นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 8 – 11 ตุลาคม 2567
:: นายกฯ ร่วมวงอาเซียน-จีน ย้ำการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง-ความร่วมมือด้านความมั่นคงรับมือปัญหาในภูมิภาค ::
โดยในช่วงเช้าวันนี้ (10 ต.ค.) นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ประเทศจีน หรือ ASEAN-จีน ซึ่งมีนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมด้วยประชุมด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดดังกล่าวว่า ความสัมพันธ์อาเซียน – จีน เป็นรากฐานสำคัญของสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อความสันติภาพ ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาที่ยั่งยืน และมิตรภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด "บ้าน 5 หลัง" (Five-Homes) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน
นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำความร่วมมือความสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ “การบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง” (Economic integration and connectivity) ซึ่งประเทศไทย ยินดีต่อความสำเร็จของการเจรจายกระดับ FTA อาเซียน-จีน 3.0 และอาเซียน และจีนควรใช้ประโยชน์จาก RCEP ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนการรวบรวมสมาชิกใหม่ ที่รวมไปถึงเขตบริหารพิเศษฮ่องกงด้วย และการจะบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องมุ่งเน้นการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว โดยจะต้องส่งเสริมความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงทางดิจิทัล เทคโนโลยี AI และเกษตรอัจฉริยะ, “ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน” (People-to-people relations) ที่ต้องเสริมสร้างความเข้าใจ ความรักความสามัคคีของประชาชนในประชาคม อาเซียนกว่า 700 ล้านคน ผ่านมาตรการยกเว้นวีซ่า อย่างต่อเนื่อง เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และขยายโอกาสในการรับทุนการศึกษา และ “ความร่วมมือด้านความมั่นคง” (Security cooperation) ที่ควรเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า ในการจัดการกับประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์และยาเสพติด และการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งประเทศไทยยินดีต่อการมีส่วนร่วมของจีนในความพยายามของอาเซียนที่จะจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดนและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
“ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของเราขึ้นอยู่กับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค สถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เป็นสาเหตุของความกังวลร่วมกันซึ่งจุดยืนตามหลักการของประเทศไทยคือ การยุติข้อพิพาทอย่างสันติผ่านการทูต การเจรจา และตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) โดยต้องดำเนินความร่วมมือแบบ win-win อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น” นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน
:: อาเซียนสนับสนุนเกาหลีใต้ เจรจาแก้ปมคาบสมุทรเกาหลีอย่างสันติ เพื่อสันติภาพ-เสถียรภาพยั่งยืน ::
ยุน ซ็อกย็อล ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี ครั้งที่ 25 ในห้วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องฯ โดยในการประชุมครั้งนี้ นายยุน ซ็อกย็อล (Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมการประชุมด้วย
โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน (ASEAN Common Statement) เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศผู้ประสาน (Coordinator) ตอนหนึ่งเกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลีว่า อาเซียนเรียกร้องให้เกาหลีเหนือ ปฏิบัติตามมติ UNSC พร้อมย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ และใช้กลไกของอาเซียน อาทิ ARF ส่งเสริมบรรยากาศการเจรจาอย่างสันติ ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้อาเซียน สนับสนุนความพยายามของเกาหลีใต้ ในการเจรจาอย่างสันติ และต่อเนื่องเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืน เพื่อคาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากนิวเคลียร์ สงบสุข และเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่ยอมรับการให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ใหม่ด้านการรวมชาติ 15 สิงหาคม หรือ "August 15 Unification Doctrine"
:: นายกฯ ร่วมประชุมอาเซียน-เกาหลีใต้ ย้ำวิสัยทัศน์ ABC ใช้เทคโนโลยี-สมดุล-สร้างสรรค์ พัฒนาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน ::
