การลงพื้นที่ "อุดรธานี" ของ "ทักษิณ ชินวัตร" ในฐานะ "ผู้ช่วยหาเสียง" ให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นับเป็นการกำหนดจังหวะยาตราทัพเพื่อไทยได้อย่างลุ่มลึกลงตัว
เพราะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่นายกฯลูกสาว "แพทองธาร ชินวัตร" กำลังถูกจับจ้องโดนโจมตีจากปมบริหารราชการแผ่นดินที่สะดุด ติดๆขัดๆ และกำลังเพลี่ยงพล้ำหลายเรื่อง ผ่านนโยบายที่ประกาศไว้ รวมถึงความอึมครึมภายในพรรคร่วม (ตั้งแต่กรณีเครือข่ายภาคประชาชน และพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเรียกร้องให้ ยกเลิก "MOU 44" ไทย-กัมพูชา / กรณี มหากาพย์ "ที่ดินเขากระโดง" จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นข้อพิพาท ระหว่างกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯและรมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคม ที่มี "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รมว.คมนาคม ในสังกัดพรรคเพื่อไทย ) อีกทั้งเป็นจังหวะในช่วงที่แพทองธาร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตปท.กับ บิ๊กอีเว้นท์ ระดับประชุมเอเปค2024 ที่เปรู ท่ามกลางการถูกจับจ้อง บทบาทวางตัวของผู้นำหญิงในตปท.
แต่ปรากฎว่า อดีตนายกฯผู้พ่อใช้ "จังหวะ" ที่กล่าวข้างต้น ออกมาขับเคลื่อน ชิงพื้นที่สื่อ ให้ทุกสายตามามอง "ทักษิณ" แทนที่จะไปจ้องตรวจสอบ พฤติกรรม" นายกลูกสาว" แทน อย่างได้ผล
เห็นได้ชัดจากการที่ "ทักษิณ" ไปอุดรฯ ตลอดสองวัน สามารถกลบข่าวความเคลื่อนไหว "นายกฯลูกสาว"จนหลายคนแทบลืมไปเลยว่า นายกฯคนปัจจุบันทำอะไรอยู่ในต่างแดน
ยุทธศาสตร์และความคาดหวัง
สองวันของการปราศรัยหาเสียง ด้วยการบอกกับพี่น้องประชาชน "ทักษิณ" มาในฐานะ"ผู้ช่วยหาเสียง" ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อุดร "ศราวุธ เพชรพนมพร" หากแต่ถอดเทปเนื้อหาการปราศรัยของทักษิณ พอจะถอดรหัสความมุ่งหมายของทักษิณ ออกมาได้หลายแง่หลายมุม
นี่ไม่ใช่แค่ การช่วยหาเสียงให้กับ "ศราวุธ" เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องการใช้เวทีปราศรัยครั้งนี้ สื่อสารมวลชนคนสนับสนุน ให้รับรู้ถึงจังหวะก้าวของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องเตรียมพร้อมต่อสู้บนสมรภูมิการเลือกตั้งระดับชาติ และ ยังต้องการใช้เวทีนี้ ระบายความอัดอั้นต้นใจให้มวลชนรับรู้ถึงสถานการณ์บรรดานักร้องรุมตรวจสอบ"ทักษิณ" เพื่อหวังให้ลุกลามบานปลายไปถึงรัฐบาล"เพื่อไทย"
"เลือกตั้งท้องถิ่น" สู่การดำรงอยู่ในอำนาจรัฐ
ความคาดหวังของ"ทักษิณ" ใช้เวทีเลือกตั้งท้องถิ่น มองเกมยาวถึงการดำรงอยู่รัฐบาลปัจจุบัน สู่การเลือกตั้งระดับชาติ
1. เล็งหวังผล"นายกอบจ.อุดร"
การที่ "ทักษิณ" ต้องการช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายกฯอบจ.อุดร ต้องการผลชนะด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ชนะให้ขาด หวังสร้างแรงกระเพื่อมสู่การเลือกตั้งนายกฯท้องถิ่นอีสานที่เหลือถัดจากนี้ (เพราะยังมีแผนการเดินสายแบบนี้ในจังหวัดอื่นๆ หมายรวมไปถึงพื้นที่ภาคเหนือด้วย )
2. กำราบ"พรรคส้ม"
เป็นความพยายามของแม่ทัพใหญ่ "ทักษิณ" ประเมินแล้วว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ขุนพลค่ายสีส้มกำลังฮึกเหิมจากการลงพื้นที่ฝังตัวมายาวนาน ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา พวกเขาคาดหวังสูงว่าจะชนะ"เพื่อไทย" ให้ได้ จนสัปดาห์ล่าสุดถึงกับมี "โพลปล่อย" หรือ"ปล่อยโพล" ว่า ค่ายสีส้มนำค่ายสีแดง ( แต่อย่าลืม เลือกตั้งสส. อุดรฯ ปี 2566 เพื่อไทยคว้ามา 7 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 2 ที่นั่ง ก้าวไกล (พรรคประชาชน) 1 ที่นั่ง
