svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โฆษก "ศปช." เทียบข้อมูลชัดๆ น้ำปีนี้น้อยกว่าปี 54 เกือบ 10 เท่า

"ศปช." เปิดข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณน้ำปีนี้ น้อยกว่าปี 54 เกือบ 10 เท่า ยก 5 เหตุผล เอาอยู่แน่นอน ย้ำการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาทไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ ขอคนกรุงเทพ และปริมณฑลมั่นใจไม่เกิดแบบปี 54 แน่นอน

29 กันยายน 2567  "นายจิรายุ ห่วงทรัพย์" ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ของ ศปช.ได้ข้อสรุปเรื่องสำคัญที่เป็นข้อวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

โดยที่ประชุมได้สรุปข้อมูลเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำระหว่างปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่า จากการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พิจารณาทุกปัจจัยทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ทำให้สถานการณ์น้ำในปี2567 นี้ไม่ซ้ำรอยปี 2554 ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามแก้ปัญหาน้ำท่วมเชียงราย-เชียงใหม่
1. "จำนวนพายุ" โดยในปี 2554 พบว่ามีพายุเข้าไทยถึง 5 ลูก ไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก เมื่อเทียบกับปี 2567 มีพายุเข้าไทยเพียง 1 ลูกคือ “ซูริก” ซึ่งแม้จะไม่ได้เคลื่อนเข้าประเทศไทย แต่ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทยมีฝนตกหนักและเกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่

2. "ปริมาณฝนสะสม"เนื่องจากในปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% และเป็นปริมาณฝนมากที่สุดในรอบ 61 ปี หรือนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ขณะที่ในปี 2567 แม้จะมีปริมาณฝนทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี แต่ภาพรวมปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 2% 

3. ปริมาณเขื่อน"ในการรองรับน้ำในปี 2554 เนื่องจากปริมาณฝนสะสมสูงกว่าปกติทำให้เขื่อนหลักของประเทศไทยรองรับน้ำ 1,366 ล้านลบ.ม. แต่ในปี 2567 การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทำให้เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้ถึง 7,162 ล้านลบ.ม.

4. "ปริมาณน้ำท่า" หรือปริมาณการระบายน้ำเหนือ โดยเฉพาะการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 2554 มีการระบายน้ำสูงถึง 3,661 ลบ.ม./วินาที ขณะที่การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 28 ก.ย.67 อยู่ที่ 1,848 ลบ.ม./วินาที อีกทั้งความจุลำน้ำยังสามารถรองรับการระบายได้สูงถึง 2,730 ลบ.ม./วินาที

"นายจิรายุ" เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงาน ศปช. ได้เน้นย้ำถึงการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำเหนือเขื่อนที่ไหลเข้ามา และปริมาณน้ำทะเลหนุนที่จะกระทบต่อระดับน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันตรงกันว่าไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

จิรายุ ห่วงทรัพย์  ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ด้านประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร

"ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำอยู่ที่ 1,900 ลบ.ม./วินาที แต่ที่มีความกังวลคือ น้ำเหนือเริ่มเติมเข้ามามากขึ้น ในอีก 2-3 วันอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจจะกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน 11 จุด 4 จังหวัด (อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท) ตามที่ได้แจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่กระทบกับพื้นที่ กรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน เพราะรองรับการปล่อยน้ำได้ถึง 3,000-3,500 ลบ.ม./วินาที" 

แต่ทั้งนี้หากมีน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่ำและจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทาง กทม.สำรวจแล้วพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 32 จุด ซึ่งกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว"  นายจิรายุ กล่าว

แฟ้มภาพ  นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รมว.ดีอี ร่วมคณะนายกฯแพทองธาร ติดตามแก้ปัญหาน้ัำท่วมเชียงใหม่

สถานการณ์น้ำเหนือที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ดีขึ้นตามลำดับ

 

"นายจิรายุ" กล่าวเพิ่มเติมว่า ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย รายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย พบว่าปัจจุบันระดับน้ำทั้ง 2 จังหวัดเริ่มลดลง โดยที่จังหวัดเชียงราย เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.แม่สรวย อ.แม่ลาว และ อ.เวียงป่าเป้า บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 2,892 ครัวเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าสำรวจความเสียหายดำเนินการฟื้นฟู และจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาในลำดับต่อไป 

 

ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมและเกิดดินสไลด์ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สารภี อ.หางดง อ.สันป่าตอง และ อ.ดอยหล่อ โดยในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการฟื้นฟู ล้างทำความสะอาดในพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย ประกอบด้วย ถนนเจริญราษฎร์ จากสะพานนวรัฐ ถึงสะพานนครพิงค์ ถนนช้างคลาน จากวัดอุปคุต ถึงแยกแสงตะวัน ถนนศรีดอนไชย จากแยกแสงตะวัน ถึงแยกโรงแรมอนันตรา ถนนเจริญประเทศ จากแยกโรงแรมอนันตรา ถึง สะพานนวรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือพร้อมเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่

"รองนายกฯ ประเสริฐ" เผยรัฐบาลเร่งฟื้นฟูอุทกภัยภาคเหนือ

วันเดียวกัน ( 29 กันยายน 2567  )  นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ( ศปช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และลำปาง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม พร้อมทั้งเร่งฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิม และมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัย พบว่ามีการดำเนินการแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยเชียงรายดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยหลายพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองเชียงรายเริ่มกลับสู่สภาวะปกติแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ตุลาคม 2567 พื้นที่ส่วนใหญ่ของ อ.เมืองเชียงราย และ อ.แม่สาย จะกลับคืนสู่สภาพปกติได้ โดยมาตรการเร่งด่วนคือเร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา และสัญญาณโทรคมนาคม การฟื้นฟูสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนกลุ่มเปราะบาง การคืนสภาพเส้นทางสัญจร ซึ่งหลายพื้นที่มีความคืบหน้ากว่า 80% แล้ว 

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย เบื้องต้นได้ดำเนินการตามที่มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 เห็นชอบให้อนุมัติกรอบวงเงิน 3,045 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบอุทกภัย โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ 3 อำเภอ (อ.เมืองเชียงราย แม่สาย ขุนตาล) จ.เชียงราย รวม 3,623 ครัวเรือน เป็นจำนวนเงิน 18,115,000 บาท

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ศปช.ได้มีดำเนินการระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัดและส่วนกลางติดตามรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที โดยในส่วนของกระทรวงดีอี ได้มอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาเฝ้าติดตามสภาพอากาศ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนทันที หากมีแนวโน้นมการเกิดสถานการณ์ที่รุนแรง 

"ขอแสดงความเสียใจกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปให้ได้ โดยรัฐบาลได้เร่งรัดการฟื้นฟูและเยียวยาประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมกับให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น และแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบในทันที เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด" นายประเสริฐ กล่าว


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอี ขณะลงพื้นที่ตรวจติดตามแก้ปัญหาน้ำท่วมเชียงราย-เชียงใหม่
"นายประเสริฐ" กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพบการเผยแพร่ข่าวปลอม เกี่ยวกับอุทกภัย และน้ำป่าไหลหลากอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอ้างถึงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ หรือเผยแพร่ข้อมูลอ้างถึงสถาการณ์ที่รุนแรง การเกิดพายุลูกใหม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความผิดทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คอมฯ จึงขอแจ้งเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อหรือแชร์ข่าวปลอมที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน โดยควรตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานรัฐ อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม Line OA ชื่อว่า 'HelpT (น้ำท่วม ช่วยด้วย)' เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างประชาชนกับหน่วยงานท้องถิ่นของจังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฯลฯ ในพื้นที่ 49 จังหวัด โดยประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินและขอความช่วยเหลือ อาทิ การขออพยพ การขออาหาร อุปกรณ์ส่องสว่าง กระสอบทราย ฯลฯ ซึ่งคำขอจากประชาชนจะถูกส่งไปยังหน่วยงานท้องถิ่นด้วยขั้นตอนง่ายๆ โดยการแอด LINE OA: @HelpT ส่งรูป ระบุพิกัด สามารถติดตามสถานะและผลการดำเนินการได้ นอกจากนี้ HelpT ยังมีการรวบรวมเบอร์โทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆ และให้ข้อมูลพยากรณ์ปริมาณฝนที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จากแพลตฟอร์ม FAHFON (ฟ้าฝน)