svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประธานสภาฯ" มองภาพรวมการทำงานสภาฯอยู่ในระดับดี

"วันนอร์" มองภาพรวมการทำงานสภาฯ อยู่ในระดับดี เพราะยังไม่มีองค์ประชุมล่ม  ขณะ ร่างแก้รธน. หลายฉบับ จ่อเข้าสู่ที่ประชุมสมัยหน้า ด้านคกก.จริยธรรมสภาฯ เตรียมสะสางคำร้อง ช่วงปิดสมัยประชุมนี้ 

28 ตุลาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประเมินการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรก่อนปิดสมัยประชุมว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในชุดนี้ไม่ค่อยเจอปัญหาตรงประชุมล่ม ผลการทำงานอยู่ในระดับดีแต่ไม่ได้อยู่ในระดับดีมากหรือดีเยี่ยมซึ่งก็ต้องปฏิบัติต่อไป อย่างน้อยต้องทำงานให้อยู่ในระดับดีมากกว่านี้ เพราะเราเคยได้คะแนนการประเมินผลมากกว่านี้ 

ซึ่งภาพรวมการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถือว่าทำงานค่อนข้างที่จะดีและมีประโยชน์ต่อประชาชน การประชุมสภาที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์สภาฯล่มโดยที่องค์ประชุมขาด ทุกครั้งมีองค์ประชุมครบ แสดงถึงความตั้งใจของสมาชิก และการลงมติสามารถลงมติได้ด้วยความเรียบร้อย

ส่วนที่การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะพรรคการเมือง ไม่มีการเล่นเกมการเมืองในสภาด้วยใช่หรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นระบบของพรรคการเมืองความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาแต่การประชุมต้องทำงานร่วมกัน ในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

สำหรับการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีมาหลายฉบับแล้ว ซึ่งก็จะพิจารณาไปขั้นตอน เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ ของรัฐสภา ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องพิจารณาให้เป็นไปตามข้อบังคับของรัฐสภา ซึ่งจากที่ได้มีการตกลงกันของวิปทั้ง 3 ฝ่าย คาดว่าจะมีการเสนอในช่วงต้น การประชุมสมัยหน้า 

ส่วนจะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256ด้วย หรือไม่นั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้เข้ามามีหลายฉบับ ตนไม่สามารถบอกได้ ว่าจะให้แก้มาตราใดหรือฉบับใดจะผ่าน เราต้องเป็นกลาง ไม่สามารถแสดงความเห็นได้ และเป็นสิทธิ์ของสมาชิกที่จะเสนอหรือจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งหากมีการแก้ไขมาตรา 256 จะต้องทำประชามติก่อน เพราะมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระทบกับองค์กรอิสระ ก็ต้องทำประชามติด้วย  

 

"นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนจะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ หรือไม่นั้นจะต้องกำหนดโดยรัฐบาลถ้ารัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นก็สามารถขอเปิดได้
หรือสมาชิกรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุจำเป็น หรือมีเรื่องที่สมควรจะเปิดประชุม ก็สามารถเสนอให้นายกรัฐมนตรีขอเปิดสมัยประชุมได้

"นายวันมูหะมัดนอร์" ยังกล่าวถึง การประชุมคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ขณะนี้อยู่ที่เลขานุการจะเสนอ ให้มีการเปิดประชุมเพราะขณะนี้องค์ ประกอบการประชุมครบถ้วนแล้วและยังมีวาระ และคำร้องต่างๆที่มีการเสนอเข้ามา ซึ่งคาดว่าสามารถ เปิดประชุมคณะกรรมการจริยธรรมได้ในช่วงปิดสมัยประชุม

"สภาสูง" โอดตั้งกระทู้ถาม "นายกฯ" 41 กระทู้ ไม่เคยเยื้องกายเข้ามาตอบ


อย่างไรก็ดี วันเดียวกัน ที่อาคารรัฐสภา กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ นำโดย "นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย" นางสาวนันทนา นันทวโรภาส นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร และนายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ แถลงว่า ในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 นี้ จะปิดสมัยประชุมแล้ว ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะสามารถตอบกระทู้ถาม  