ฉะนั้น สมรภูมิเลือกตั้ง "นายกอบจ.อุดร" จึงเป็นสนามการเมืองเชิงสัญลักษณ์ที่หาก "เพื่อไทย" ประสบชัยชนะ สามารถปลุกขวัญ ขย่มคู่แข่งสนามอื่นๆได้ ซึ่งไม่ต่างกับ"พรรคประชาชน" ที่คิดการณ์นี้เช่นเดียวกัน
3. "พรรคสีส้ม"กำลังกระแสตกเลือกตั้งท้องถิ่น
จนถูกคอการเมืองรุ่นใหม่ แซวไปมา "ส้มจะชนะกี่โมง" จึงทำให้ เป็นโอกาสของ"ทักษิณ" ต้องตามขยี้ซ้ำทำให้จม ยัดเยียด คำว่า "ส้มจะชนะกี่โมง" ติดปากคอการเมือง และ ให้กลับไปฝึกสะกดคำว่า "ชัยชนะ"ให้เป็น ก่อนลงสนาม
4. สร้างความเชื่อให้ "ลูกพรรค"ในภาวะขาลง
จากมรสุมรุมกระหน่ำเข้ามาหลายลูกผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย ที่ยังไม่เห็นผลโดยสมบูรณ์ ถูกหยิบยกขึ้นมาตอกย้ำบนเวทีปราศรัย อย่างเช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 400 -700 บาท มากี่โมง / แจกเงินหมื่นเฟสสองได้เมื่อไหร่ ฯลฯ
จึงไม่แปลก เมื่อฟังการปราศรัยของ "ทักษิณ" โดยเฉพาะวันที่สอง เริ่มต้นกล่าวถึงผลงานรัฐบาลไทยรักไทยในอดีตสร้างความติดตาตรึงใจประชาชน จึงต้องการนำมาต่อยอดในรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกฯลูกสาว "แพทองธาร"
ดังเห็นว่า คนในรัฐบาลออกมารับลูกการปราศรัยอย่างทันควัน เช่น กรณี "นายพิชัย ชุณหวชิระ" รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าวถึง หลักการแจกเงินหมื่นให้คนอายุ 60 ปี จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกฯ"แพทองธาร" เป็นประธานในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ โดยทันที
น่าสนใจกว่านั้น ขอให้จับตาการประชุมคณะกรรรมการชุดดังกล่าวยังเตรียมแพคเก็จ แก้หนี้สินครัวเรือน สอดคล้องกับการปราศรัยของอดีตนายกฯทักษิณ เช่นกัน
5. สร้างแรงกดดันองค์กรอิสระ
ต่อคดีความของตนเอง ตามข้อกล่าวหา "ครอบงำ แทรกแซง" ถือเป็นการเอากระแสมาค้ำยันว่าสิ่งที่ตนเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าเป็นการขึ้นปราศรัยหาเสียง กล่าวถึงผลงานรัฐบาลไทยรักไทยในอดีตต่อยอดมาถึงรัฐบาลเพื่อไทย หรือ จะบอกว่า ตนเอง มีตำแหน่ง ส.ท.ร. (เ _ ือก ทุกเรื่อง ) ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ถึงแม้ในขณะนี้ บรรดานักร้องกำลังถอดเทปตรวจสอบอย่างละเอียดยิบ เตรียมยื่นคำร้องรอบใหม่อยู่ก็ตาม
ขณะเดียวกัน จากเนื้อหาปราศรัยของ "ทักษิณ" สองวันที่ผ่านมา โดยเฉพาะวันที่สอง ที่กล่าวเปรียบเปรย บรรดานักร้อง แค่เสียงเห่าหอน ทั้งที่ตัวเองกำลังรอลุ้นชี้ขาดคดีความจากองค์กรอิสระต่างๆ โดยเฉพาะการประชุมศาลรัฐธรมนูญ จะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้อง ของ"ทนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ต่อกรณี "ทักษิณ"และ"พรรคเพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง ฯ ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้
6. ประคองกระแสเสริมคะแนนนิยมรัฐบาลอิ๊งค์
ประเด็นนี้ อาจกล่าวได้ว่า ผู้เล่นที่เป็นแม่เหล็กของพรรคยังหาใครไม่ได้ นอกจากชายชื่อ "ทักษิณ" แม้สมรภูมิเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นแค่ "ผู้ช่วยหาเสียง" แต่หวังผลเลิศเป็นมากกว่าผู้ช่วยหาเสียง - หาคะแนน ประคับประคอง "นายกฯลูกสาว" ให้ครบเทอม