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย โดยได้หยิบยกวิสัยทัศน์ “ABC” ในการพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership : CSP) กับเกาหลีใต้ นั้นก็คือ ด้าน 'A': Advanced Technology การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพราะเกาหลีใต้ ในฐานะผู้นํานวัตกรรมหลายประเภท สามารถมีส่วนสําคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน และ 'B': Balanced development คือการพัฒนาที่สมดุล สร้างอนาคตที่เท่าเทียมยั่งยืน และยืดหยุ่นมากขึ้น และวิสัยทัศน์ 'C': Creative economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นหลายเรื่องที่ไทยได้รับแรงบันดาลใจจากความสําเร็จของเกาหลีใต้ โดยชื่นชมการมีส่วนร่วมของเกาหลีใต้ใน “Seminar on Thailand and Creative ASEAN” ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนที่แล้ว และประเทศไทย และเกาหลีใต้สามารถร่วมมือกันในประเด็นด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นจุดสนใจหลักของงานวันอาเซียน-เกาหลีใต้ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้
:: นายกฯ ร่วมวงอาเซียน-ญี่ปุ่น ย้ำการเปลี่ยนผ่านโลกดิจิทัล-ส่งเสริมเปลี่ยนผ่านสีเขียว-ใช้นวัตกรรมเคลื่อนเศรษฐกิจ ::
นายกรัฐมนตรี ยังได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 ในห้วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องฯ โดยเห็นว่า อาเซียน-ญี่ปุ่น ควรเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม 3 ประการ ได้แก่ “การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่งดิจิทัล” เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ อาเซียนและญี่ปุ่นควรเพิ่มความร่วมมือในการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ พร้อมส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์ ต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้มากขึ้น ผ่านศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้าน ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, “การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค และ “การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม” ซึ่งประเทศไทย ขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการเพิ่มความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนงานวิจัย พร้อมหวังว่า จะได้ร่วมมือกันเพิ่มเติมในด้านเทคโนโลยีเกษตร อาหาร และการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อไป
นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าหาก มีการพัฒนาตามกรอบ 3 ประการ นี้ จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้น
:: นายกฯ ร่วมประชุม ASEAN+3 ชงต่อสู้อาชญากรรมข้ามชาติ ทำลายความเชื่อมั่น ปชช. พร้อมสนับสนุนการส่งเสริมเสถียรภาพการเงิน-สร้างความมั่นคงทางอาหาร-น้ำ ::
นายกรัฐมนตรี ยังได้เข้าร่วมการประชุม อาเซียน+3 (ASEAN Plus Three: APT) ครั้งที่ 27 โดยมีผู้นำประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วม โดยได้กล่าวถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้นว่า APT จะยังคงมีประสิทธิภาพ ในการตอบสนองต่อความท้าทาด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมเน้นย้ำถึง 3 ประเด็นสำคัญ ในการส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และเจริญรุ่งเรือง ได้แก่ “การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ” โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ ที่บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem), “การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรน้ำ” ซึ่งมีความสำคัญเร่งด่วนในการจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในฐานะที่ไทย เป็นที่ตั้งของสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) ไทยพร้อมสนับสนุนการขยาย APTERR เพื่อรองรับการสำรองอาหารหลักประเภทอื่น ๆ และ “การส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน” ผ่านการจัดตั้ง Rapid Financing Facility ภายใต้มาตรการริเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ของไทย ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralism: CMIM) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนฉุกเฉิน ตลอดจนการสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในกลไกของ APT ซึ่งรวมถึงการออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นภายใต้โครงการ Asian Bond Markets Initiative
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า ความพยายามร่วมกันของ APT จะสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ระหว่างประเทศคู่เจรจา +3 โดยอาเซียนพร้อมสนับสนุนความร่วมมือไตรภาคีที่ดีอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันเชิงบวก ที่ประสานพลังมากขึ้นในกรอบ APT
:: นายกฯ เตรียมหารือทวิภาคีผู้นำเกาหลีใต้-แคนาดา-มาเลย์ฯ-สหรัฐฯ-จีน ::
ขณะเดียวกัน ในช่วงบ่ายวันนี้ (10 ต.ค.) นายกรัฐมนตรี ยังมีกำหนดหารือทวิภาคีร่วมกับนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี, นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา, ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และพบหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน