8 พฤศจิกายน 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ "นายวรภพ วิริยะโรจน์" และ"น.ส.ศนิวาร บัวบาน" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าวข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ในการเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) สมัยที่ 29 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 นี้
"น.ส.ศนิวาร" กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาสภาวะโลกรวนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 แสนล้านบาท หรือ 0.82% ของจีดีพี โดยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือและภาคอีสานที่ผ่านมามีการประเมินมูลค่าความเสียหายไว้กว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือ 0.17% ของจีดีพี
แม้ประเทศไทยจะมีการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand's National Adaptation Plan: NAP) ขึ้นในปี 2561 และได้รับการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ประเทศภาคีสมาชิกได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2558 แต่แผนนี้เป็นแค่กรอบกว้างๆ ที่ไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกัน ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เพียงพอ และไม่มีกรอบงบประมาณการปรับตัวในแต่ละสาขา
และตอนนี้ตนก็ยังไม่เห็นแผนการขยายพื้นที่ติดตั้งสถานีเตือนภัยในแต่ละปี ซึ่งเหลืออีก 3 ปีก็จะครบกำหนดตามกรอบที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว จึงเป็นเรื่องท้าทายว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้ตามเป้าที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือไม่ เรื่องของระบบเตือนภัยไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่ปี 2559 หน่วยงานต่างๆ หมดงบประมาณไปกว่า 613 ล้านบาททั้งในการติดตั้งระบบเตือนภัยใหม่และซ่อมบำรุงระบบเตือนภัยเดิม แต่ก็ยังใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากอุปกรณ์ที่จัดซื้อมาไม่เหมาะสม ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีความเข้มงวดในการจัดซื้อจัดจ้างให้มากกว่านี้
"พรรคประชาชน" ขอเสนอว่า รัฐบาลควรใช้"เวที COP29" ที่กำลังจะมีขึ้นนี้ เป็นเวทีในการแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยจะมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพในการปรับตัว เสริมสร้างความยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปวงชนชาวไทย รวมทั้งกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ดังต่อไปนี้
1. ปรับปรุงแผนการปรับตัวระดับชาติ โดยเพิ่มการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการรับมือสภาวะโลกร้อน พร้อมระบุเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าในการดำเนินการ
2. แสดงถึงความจำเป็นในการเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ
3. แสดงเจตจำนงในการทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงกองทุนต่างๆ ได้ เช่น กองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย เนื่องจากประเทศไทยปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของโลก หรือคิดเป็นอันดับที่ 18 ของทั้งโลก แต่ประเทศไทยมีความเปราะบางและความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
4. สร้างบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียน ในการกำหนดกลไกติดตามการสนับสนุนการเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงต่อสภาวะโลกเดือดสูง ตามเป้าหมาย 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจนถึงปี 2568
5. เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้เงินทุนในรูปแบบเงินให้เปล่า และเงินกู้แบบผ่อนปรนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในเป้าหมายทางการเงินทั้งเก่าและใหม่ ตามที่กำลังจะมีการหารือในการประชุมครั้งนี้
6. รัฐบาลอาจพิจารณารูปแบบการลงทุนในโครงการหรือกิจกรรมที่มีความคุ้มค่า โดยเน้นการแก้ปัญหาที่อิงธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เช่น ธนาคารต้นไม้ การปรับปรุงดิน พื้นที่สาธารณะสำหรับหน่วงน้ำ เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในการดูแลและปกป้องทรัพยากร โดยกำหนดแผนการลงทุนในแผนการปรับตัวให้ชัดเจน
7. การสนับสนุนทางการเงินต้องรวมถึงการให้เงินสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมด้วย
"น.ส.ศนิวาร" กล่าวต่อไปว่า หากรัฐบาลแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังแล้ว เวทีนี้จะเป็นเวทีที่รัฐบาลสามารถแสดงให้นานาอารยะประเทศเห็นถึงบทบาทและความสำคัญของประเทศไทยในการจัดการกับผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ด้าน"นายวรภพ" กล่าวว่า เรื่องของสภาวะโลกรวนเป็นทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและโอกาสใหม่ๆ ของประเทศในทางเศรษฐกิจ จากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีพลังงานหมุนเวียน สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรที่ปล่อยคาร์บอนต่ำที่มีจุดขายและจุดแข็งในตลาดโลก ธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจากค่าไฟที่ถูกและสะอาด
ดังนั้น ในการประชุม COP29 รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีท่าทีและความมุ่งมั่นที่จะเร่งทำตามแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย แม้รัฐบาลจะมีการแถลงไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ถึง 44% ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) แต่ประเด็นสำคัญคือการเริ่มทำ ไม่ใช่การกำหนดเป้าหมายเท่านั้น รัฐบาลควรต้องเร่งออก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เร็วที่สุด แสดงเจตจำนงและกำหนดเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจน ว่าจะผลักดันให้ออกมาบังคับใช้ได้ทันภายในครึ่งปีแรกของปี 2568 นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรต้องทบทวนร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ที่ไม่ควรต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าฟอซซิลเพิ่มอีกแล้ว และเร่งออกมาตรการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเพื่อให้มีการทยอยปรับเปลี่ยนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่ความยั่งยืนโดยเร็วที่สุด