30 ตุลาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี "นายภารดร ปริศนานันทกุล" รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ขนส่งทางราง ฉบับที่ พ.ศ. โดยเป็นการพิจารณาต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จแล้วและอยู่ในขั้นตอนการลงมติ โดยมีทั้งหมด 3 ร่าง คือ1.ร่างของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอ 2. ร่างของ นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เป็นผู้เสนอ และ 3.ร่างของ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะเป็นผู้เสนอ
โดย"นางมนพร เจริญศรี" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขอให้ที่ประชุมรับหลัการทั้ง 3 ร่าง โดยลงมติในคราวเดียว และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่วมกันพิจารณาทั้ง 3 ร่าง โดยใช้ร่างของ ครม.เป็นร่างหลัก
จากนั้นที่ประชุมลงมติรับหลักการทั้ง 3 ร่าง ด้วยคะแนน 406 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี ไม่ลงคะแนน 4 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 31 คน แปรญัตติ 15 วัน โดยใช้ร่างของ ครม.เป็นหลักในการพิจารณา
ทั้งนี้ "นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานวิปฝ่ายค้าน ได้เสนอว่า เนื่องจากร่างของ "นายสุรเชษฐ์" เป็นร่างที่ใกล้เคียงกับร่างที่สภาฯชุดที่ 25 ได้พิจารณาเสร็จแล้วมากที่สุด จึงขอให้ใช้ร่างของนายสุรเชษฐ์เป็นร่างหลัก
ทำให้ที่ประชุมต้องลงมติว่าจะใช้ร่างใดเป็นร่างหลัก โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 262 เสียงให้ใช้ร่างของ ครม. เป็นหลัก และจะมีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นัดแรกในวันที่ 1 พ.ย.นี้เวลา 10.00 น.
สำหรับ สาระสำคัญของร่างกฎหมายขนส่งทางราง ที่เสนอโดยครม.นั้น ได้มีการกำหนดให้มี "คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง" ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โครงการของหน่วยงานของรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดให้มีการจัดทำโครงการขนส่งทางรางประกอบด้วยด้านต่างๆได้แก่
1.การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางรางเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวเส้นทางเพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง
2.การเสนอโครงการการขนส่งทางรางโดยแยกเป็นกรณีรถไฟและรถไฟฟ้าให้จัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการ และกรณีรถรางให้จัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก่อนเสนอรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบแล้วเสนอต่อคณะกรรมการ โดยโครงการใดที่มีเอกชนร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
และ 3.การดำเนินการโครงการการขนส่งทางราง โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือก่อให้เกิดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาการขนส่งทางราง กำหนดเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบขนส่งทางรางโดยกำหนดเงื่อนไขการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง รวมทั้งกำหนดข้อห้ามกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งทางราง
นอกจากนี้มีอำนาจในการกำหนดประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง มี 3 ประเภท
ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง ใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางราง และใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง กำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางในการจัดให้มีประกันความเสียหาย หน้าที่ในการแจ้งเหตุที่จะทำให้การเดินรถขนส่งทางรางหยุดชะงัก เหตุฉุกเฉินหรืออุปสรรคต่อการขนส่งทางราง กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง และไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง กำหนดให้
นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และอุบัติการณ์ กำหนดให้มีให้ผู้ตรวจการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดให้รถขนส่ง ทางรางที่จะให้ในการประกอบกิจการขนส่งทางรางต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนและกำหนดประเภทรถขนส่งทางรางที่ไม่ต้องจดทะเบียน
ได้แก่ พระราชพาหนะและรถขนส่งทางทหาร กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการโดยเฉพาะผู้ทุพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็กด้วย
ส่องความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อครั้งที่ กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง เข้าสู่ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็นประกอบ ดังนี้
กระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯ มีหลักการสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการการขนส่งทางราง การควบคุม การกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ การยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งทางรางของประเทศ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งทางราง รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพการจากโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศ
โดยมีการแยกบทบาทให้ชัดเจนระหว่างหน่วยงานกำหนดนโยบาย (Policy Maker) หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) และหน่วยงานปฏิบัติ (Operator) ตามแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลที่ดีในการกำกับดูแล ป้องกันการขัดแย้ง ของผลประโยชน์ (Conflict of Interests) และก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม
ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ จะทำให้กรมการขนส่งทางรางมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับกิจการขนส่งทางรางตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ของหน่วยงาน
อย่างไรก็ดี สศช.มีความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณากำหนดแนวทางการบูรณาการยุทธศาสตร์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการกำกับดูแลกิจการทั้งทางถนน ทางอากาศ ทางราง และทางน้ำ เพื่อให้เกิดการขนส่งเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ
ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันการกำกับกิจการขนส่งแต่ละรูปแบบได้ถูกกำหนดให้มีคณะกรรมการระดับนโยบายในแต่ละด้านโดยที่ยังไม่มีกลไกที่จะทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน
นอกจากนี้ยังเห็นควรให้กรมการขนส่งทางรางพิจารณาการจัดลำดับความสำคัญของกฎหมายลำดับรองโดยเบื้องต้นเห็นควรให้เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มบทบาทของเอกชนในกิจการระบบขนส่งทางรางเพื่อให้เกิดประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกระบบรางได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ
ขณะที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ถือว่ามีประโยชน์กับการพัฒนาระบบรางของไทย โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางที่มีและอำนาจในการเสนอนโยบายและแผนพัฒนาการขนส่งทางราง แนวทางในการเชื่อมต่อไปยังการขนส่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการในการประกอบกิจการขนส่งทาง
"และกำหนดอัตราขั้นสูงของของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง การใช้ประโยชน์จากรางเพื่อการขนส่ง โดยให้กรมการขนส่งทางรางรับผิดชอบงานธุรการของการกำหนดบทบัญญัติเดียวกับการจัดทำโครงการขนส่งทางราง เขตระบบขนส่งทางรางและเขตขนส่งทางราง การขออนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง และให้ผู้ตรวจการขนส่งทางรางมีหน้าที่อำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการ การจดดทะเบียนรถขนส่งทางราง การคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้จนการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง การบริการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการพัฒนาขนส่งรูปแบแบบอื่นๆให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันของตลาดในประเทศ"
อย่างไรก็ตามมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใน 3 ปีแรกจำนวนประมาณ 427 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาระงบประมาณในอนาคต เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางรางเตรียมความพร้อมให้ครบถ้วนทุกมิติ โดยคำนึงถึงภารกิจความจำเป็น ความสามารถในการดำเนินงานให้คุ้มค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น โดยสามารถเสนอของบประมาณได้ในปีต่อๆไป