอทสยาม
โดยในช่วงแรก เป็นการนำเสนอสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง ผู้นำทางการเมือง ในพื้นที่ออนไลน์ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง "Nenden Sekar Arum, SAFEnet" จากประเทศอินโดนีเซีย พูดคุยผ่านระบบซูมเข้ามา โดยบอกว่า มีการข่มขู่คุกคามนักการเมืองหญิงอินโดนีเซียในโลกออนไลน์ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทางจิตใจ ทำให้การแข่งขันทางการเมืองไม่มีความเท่าเทียมกันในแง่ของเพศ พร้อมนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจคือ การขาดกลไกในการรับแจ้งเมื่อมีเหตุความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเกิดขึ้น ขาดการเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมถึงพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ด้าน "น.ส.กุลธิดา สามะพุทธิ" Fact checker กองบรรณาธิการ CoFact ประเทศไทย กล่าวว่า การทำร้ายนักการเมืองหญิงด้วยข่าวลวง เพื่อทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ มีทุกรูปแบบ อาทิ เรื่องของชู้สาว อย่างกรณีของ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กับภารกิจ ว.5 โฟร์ซีซั่น , ภาพวาดหวิว ภาพสูบบุหรี่ไฟฟ้า ภาพยกเท้าถีบป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ถูกนำมาอ้างว่าเป็นนักการเมืองหญิง ไม่ว่าจะเป็น น.ส.รักชนก ศรีนอก น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ หรือ น.ส.จิตภัวร์ กฤษดากร ซึ่งสรุปแล้วก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งนักเหมือนหญิงหลายคนยอมรับว่า เจอมาถูทุกรูปแบบ แต่ก็ไม่อยากใส่ใจ อีกทั้งภาพจำของคนก็ติดตาไปแล้ว คนก็ยังคงเข้าใจผิด
ขณะที่ "น.ส.ขวัญข้าว คงเดชา" นักวิจัย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า นักการเมืองหญิงเผชิญความรุนแรงทางเพศต่างๆ ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว พร้อมเผยผลสำรวจนักการเมืองหญิงในรัฐสภารอบปีนี้ พบว่าส่วนใหญ่เผชิญความรุนแรงทางเพศผ่านวาจา แนวโน้มเกิดขึ้นต่อไป ไม่มีท่าทีจบ เพราะมันเป็นเกมการเมือง และการแข่งขันทางการเมือง
ช่วงที่ 2 เป็นการเสวนาความรุนแรงในพื้นที่ออนไลน์และพื้นที่สื่อ ผลกระทบต่อนักการเมืองหญิงและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง / โดย "น.ส.ศรีโสภา โกฏคำลือ" สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย บอกว่า เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลเชียงใหม่ยูไนเต็ด ถูกกดดันทุกรูปแบบในสนามแข่ง เพื่อให้ตนและทีม เสียสมาธิ จึงตอบกลับไปด้วยการโชว์นิ้วกลางใส่ ฝูงชน เพราะรู้สึกว่าเราเป็นหัวหน้าทีม ไม่อยากถูกกดขี่ ถามว่ากลัวไหมก็กลัว ไม่มีใครอยากมีปัญหากับคนหมู่มาก แต่สิ่งที่ได้รับคือ มีสื่อมวลชนหญิงสำนักหนึ่ง วิจารณ์การกระทำนี้ในทางลบ ทั้งที่ควรเข้าใจความรู้สึกของผู้หญิงด้วยกัน ซึ่งก็ไม่คิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่แย่ เพราะเราต้องเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต และต้องปรับตัวกับมัน พร้อมฝากให้สื่อรายงานข่าวโดยคำนึงถึงมิติทางเพศด้วย สื่อควรปรับตัว ควรตระหนักถึงการตรวจสอบข้อมูล และมีความรับผิดชอบในการนำเสนอ
