6 พฤศจิกายน 2567 "นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี" นักวิชาการอิสระ เปิดเผยถึงรายงานพิเศษด้านการศึกษา ที่เป็นการพิจารณาเรื่องเขตแดนทางทะเล และการแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ทรัพยากรปิโตรเลียม บนเวทีสัมมนาพลังงานราคาถูกทางรอดเศรษฐกิจไทย
โดย"นายสุภลักษณ์" ได้เปิดรายงานพิเศษพร้อม อธิบายตีแผ่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้การเจรจาในการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวโดยเร็ว และเชื่อว่าการเจรจาเป็นวิธีเดียวในการยุติปัญหาที่ดีที่สุด ซึ่งการเจรจามีความจำเป็นสามประการ
สำหรับเรื่อง"เกาะกูด"ที่เป็นประเด็นร้อนตอนนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นของไทยแน่นอน ทั้งในแง่นิตินัยและพฤตินัย อ้างอิงจากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1907 ที่กำหนดให้เป็นของสยาม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเอกสารหลายฉบับของกัมพูชาเองก็ไม่ตรงกันกับสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว เพราะแผนผัง MOU ได้เว้นเกาะกูดเอาไว้ หมายถึงว่าฝรั่งเศสได้ยกเกาะกูดให้กับสยามเรียบร้อยแล้วไม่มีสิ่งใดมาลบล้างได้
นอกจากนี้ "นายศุภลักษณ์" ยังบอกอีกว่า จากประสบการณ์การทำงาน ของตนเองที่ทำเรื่องนี้มาเกือบชั่วชีวิตไม่เคยเห็นเอกสารทางการฉบับใดของกัมพูชาที่อ้างอธิปไตยเหนือเกาะกูดเลย เพราะฉะนั้นในทางนิตินัยประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด 100 เปอร์เซ็นต์
ส่วนในทางพฤตินัยหลักกฏหมายได้ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า เกาะแก่งใดก็ตามที่มีคนของเราอาศัยและทำกิจกรรม ประกอบอาชีพทำมาหากินอยู่ ต่อให้จะไปขึ้นศาลที่ไหนก็ชนะ เพราะหมายถึงว่ามีการครอบครองอยู่ ต่อมาในปี 2555 จึงได้มีการประกาศให้เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด ซึ่งตนเองก็ไม่เคยได้ยินว่าทางกัมพูชาจะคัดค้านไม่อยากให้เกาะกูดเป็นส่วนหนึ่งของไทย
เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้วทางกัมพูชาไม่ได้เคลมอำนาจ อธิปไตยไทยเหนือเกาะกูดแต่อย่างใด ทั้งในแง่ทางการหรือไม่ทางการ อาจจะมีการพูดทีเล่นทีจริงบ้าง ว่าเกาะกูดเป็นของเขาครึ่งนึงโดยการลากเส้นไหล่ทวีปผ่านเกาะกูด แต่เส้นที่เขาลากไม่ใช่เส้นอ้างอำนาจอธิปไตยแต่เป็นการลากเส้นเคลมไหล่ทวีปพื้นที่ใต้น้ำต่างหาก
คลิกอ่าน>>>> รายงานฉบับเต็ม ปัญหาพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชา