svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วุฒิสภา พลิกมติ สส.หวนใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น พ.ร.บ.ประชามติ

วุฒิสภา พลิกมติ สส.หวนใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น พ.ร.บ.ประชามติ - ตีกลับสภาผู้แทนฯ พิจารณา-จ่อตั้ง กมธ.ร่วมลากยาวยื้อแก้ รธน.

ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมาก 164 ต่อ 21 งดออกเสียง 9 เห็นชอบให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามการปรับแก้ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วุฒิสภา พิจารณา ภายหลังสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จสิ้น เพื่อกลับไปใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority สำหรับการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

วุฒิสภา พลิกมติ สส.หวนใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น พ.ร.บ.ประชามติ

โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ วุฒิสภา ได้ปรับแก้ไขร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การออกเสียงประชามติ ที่จะถือมีข้อยุติในมาตราที่ 13 จากเดิมที่ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมาก ต้องสูงกว่าคะแนนเสียงงดออกเสียงในเรื่องที่จัดการออกเสียงประชามตินั้น ๆ เป็นว่า ในการจัดการออกเสียงประชามติกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร, การออกเสียงประชามติตามที่กฎหมายกำหนดให้มีการออกเสียง, การออกเสียงที่รัฐสภามีมติให้คณะรัฐมนตรีจัดการออกเสียงประชามติ และกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีจัดการออกเสียงประชามติ ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมาก ต้องสูงกว่าคะแนนเสียงงดออกเสียงในเรื่องที่จัดการออกเสียงประชามตินั้น ๆ เว้นแต่การจัดการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควรในการจัดการออกเสียงประชามติที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง เป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น หรือ Double Majority เสียงข้างมาก 2 ชั้น

วุฒิสภา พลิกมติ สส.หวนใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น พ.ร.บ.ประชามติ

พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ที่เสนอให้กลับไปใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น สำหรับการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อภิปรายเพื่อชี้แจงว่า หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น สำคัญกับการออกเสียงประชามติเรื่องสำคัญ และในการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งที่ผ่านมา ก็ถือว่า ผ่านหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่า หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เว้นแต่หากต้องการจะแก้ประเด็นคุณสมบัติ และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ และยืนยันว่า การเสนอแก้ไขครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทย ไม่ได้ต้องการเตะถ่วงใด ๆ

นายพิสิษฐ์ ยังได้ตั้งคำถาม พร้อมยกตัวอย่างในกรณีที่มีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 50 ล้านคน มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 4 คน, เห็นชอบ 2 คน, ไม่เห็นชอบ 1 คน และงดออกเสียง 1 คน นั่นหมายความกว่า 50 ล้านคน จะต้องเห็นชอบกับคน 2 คนใช่หรือไม่

วุฒิสภา พลิกมติ สส.หวนใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น พ.ร.บ.ประชามติ

นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย

ขณะที่ นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า ตลอดการประชุมกรรมาธิการฯ 4 ครั้ง มีนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน อธิบายหลักการเสียงข้างมากชั้นเดียวอย่างชัดเจน จนกรรมาธิการฯ มีความเห็นชอบตามที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณามา และตีตกคำแปรญัตติของนายพิสิษฐ์ ที่เสนอกลับไปให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ก่อนที่การประชุมนัดสุดท้าย ประธานกรรมาธิการฯ จะขอกลับมติ และกรรมาธิการฯ ยังอภิปรายสนับสนุนให้มีการกลับมติให้การจัดการออกเสียงประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นตามที่นายพิสิษฐ์ เคยเสนอมา พร้อมยังตั้งข้อสังเกตว่า การกลับมติดังกล่าว เกิดขึ้นในวันที่ 25 กันยายน 2567 คล้อยหลัง 1 วัน ที่มีหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรค ประกาศไม่สนับสนันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจทำให้ประชาชน ครหาได้ว่า การกลับมติครั้งนี้ เป็นไปตามใบสั่ง และหากวุฒิสภา ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะทำให้กระบวนการยืดเยื้อ ทำให้การจัดการออกเสียงประชามติไม่ทันการเลือก อบจ.ได้ และ สว.จะตกเป็นจำเลยของสังคม

วุฒิสภา พลิกมติ สส.หวนใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น พ.ร.บ.ประชามติ

กฤช เอื้อวงศ์ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับ นายกฤช เอื้อวงศ์ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรี ได้ยกเหตุผล 5 ประการ คัดค้านการกลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการจัดการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น ส่วนใหญ่จะใช้ในประเทศที่เป็นรัฐรวม หรือมีหลาย ๆ รัฐ แบ่งเป็นมลรัฐ เพื่อรักษาสิทธิของรัฐที่มีประชากรน้อย แต่ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว และประเทศไทย เคยมีการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ก็ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาชั้นเดียว รวมถึงในการจัดการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลัก และเป็นยานแม่ ก็ใช้หลักการเสียงข้างมากธรรมดา ไม่ได้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ดังนั้น เมื่อกฎหมายแม่ ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว จึงมีเหตุผลใดที่ในการจัดการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องกลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น  

นายกฤช ยังได้ยกตัวอย่างหากจะใช้เกณฑ์หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้นในการออกเสียงประชามติว่า ขณะนี้ ประเทศไทย มีผู้มีสิทธิออกเสียง 52 ล้าน เกินกึ่งหนึ่งคือราว 26 ล้าน และใน 26 ล้านนี้ หากใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 13 ล้าน ซึ่งในทางปฏิบัติของ 26 ล้านนั้น หากมีประชาชน ออกมาใช้สิทธิเห็นชอบ 12 ล้าน ไม่เห็นชอบ 9 ล้าน งดออกเสียง 2 ล้าน ก็จะกลายเป็นว่า ผู้ใช้สิทธิ 9 ล้านเสียง ชนะ 12 ล้านเสียง รวมถึงในการจัดการออกเสียงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำใหม่ ต้องจัดการออกเสียงประชามติถึง 3 ครั้ง หากครั้งใดครึ่งหนึ่งไม่ผ่านด้วยหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็จะถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ไม่ผ่านมาเห็นชอบ ซึ่งจะทำให้เสียงบประมาณสูญเปล่า

วุฒิสภา พลิกมติ สส.หวนใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น พ.ร.บ.ประชามติ

ก่อนที่ที่ประชุมวุฒิสภา จะมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการฯ ในวาระที่ 3 ด้วยมติเห็นชอบ 167 เสียง, ไม่เห็นด้วย 19 เสียง, งดออกเสียง 7 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 2 คน

สำหรับขั้นตอนภายหลัง วุฒิสภา ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอมา ตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องยับยั้งไว้ และส่งร่างกฎหมายที่วุฒิสภาปรับแก้ กลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ถ้าสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ก็สามารถส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่ถ้าไม่เห็นด้วย จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อพิจารณาร่วมกัน และส่งให้แต่ละสภาพิจารณาอีกครั้ง ถ้าทั้ง 2 สภาเห็นชอบด้วย ก็สามารถส่งนายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ ได้

แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่ง ไม่เห็นชอบอีก ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ 180 วัน แล้วค่อยให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณายืนยันร่างกฎหมายของตนเองอีกครั้ง หากที่ประชุมฯ มีมติยืนยันร่างกฎหมายของตนเองด้วยมติเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนั้น และส่งนายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ ได้ทันที ซึ่งแม้สภาผู้แทนราษฎร จะสามารถยืนยันร่างกฎหมายของตนเองได้ แต่ขั้นตอนต่าง ๆ ก็จะให้เกิดความล่าช้า