:: “วราวุธ” เผย 21 ต.ค. นี้ พม. เตรียมจัดงาน วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย ประจำปี 2567 ::
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ เนื่องจากพระองค์ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและเวลาเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก และสมควรนำมาเป็นแบบอย่างในการประพฤติตนและการปฏิบัติงานเพื่อสังคมส่วนรวม ซึ่งในปี 2542 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้เฉลิมพระเกียรติยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ : การพัฒนามนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อมามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 เห็นชอบให้วันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ และวันอาสาสมัครไทยด้วย
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดกิจกรรมวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ และวันอาสาสมัครไทย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดการประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติ สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาสังคมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนอาสาสมัคร ตั้งแต่ปี 2535 เป็นประจำทุกปี โดยที่ผ่านมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดงานวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย และพิธีประกาศเกียรติคุณอาสาสมัครดีเด่น องค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่นแห่งชาติ
กระทรวง พม. โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสติการสังคมแห่งชาติ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กำหนดจัดงานวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย ประจำปี 2567 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เวลา 08.30-15.30 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ แกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 อาคารศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในงานด้านสวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์ การพัฒนาสังคม และเพื่อเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณอาสาสมัครดีเด่นและองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น รวมถึงการจัดประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติครั้งที่ 32 ประจำปี 2567 หัวข้อ "ทิศทางการพัฒนางานอาสาสมัครไทย เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน" เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายการส่งเสริมงานสวัสดิการสังคมในประเด็นงานอาสาสมัครแบบมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาสังคม
งานในวันดังกล่าวจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 600 คน ประกอบด้วย ผู้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ คณะอนุกรรมการคัดเลือกอาสาสมัครและองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น ผู้แทนส่วนราชการ องค์การสวัสติการสังคม องค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรที่มีการปฏิบัติงานกับอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมสำคัญต่างๆได้แก่ การจัดประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2567 หัวข้อ “ทิศทางการพัฒนางานอาสาสมัครไทย เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” , การจัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณอาสาสมัครดีเด่น 250 คน และองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น 25 องค์กร
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการ 3 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 เทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โซนที่ 2 อาสาสมัครสมัครดีเด่นและองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่นปี 2567 และโซนที่ 3 นิทรรศการภารกิจและผลงานของหน่วยงานภาคีเครือข่าย
:: "วราวุธ" ชี้ พม. ตั้งเป้า ปีงบฯ 68 พัฒนาที่อยู่อาศัยราคาถูก ช่วยผู้มีรายได้น้อย - ซ่อมแซมบ้านคนพิการ-ผู้สูงอายุ ::
นายวราวุธ ยังให้กล่าวก่อนประชุม ครม. ว่า ผู้มีรายได้น้อย นับเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ซึ่ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา และประสานการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ภายใต้แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท อาทิ โครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านพอเพียง และโครงการสวัสดิการที่อยู่อาศัยราคาถูก เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่อยู่ในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุกไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มแรงงานรายวัน หรือกลุ่มที่เพิ่งเข้าเมืองมาหางานทำ ที่เข้าไม่ถึงแหล่งที่พักอาศัยในเมือง
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวง พม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ให้ดำเนินการ พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท จำนวน 20,920 หลังคาเรือน (ทั้งที่จากการสำรวจมีความต้องการถึง 82,695 หลังคาเรือน) อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560-2567 ได้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 199,386 หลังคาเรือน อาทิ โครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านพอเพียง โครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าว และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง
สำหรับ "โครงการสวัสดิการที่อยู่อาศัยราคาถูก" เป็นหนึ่งในโครงการของ พอช. ที่ดำเนินการภายใต้แนวคิดการออกแบบที่ครอบคลุมทุกมิติ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้แก่ผู้เช่า ได้แก่ กลุ่มแรงงานรายวัน คนพิการที่ช่วยเหลือตนเองได้ ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังหางานทำ และนักศึกษาจบใหม่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยมีเป้าหมาย 100 หลังคาเรือน ภายในปีงบประมาณ 2568
ซึ่งปัจจุบัน มีการนำร่องใน 2 พื้นที่ ได้แก่ 1) อาคารสวัสดิการที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการคนจน เลียบวารี 79 เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ 2 ไร่ มีห้องพัก จำนวน 14 ห้อง มีห้องน้ำส่วนตัว แบ่งออกเป็นขนาดห้อง 16 ตร.ม. ค่าเช่าเดือนละ 1,500 บาท และขนาดห้อง 6 ตร.ม. ค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท โดยภายในบริเวณที่พักจัดให้มีห้องประชุมและพื้นที่สีเขียว สำหรับเป็นพื้นที่กลางของทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และพักผ่อนหย่อนใจ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาผู้เข้าพักอาศัย
และ 2) ศูนย์คนไร้บ้าน บ้านพูนสุข จังหวัดปทุมธานี ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สมาคมคนไร้บ้าน โดยออกแบบห้องพักให้สอดคล้องกับลักษณะของคนไร้บ้าน ในพื้นที่ 99 ตร.ม. มีห้องพัก จำนวน 5 ห้อง ขนาด 11 ตร.ม. ห้องน้ำรวมแยกชาย-หญิง ค่าเช่าเดือนละ 1,800 บาท ขณะนี้ มีผู้เข้าพักอาศัยครบแล้ว
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเปราะบาง ได้แก่ 1) โครงการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ มีเป้าหมาย 13,000 หลังคาเรือน และ 2) โครงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีเป้าหมาย 7,061 หลังคาเรือน
อีกทั้งการเคหะแห่งชาติ กระทรวง พม. ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งประเภทขายและเช่า โดยในปีงบประมาณ 2568 มีเป้าหมาย 2,719 หลังคาเรือน และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โดยมีเป้าหมาย ปี 2568-2570 รวม 1,247 หลังคาเรือน แบ่งเป็นโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง อาคาร A1 จำนวน 635 หน่วย และอาคาร D2 จำนวน 612 หน่วย