หลังจากมีความพยายาม จาก "นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง อย่าลืมมติคณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เห็นชอบในหลักการ "ให้ยกเลิก MOU 2544" ไปแล้ว หรือแม้แต่ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ อย่าง "นายสนธิ สนธิจิรวงศ์" ประธานศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อ้างเช่นเดียวกัน จนกระทั่ง "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯและรมว.กลาโหม ออกมาปฏิเสธว่า "ไม่มีมติครม. ยกเลิก MOU 44 " ขณะที่ล่าสุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 "นายภูมิธรรม" เปิดเผยสื่อมวลชนด้วยว่า
"สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จะต้องไปถามจากหัวหน้าพรรคฯ ของตนเองว่าเหตุใดถึงไปเจรจา เพราะในขณะนั้นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็เป็นตัวแทนของไทยไปเจรจา MOU 44 ตามกรอบทั้งหมด" นายภูมิธรรม กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567
"เนชั่นทีวี" ได้ตรวจสอบ มติครม. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ตามที่มีอ้างถึงนั้น พบว่า ในการประชุมครม. มีการเสนอวาระ "รายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย กัมพูชา ครั้งที่ 6" เข้าสู่ที่ประชุม โดย ครม.มีมติเห็นชอบให้เลื่อน วาระดังกล่าวออกไปก่อน ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ
รายงานฉบับดังกล่าว เกิดขึ้นจากกระทรวงกลาโหม โดย"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รมว.กลาโหม ขณะนั้น ได้ทำหนังสือถึง สลค. เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 52 สรุปผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 6 เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมครม.
ทั้งนี้ ในรายงาน ระบุว่า ผลการประชุมเป็นไปตามกรอบการเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 52 โดยมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เฉพาะหน้า 3 ของผนวก 5 ใน "ประเด็นการอ้างสิทธิ์บริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ซึ่งเดิมกำหนดให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วมและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องในเดือน เม.ย. 52 แก้ไขเป็น ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วมและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงขอให้ สลค.นำผลประชุมดังกล่าว เสนอครม.
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้น "กระทรวงการต่างประเทศ" โดย"นายกษิต ภิรมย์" รมว.ต่างประเทศขณะนั้น ได้ทำหนังสือ ถึงสลค.เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 52 ให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย- กัมพูชา ครั้งที่ 6 ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอต่อ ครม.
"กระทรวงการต่างประเทศ มีข้อคิดเห็นต่อเรื่องนี้ อย่างน่าสนใจข้อที่ 3 ระบุว่า รายงานผลการประชุมดังกล่าว ระบุเรื่องการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบกและการเจรจาเขตทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่วนต่างๆในสังคมมีความเห็นแตกต่างกันและบางส่วนเห็นต่างจากแนวการดำเนินการของรัฐบาลและมีการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศเกี่ยวข้อง"
นอกจากนี้ รายงานผลการประชุม ยังมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดนในหลายมิติ และเมื่อพิจารณาประกอบคำวินิจฉัยศาลรธน. ที่ 6-7 / 2551 เมื่อวันที่ 8 ก.ค.51 เรื่องแถลงการณ์ร่วม ไทย –กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย.51 กระทรวงการต่างประเทศจึงขอเรียนความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของส่วนราชการเจ้าของเรื่องตามมติครม.ดังกล่าว น่าจะเข้าข่ายหนังสือสัญญาอาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางตามมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน
กระทั่ง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ทำหนังสือ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 52 เสนอว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ขอเลื่อน เรื่อง "รายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 6" ที่บรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมครม.เพื่อพิจารณา เรื่องที่ 9 ออกไปก่อน ซึ่งครม.พิจารณามีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการครม.เสนอ และหากกระทรวงกลาโหมประสงค์จะให้นำเรื่องบรรจุระเบียบวารการประชุมครม.เมื่อใด ขอได้แจ้งให้สลค.ให้ทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น ข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งเดิมรัฐบาลอภิสิทธิ์ขณะนั้น ต้องการทบทวนข้อตกลงเอ็มโอยู 2544 แต่ตามขั้นตอนต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2554 นายกฯอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภาเสียก่อนทำให้ กระบวนการทบทวน"เอ็มโอยู 2544" ก็ยังค้างอยู่ในขั้นตอนครม.จนกระทั่งผ่านมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีการหยิบยกมาหารือเช่นเดียวกับ "รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์" ที่เข้ามาบริหารประเทศในเวลาต่อมา โดยมี "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ขณะนั้น ก็ยังปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงเอ็มโอยู 2544 ไทย-กัมพูชา
ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เปิดเผย"เนชั่นทีวี" ด้วยว่า มติครม. ให้ยกเลิก เอ็มโอยู 2544 ในขณะนั้น เกิดขึ้นจากกรณีที่รัฐบาลไทยต้องการแสดงท่าทีทางการเมืองกับกัมพูชา หลังจากที่กัมพูชา แต่งตั้ง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษากัมพูชาซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่น่ารักมีนัยของการเข้ามาแทรกแซงการเมืองของประเทศไทยเนื่องจากนายทักษิณอยู่ฝ่ายการเมืองหนึ่ง ตนและพรรคประชาธิปัตย์อยู่ฝ่ายการเมืองหนึ่ง
เราจึงต้องแก้เผ็ดและสั่งสอนสมเด็นฮุนเซ็นด้วยการเสนอยกเลิก MOU44 ออกมาเจตนาเพื่อจะบ่งบอกความไม่พอใจของรัฐบาลไทยและประเทศไทยต่อพฤติกรรมดังกล่าว
"นายกษิต" ยังกล่าวว่า การดำเนินการของนายทักษิณในครั้งนั้นถูกมองว่าอาจกลายเป็นเครื่องมือในการเข้ามาแทรกแซงกิจการของไทย จึงเป็นที่มาของมติครม.ดังกล่าวก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ฝ่ายกัมพูชาได้รับทราบต่อไป
ทว่าหลังจากที่"กระทรวงการต่างประเทศ"ได้ดำเนินการนั้น ภายหลังรัฐบาลได้มีการยุบสภาทำให้มติครม.ดังกล่าวยังค้างคาอยู่ไม่ได้มีการเสนอต่อรัฐสภา หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปสู่รัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" และรัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กระทั่งรัฐบาล"นายเศรษฐา ทวีสิน" และรัฐบาลปัจจุบัน
ทั้งนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ดำเนินการต่อตามMOU44 ด้วยการแต่งตั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะเจรจาข้อพิพาททางทะเล หมายความว่า มติของพรรคประชาธิปัตย์ได้สิ้นสุดไปตั้งแต่จบรัฐบาลแล้ว แต่MOU44 ยังมีชีวิตอยู่และได้รับการต่ออายุโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
สอดคล้องกับที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างแต่งตั้ง คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee:JTC)ไทย-กัมพูชา หรือคณะกรรการJTC ในเร็วๆนี้