svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐสภาเอกฉันท์! เห็นชอบ ''กรอบความตกลง PCA ไทย-ยุโรป''

''รมว.กต.'' เผยเป็นกรอบ ''โอกาสของประเทศไทย" ยกระดับความสัมพันธ์-ความร่วมมือกับ EU อย่างรอบด้านเป็นรูปธรรม ทั้งการแก้อาชญากรรมข้ามชาติ การส่งออกสินค้า การแลกเปลี่ยนการศึกษา-เทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพเยาวชนไทย ฯลฯ

29 สิงหาคม  2567  ที่ประชุมรัฐสภาไทยลงมติเป็นเอกฉันท์ 612 เสียง ให้การรับรองกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศไทย (EU-Thailand Partnership and Cooperation Agreement - PCA) 

 

ที่ประชุมรัฐสภาไทยลงมติให้การรับรองกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศไทย

 

"กรอบความตกลง PCA" ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้  โดยจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป บนพื้นฐานของผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกัน เช่น การค้า การลงทุน การศึกษา การเปลี่ยนผ่านดิจิตัล การเปลี่ยนผ่านสีเขียว ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน 

แฟ้มภาพ

 

ทั้งนี้  🇪🇺🇹🇭 สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 4 ของประเทศไทย คิดเป็น 7.1% ของการค้าทั้งหมดของประเทศไทย และประเทศไทยยังเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียนของสหภาพยุโรปอีกด้วย โดยในปี พ.ศ. 2566 ตัวเลขการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยมีมูลค่ารวมสูงถึงกว่า 4 หมื่นล้านยูโร

" นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงสาระสำคัญของ ''กรอบความตกลง PCA'' นี้ว่า เป็นกรอบความสัมพันธ์รอบด้าน ที่ไทยจัดทำร่วมกับสหภาพยุโรป และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานการเพิ่มพูน การหารือ และขยายความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ ให้มีแบบแผน และทิศทางในระยะยาวบนหลักการที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ครอบคลุมทั้งหลักการที่ยึดถือปฏิบัติ เช่น การเคารพหลักสากลต่าง ๆ ด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ และนิติธรรม เศรษฐกิจที่เปิดเสรี และสาขาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่าง ๆ อาทิ การค้าการลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

 

สำหรับเนื้อหาภายในกรอบความร่วมมือฯ ส่วนความร่วมมือนั้น นายมาริษ ชี้แจงว่า ประกอบด้วย การกำหนดกรอบการดำเนินความร่วมมือระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ, ความร่วมมือว่าด้วยการค้าและการลงทุน, ความร่วมมือด้านเสรีภาพ ความมั่นคง และการยุติธรรม, ความร่วมมือในภาคส่วนอื่น ๆ ครอบคลุมความหลากหลาย เช่น สิทธิมนุษยชน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสมุทราภิบาล รวมถึงเครื่องมือสำหรับการดำเนินความร่วมมือ ที่ให้คู่ภาคีจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งงบประมาณ มาใช้ในการดำเนินความร่วมมือเท่าที่ทรัพยากร และระเบียบของแต่ละฝ่ายจะอำนวย และการดำเนินความร่วมมือด้านการพัฒนาในประเทศที่สาม รวมถึงการกำหนดกรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วม ที่กำหนดรูปแบบ และกลไกที่จะจัดตั้งเพื่อติดตามความร่วมมือในแต่ละสาขา 

 

ส่วนรูปแบบความร่วมมือภายใต้"กรอบความตกลง PCA" นั้น "นายมาริษ" ชี้แจงว่า มีการแบ่งเป็นการปรึกษาหารือ และการหารือด้านนโยบาย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน, การแบ่งปันองค์ความรู้ และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยอาจเป็นการจัดทำโครงการ กิจกรรมสัมมนา Work Shop ต่าง ๆ ร่วมกันในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ และความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และการเพิ่มขีดความสามารถซึ่งหน่วยงานไทย ทั้งภาครัฐ และเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ 

 

"นายมาริษ" ยังกล่าวถึงประโยชน์ของ "กรอบตกลง PCA"ที่ไทยจะได้รับจากกรอบความตกลงนี้ว่า ประเทศไทย จะได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และประเทศสมาชิก โดยฝ่ายสหภาพยุโรป จะจัดสรรบุคลากร เวลา และงบประมาณในการดำเนินความร่วมมือกับประเทศไทยในลักษณะต่างตามที่ระบุข้างต้น โดยจะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ความสัมพันธ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรฐานการบริหารและจัดการในด้านต่าง ๆ ของไทยไปอีกระดับ

 

เช่น ''ด้านการเมือง และความมั่นคง'' กรอบความตกลงนี้ จะช่วยให้ไทยพร้อมรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับสหภาพยุโรป เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยหน่วยงานไทยด้านความมั่นคง จะสามารถเข้าถึงทรัพยากร และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและฐานข้อมูลภายใต้โครงการต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป เช่น ESIWA หรือ Enchancing security cooperation in and with ASIA และ CRIMARIO หรือ Critical Maritime Routes Indo-Pacific ระยะที่ 2 ซึ่งเน้นการแบ่งปันข้อมูล และฝึกฝนบุคลากร เพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้ 