"นายเทวฤทธิ์"  กล่าวว่า ตลอดเวลาที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายกับรัฐสภา  มีกระทู้ถามไปยังนายกรัฐมนตรีถึง 41 กระทู้  รับดำเนินการแล้ว 40 กระทู้ มีกระทู้ด้วยวาจา 4 กระทู้ เลื่อนตอบ 2 กระทู้ ตกไป 3 กระทู้ และกระทู้ที่เป็นหนังสืออีก 21 กระทู้ ตอบแล้ว 10 กระทู้ เลื่อนอีก 4 กระทู้ รอบรรจุเข้าวาระ 4 กระทู้  แต่ปรากฎว่านายกรัฐมนตรี ไม่เคยเยื้องกายมาที่วุฒิสภา และมอบให้รัฐมนตรีต่างๆมาตอบ มาตอบบ้างไม่ตอบบ้าง ตนเสียดาย เพราะถือเป็นโอกาสให้นายกฯ อย่างน้อยก็มาสื่อสารกับวุฒิสภา และตอบข้อสงสัยที่ประชาชนอยากรู้ 

นอกจากนี้ ในกรณีข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟ ที่ต้องการให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา โดยรัฐบาลของนายเศรษฐา ก็ตั้ง ถ้าหากรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ตั้งต่อ เขาก็คงไม่ต้องมาตากยุงตากฝนตากแดด ปัญหาคือความล่าช้าในการตั้ง ทำให้เขามาชุมนุม และก็ประวิงเวลา รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอ สิ่งที่เราเจอ คือ ในวันที่ 14 ตุลาคม มีกระบวนการปิดทางเข้า ปิดล้อมการชุมนุมของประชาชน ทำให้เกิดการตัดเสบียง ผู้ที่เข้าเยี่ยมยากลำบาก ซึ่งขัดหลัก ถือเป็นการละเมิดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน โดยการละเมิดสำเร็จไปแล้ว ดังนั้นนายกฯ จะต้องตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุมหรือไม่ แม้ว่าจะมีภาพพระราชบัญญัติกำหนดพื้นที่ความปลอดภัยสงบสุขและความเรียบร้อย ที่ต้องห่าง 50 เมตร ทั้งนี้ก็ต้องดูสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมเป็นเบื้องแรก ก่อน 

"นางสาวนันทนา" ย้ำหลักการประชาธิปไตยของกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ที่ต้องทำงานร่วมกัน ทั้งการถ่วงดุล และคานอำนาจ   ดังนั้นการที่ฝ่ายบริหาร หลบเลี่ยงการตอบกลับ เป็นการปัดความรับผิดชอบ ไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นสิ่งสะท้อนของประชาชน กระทู้ต่างๆ ก็คือปัญหาที่เกิดขึ้น คือปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน เราอยากเห็นปฏิกิริยาของฝ่ายบริหารในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชน สิ่งเหล่านี้ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ ต้องมาตอบกระทู้ ไม่ใช่หลีกเลี่ยงหลบเลี่ยง จึงอยากฝากไว้ฝ่ายบริหารทั้งหลาย คิดว่าการปฏิเสธไม่มาตอบกระทู้ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ประชาชนดูอยู่ประชาชนเขาจะบอกว่าฝ่ายบริหารไม่เห็นหัวประชาชน เพราะฝ่ายนิติบัญญัติเป็นตัวแทนของประชาชน จึงอยากฝากรัฐมนตรี ถึงนายกรัฐมนตรีท่านไม่มีสิทธิ์จะบอกว่าไม่ว่าง ถึงจะติดภารกิจวาระของประชาชนสำคัญที่สุดต้องมาตอบ 

 

ขณะที่ "นายพรชัย"เสนอให้ รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี  จัดเวลาตอนเช้า ของวันจันทร์ มาตอบกระทู้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ว่าท่านจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที หากแสดงความจริงจังอย่างจริงใจ ประชาชนจะเชื่อมั่นในรัฐบาล