ด้าน "น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว" สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน กล่าวว่า ผลกระทบจากการถูกคุกคามทางออนไลน์ต่อผู้หญิงลึกซึ้งมากกว่าที่ทุกคนคาดคิด โดยประมาณปี 2559 ถูกตัดต่อใส่เสื้อสีส้มไปถวายความไว้อาลัยในหลวง รัชกาลที่ 9 ทั้งที่มันคือเฟคนิวส์ ถูกเปิดเผยที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ จนถูกโทรศัพท์ข่มขู่คุกคาม ถึงขั้นใช้คำว่าข่มขืน จนอยู่ในภาวะป่วยทางสุขภาพจิต เป็น ptsd นอกจากนี้ ยังถูกตัดต่อข้อความในแชทไลน์ ในลักษณะมีสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับสถานทูตสหรัฐฯ แต่สุดท้ายไม่มีคำขอโทษจากสื่อนั้นๆ และไม่มีการโทรมาสอบถามข้อเท็จจริง
บทบาทของสื่อในการร่วมสร้างความเท่าเทียม
โดยช่วงที่ 3 เป็นการเสวนาบทบาทของสื่อในการร่วมสร้างความเท่าเทียม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง
"นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง" เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย บอกว่า บริบทของโลกเปลี่ยนไป สื่อมีเยอะขึ้น บางสำนักก็เปิดเพจกันเอง เป็นยูทูปเบอร์กันเอง และไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมสื่อออนไลน์ ยากที่จะควบคุม แต่ทุกคนก็ควรรู้จักจริยธรรม โดยเฉพาะกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ต้องรู้ว่าจะโพสต์อะไรต้องรับผิดชอบ พร้อมแนะว่า หากใครเจอปัญหา หรือข่าวที่ไม่ดีของตัวเองในเพจใด ก็แก้ปัญหาด้วยการอินบ็อกซ์เข้าไปหา แล้วแจ้งความไม่เหมาะสมต่างๆ
ขณะเดียวกันในอนาคตจะมีเรื่องจริยธรรม AI ซึ่งจริยธรรมนี้เดิมเป็นการให้ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์และสมาคมนักข่าว ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฏหมายนี้ นอกจากนี้ เรามีคู่มือการทำข่าวเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ใครสนใจติดต่อมาได้ เอาไปใช้ในระบบ HR ของออฟฟิศได้
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า หลักการทำข่าวจากการส่อง Status ในไอจี หรือ Twitter ถึงแม้จะเอามาเขียนข่าวได้ แต่ก็ต้องมีกระบวนการสอบถามข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวด้วย โดยปีหน้าสมาคมนักข่าวจะมีการอบรมนักข่าวใหม่ ถึงแม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็จะได้ให้นักข่าวรู้วิธีการทำข่าว รู้กฎหมาย รู้เรื่องของลิขสิทธิ์ เรียนรู้จริยธรรม และวิธีการนำเสนอ เพราะเราต้องดึงสังคมกลับมาที่ข้อเท็จจริง ให้รู้กระบวนการทำข่าวที่ถูกต้อง ไม่ใช่อินไปตามกระแสสังคม ดังนั้นเมื่อ กสทช. ทำงานช้ามาก ซ้ำยังกำกับพวกออนไลน์ไม่ครอบคลุม เราก็ต้องหาวิธีทำอย่างไรให้สื่อมีความรู้
ด้าน "น.ส.ญดา โภคาชัยพัฒน์" อัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวว่า หน่วยงานของเรารับผิดชอบเกี่ยวกับการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้ดีขึ้น จึงมีโอกาสสัมผัสปัญหาต่างๆต่อผู้หญิงมาก และพบว่าผู้หญิงที่จะเป็นกระบอกเสียง หรือเรียกร้องอะไรเพื่อความถูกต้อง มักถูกหยิบยกเรื่องส่วนตัวมาถูกด้อยค่า เพื่อให้เงียบ หรือให้รับรู้ว่าถ้าเรียกร้องอะไรจะต้องแลกกับบางสิ่งที่เกิดตามมา นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมา ไปแจ้งความ ให้การในชั้นพนักงานสอบสวนไปแล้ว พอมาเจออัยการก็ยังต้องเล่าเรื่องซ้ำอีก ไหนจะในชั้นศาลอีก เหมือนเป็นการทำซ้ำ แต่ข้อกฎหมายที่แก้ไขในส่วนนี้ก็ยังไม่มี
ขณะที่ "นายปกรณ์ พึ่งเนตร" บรรณาธิการบริหาร เนชั่น TV บอกว่า กรรมาธิการบางคณะ ควรให้บทบาทผู้หญิง หรือคนข้ามเพศ ในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชาย เพราะกรรมาธิการบางคณะมีความอ่อนไหว ควรจะกำหนดสัดส่วนได้เลย ไม่ใช่กำหนดตามสัดส่วน สส. ของแต่ละพรรคการเมือง
นอกจากนี้ ปัญหาหลักฐานของเรา คือ อคติของสังคมไทย ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ แต่มายาคติของเราที่คิดว่าประเทศของเราดีอยู่แล้ว สงบสุขร่มเย็น จึงไม่ยอมหยิบเรื่องนี้มาคุยกันจริงจัง โดยความเชื่อนี้ถูกท้าทายอย่างรุนแรง พร้อมยกตัวอย่าง ปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่ชี้ว่าความต่างทางศาสนาอยู่ด้วยกันได้ เป็นเรื่องไม่จริง จะเห็นว่า นักการเมืองหญิง หรือนักเคลื่อนไหวผู้หญิง ที่อาจจะล้ำเส้นมากไป จะถูกประณามมากกว่าผู้ชาย
อย่างที่ จ.นราธิวาส มีคนมาร้องเรียนถูกกระทำโดยสามี แต่แก้ไขไม่ได้ และรัฐก็ไม่มีงบในส่วนนี้ ทางภรรยาของผู้นำศาสนา จึงได้ตั้งชมรมขึ้นมาเองแล้วทำน้ำพริกขายเพื่อหาเงินมาดูแลแก้ปัญหา ไหนจะมีประเด็นทับซ้อนเรื่องศาสนาอีก เวลาเกิดความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงฟ้องหย่าสามีไม่ได้ แต่ต้องให้ผู้นำศาสนาเป็นคนชี้ขาด ซึ่งผู้นำศาสนาก็เป็นผู้ชาย
ล่าสุด ตนไปดูงานกับประธานรัฐสภา ที่เกาหลีใต้ พบว่า เขากำลังจะสร้างห้องน้ำสาธารณะ นักการเมืองก็คิดว่าจะสร้างจำนวนเท่ากันทั้งหญิงและชาย เพราะถือว่าเท่าเทียม แต่พอไปทำวิจัยแล้วปรากฏว่าไม่เท่าเทียม เพราะผู้หญิงเข้าห้องน้ำนานกว่า คนต้องรอคิวนาน เพราะฉะนั้นการสร้างห้องน้ำผู้หญิง จึงต้องมากกว่าผู้ชาย ถึงจะเท่าเทียม ก็นำไปสู่การออกกฏหมายแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งความเท่าเทียมไม่ใช่ความเท่ากัน
"นายปกรณ์" ยังพูดถึงบทบาทของสื่อในการนำเสนอข่าวที่ปัจจุบันเน้นเรตติ้ง เน้นกระแส มากกว่าข้อเท็จจริง อย่างข่าว "เจ๊พัช" กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ หรือข่าว ทนายตั้ม "ษิทรา เบี้ยบังเกิด" ที่กลายเป็นเป้าไปแล้ว ทั้งที่เรื่องราวทางคดียังไม่สิ้นสุด ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักที่มีจรรยาบรรณ ต้องผันตัวมาแนวเดียวกับสื่อออนไลน์ หรือสื่อทางเลือก ที่เน้นเรตติ้ง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจและความอยู่รอดของสถานี ที่ใช้ต้นทุนสูงมาก การควบคุมรายการต่างๆเพื่อไม่ให้ละเมิดและเสียค่าปรับ แต่ได้มาซึ่งเรตติ้ง ก็ทีมากขึ้น นั่นหมายความว่าภาพความรุนแรงออกมาได้ และยอมจ่ายค่าปรับ
ขณะเดียวกัน ความพร้อมของแต่ละช่องไม่เหมือนกัน ความกล้าแต่ละช่องก็ไม่เหมือนกัน มีทั้งสั่งให้นักข่าวไปกว้านซื้อภาพกล้องวงจรปิดก่อนตำรวจ หรือส่งตั๋วเครื่องบินไปให้แหล่งข่าว หรือส่งคนไปรอรับ-ส่ง เพื่อกันไม่ให้ไปออกสื่ออื่น
ด้าน "นายณฐรัจน์ นิ่มรัตนสิงห์" Brand Manager, Mirror Thailand กล่าวว่า เรานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิง แต่แนวแบบนี้ในประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้า ซึ่งก็จะพยายามนำเสนอต่อไป พร้อมยอมรับสื่อก็มีข้อจำกัด นอกจากสู้กับสื่อด้วยกัน สู้กับคนอ่าน สู้กับยอดวิว แต่ mirror ไม่ได้ถึงขั้นจะต้องสู้ขนาดนั้น เพราะเรามีแนวทางในการนำเสนอ และยังถือเป็นสื่อกระแสรอง