7 พฤศจิกายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา "นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ" สส.นนทบุรี พรรคประชาชน(ปชน.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร และนายสุรพันธ์ ไวยกรณ์ สส.นนทบุรี พรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวกรณี"โครงการหรูริมน้ำเจ้าพระยา" ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ที่ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดอายัดแต่ปัจจุบันยังมีการดำเนินโครงการอยู่
โดย"นายนนท์" กล่าวว่า จากการประชุมของกมธ. ที่ผ่านมามีมติให้ "ปปง." สั่งระงับและหยุดการก่อสร้างโครงการหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนกว่าจะมีหนังสือขอใช้ประโยชน์จากผู้ที่ถูกยึดอายัดรวมถึงต้องแจ้งให้ประธานรับทราบ ถึงเงื่อนไขต่าง ๆ เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ยึดแล้วนั้นโครงการยังดำเนินก่อสร้างต่อ จนเป็นคำถามในวงกว้าง
และเมื่อตรวจพบว่า มีคลิปวีดีโอของนายหน้าคนจีน ที่โครงการได้แต่งตั้งเป็นตัวแทนขายนั้น ยังมีการนำผู้ที่สนใจชาวจีนแวะเวียนเข้ามาดูโครงการ รวมถึงติดตามการก่อสร้างภายในโครงการอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายไทยเลย จึงมีความกังวลว่าจะมีการตั้งบริษัทนอมินิ ขึ้นมาเพื่อซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และให้ชาวต่างชาติถือครองแบบ 100% ทั้งโครงการหรือไม่ และกังวลว่าคนจีนที่มาซื้อโครงการที่ถูกยึดอายัดนั้น จะถูกหลอกให้ซื้อโดยที่ไม่ทราบว่าโครงการดังกล่าวอาจจะถูกศาลตัดสินตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความเสียหายในวงกว้างและป้องกันความเสียหายจากการหลอกลวง จึงได้มีการติดตั้งป้ายขนาดใหญ่หน้าโครงการเป็นคำสั่งยึดอายัดของ ปปง. แต่ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ได้ปฏิบัติติตาม
"นายนนท์" กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นทางรองเลขาปปง. ยังเคยชี้แจงที่ประชุมสภาฯว่าองค์กรของเขา ไม่ได้เป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไรแต่อย่างใด แต่จากกรณีการบริหารทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกือบหมื่นล้านบาทนั้น หากย้อนกลับไปในอดีตนั้น โครงการ Than Living รัชดา-ประชาอุทิศ ซึ่งเป็นของบริษัทกรีฑา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด มูลค่าโครงการหลักพันล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกปปง.ยึดอายัดไว้ เพราะมีความผิดมูลฐานเรื่องการทุจริต โครงการจำนำข้าว และตนมีข้อสังเกตว่าทำไมโครงการที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาทถึงได้มีการแต่งตั้งบริษัทหนึ่งขึ้นมาที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และไม่ได้มีความชำนาญในด้านบริหารนิติบุคคลเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่ปปง.ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์ คือใช้ทรัพย์ตัวนี้ในการแสวงหาผลประโยชน์ โดยส่วนหนึ่งจะส่งเข้าปปง. อีกส่วนหนึ่งจะส่งให้บริษัทที่ได้รับการดูแล
"โดยบริษัทที่ดูแลโครงการมูลค่าหลายพันล้านบาทกลับมีสภาพห้องเล็กๆห้องหนึ่งที่มีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ นี่คือข้อสงสัยของผมว่าทำไม ถึงปล่อยให้มีการก่อสร้างโครงการหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาต่อ หรือว่าต้องการให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปให้แล้วเสร็จ แล้วอาจจะมีการตั้งบริษัทขึ้นมาเป็นผู้จัดการทรัพย์หรือไม่ เพราะกรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เนื่องจากบริษัทดังกล่าวชื่อว่า บริษัท ทรัพย์สิน ... ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามาบริหารหลายโครงการที่อยู่ในทรัพย์ที่ถูกปปง.ยึด
อย่างโครงการ Than Living ชำระกำไรต่อเดือนให้กับปปง.อยู่ที่ประมาณ 1.34 ล้านบาท และโครงการที่อยู่แถวสาทรมีการประเมินราคาที่ดินอยู่ที่ 5 แสนบาทต่อตารางวา โดยปปง.ให้บริษัท ทรัพย์สิน ... เช่า 2 คูหา ในราคา 7 พันบาท และอีกโครงการอยู่ที่ภูเก็ตเป็นพูลวิลล่าขนาดใหญ่มูลค่าโครงการ 16-20 กว่าล้านบาท ซึ่งถูกยึดโดยปปง. และมีการแต่งตั้งบริษัท ทรัพย์สิน ... เช่นเดิม ให้เช่าทรัพย์ดังกล่าว เพื่อหาผลประโยชน์ ซึ่งถือว่าบริษัท ทรัพย์สิน ... เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่ปปง.ยึด" นายนนท์ กล่าว
"นายนนท์" กล่าวต่อว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่ปปง.ปล่อยให้โครงการหรูริมน้ำเจ้าพระยายังคงก่อสร้างอยู่ เป็นเพราะยังหาประโยชน์จากโครงการไม่ได้หรือไม่ จึงต้องการให้ก่อสร้างจนเสร็จถึงทำการยึด แล้วแต่งตั้งบริษัทที่เข้ามาดูแลทรัพย์สิน ซึ่งตนไม่ทราบว่าจะเป็นบริษัทไหน ที่จะเข้ามาดูแลแล้วจะใช้ทรัพย์ตัวนี้ไปเป็นประโยชน์โดยการปล่อยเช่า จึงสงสัยว่าทำไม ปปง. จึงปล่อยให้เกิดลักษณะปัญหาอย่างนี้แล้วไม่แก้ไข จึงอยากให้ติดตามว่าเป้าหมายเรื่องนี้คืออะไร ดังนั้นทางกมธ.จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป