นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ให้ความเห็นกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ขัดขวางความพยายามของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะแก้ไขปัญหาเมียนมาโดยการนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (IPU) รวมทั้งการที่รัฐบาลไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือไม่เป็นทางการของอาเซียนในเรื่องเมียนมาในเดือนธันวาคมนี้ จะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในเมียนมาหรือไม่ว่า ตามข้อเท็จจริงของเรื่องนี้นั้น เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปให้ความเห็นต่อรัฐสภาในเรื่องนี้ ตามคำเชิญว่า แนวคิดของฝ่ายนิติบัญญัติบางส่วนที่ต้องการให้ไทยเป็นผู้เสนอให้มี Emergency Item on Myanmar ในการประชุม IPU ที่นครเจนีวานั้น อาจทำให้เป็นการส่งสัญญาณว่า ไทยกำลังเลือกข้าง ที่อาจกระทบต่อความพยายามโน้มน้าวพูดคุยกับฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมาในฐานะคนกลาง รวมทั้งกระทบความพยายามแก้ไขปัญหาข้ามแดนต่าง ๆ ทั้งเรื่องอาชญากรรม และสิ่งแวดล้อมด้วย โดยในวันนั้นนั้น รัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ ได้เห็นด้วยตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจร่วมกันของฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด และไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่ไปขัดขวางตามที่ได้มีการเขียนบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า ในการดำเนินแก้ไขปัญหาเมียนมานั้น จำเป็นต้องทำอย่างรัดกุม และมีการหารือร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียนก่อน ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการโดยกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งการจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนดังกล่าว เป็นที่รับรู้และยอมรับโดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด จึงไม่ได้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในเมียนมา ตามที่มีผู้แสดงความเห็นแต่อย่างใด และในทางตรงกันข้าม หากไทยดำเนินการตามลำพังโดยไม่ได้หารือกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันก่อน อาจมีผลเสีย รวมทั้งอาจถูกมองว่า เป็นการแทรกแซงได้