 

ส่วนด้านเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนนั้น "นายมาริษ" ยืนยันว่า จะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อม และมาตรการด้านการค้า การค้าดิจิทัล การส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ลดอุปสรรคการค้า เพื่อรองรับการเจรจาความตกลง FTA หรือ ความตกลงว่าด้วยการเปิดเสรีการค้า ระหว่างไทย และยุโรป รวมถึงยังเตรียมพร้อมประเทศไทย สำหรับการปรับตัวในมาตรฐานสิ่งแวดล้อม การบูรณาการด้านเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนทั้ง 2 ฝ่าย ในการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน 

 

ส่วนด้านสังคม วิทยาศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์นั้น "นายมาริษ" ระบุว่า "กรอบความตกลง PCA"นี้ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างกัน รวมถึงทำให้ประเทศไทย เข้าถึงแหล่งเงินสนับสนุนภายใต้โครงการต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป อาทิ โครงการ Global Gateway เพื่อนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโครงการ European Community Action Scheme for the Mobility of University Students Plus หรือ ERASMUS plus เพื่อพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถเยาวชนไทย

 

"นายมาริษ" ยังยืนยันอีกว่า "กรอบความตกลง PCA" นี้ ยังจะเปิดช่องทางให้มีการจัดการหารือเชิงนโยบายในมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นโอกาสให้ประเทศไทย สามารถผลักดันประเด็นที่ไทยต้องการการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เช่น การขอยกเว้นวีซ่า, การเจรจาการค้าเสรี FTA ระหว่างไทยและยุโรป และการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีในประเด็นที่ไทยมีบทบาทนำ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า, การปกป้องสิทธิสตรีและเด็กหญิง เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยบนเวทีระหว่างประเทศ 

 

"นายมาริษ"ยังย้ำอีกว่า จากสาระสำคัญและประโยน์ความร่วมมือที่ไทยจะได้รับจากสหภาพยุโรป กรอบความตกลง PCA นี้ จึงเป็นการบูรณาการการทำงานและความสำเร็จของภาคราชการทุกกระทรวง และหน่วยงานในการร่วมกันเจรจา และกำหนดท่าทีของไทย สำหรับการเจรจาความตกลงที่ยาวนานมากว่า 20 ปี พร้อมทั้งกรอบความร่วมมือนี้ ถือเป็นความตกลงของคนไทยทุกคน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสริมความร่วมมือ และเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และเพิ่มโอกาสในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากสหภาพยุโรปในประเด็นที่สหภาพยุโรป รวมทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีความเเชี่ยวชาญ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของคนไทย ระบบจัดการในประเทศไทยให้ประเทศไทยมีความทันสมัย และเป็นประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม  

 

"นายมาริษ" ย้ำว่า การลงนามร่าง"กรอบความตกลง PCA"ครั้งนี้ ได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานแล้ว และดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งการที่สหภาพยุโรป ต้องการมีความร่วมมือกับประเทศไทยครั้งนี้ สะท้อนว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับประเทศไทย และเห็นคุณค่าในการมีความร่วมมือกับสหภาพยุโรปเป็นการเฉพาะ เพราะแม้อาเซียน มีความร่วมมือกับยุโรป แต่ก็ไม่ใช่ในรูปแบบ PCA และยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน รวมถึงสหภาพยุโรปเอง ก็ไม่ได้ต้องการให้ประเทศสมาชิกในอาเซียน หรือทุกประเทศในโลกทำ"ความตกลง PCA"กับยุโรป

 

ดังนั้น จึงยืนยันว่า "กรอบความตกลง PCA" ฉบับนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับประเทศไทย และต้องยกระดับความร่วมมือกับประเทศไทยให้สูงมากยิ่งขึ้น เป็นยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป 

 

ส่วนข้อกังวลจะเกิดการกีดกันทางการค้าหากไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่นั้น นายมาริษ ชี้แจงว่า แม้จะไม่มีกรอบความร่วมมือ "PCA"สหภาพยุโรป ก็สามารถใช้มาตรการฝ่ายเดียว บีบบังคับประเทศไทยได้ แต่"กรอบความร่วมมือ PCA"จะกำหนดให้ไทย และสหภาพยุโรป มีองค์กรร่วม หรือ Joint Committee เพื่อหาทางออกเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีข้อจำกัด หรือปัญญาหาเกิด ซึ่งเป็นการนำความเห็นต่างที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาสู่การเจรจา เพื่อทำความเข้าใจ และลดแรงกดดันที่ประเทศไทยจะถูกสหภาพยุโรปกดดัน ซึ่งกลไกลคณะกรรมการร่วมนี้ จะเป็นช่องทางสื่อสารสำคัญในประเด็นที่มีความห่วงกังวล หรือประเด็นความขัดแย้ง เพื่อหาทางออกสำหรับ 2 ฝ่าย นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับสหภาพยุโรป

 

ส่วนความห่วงกังวลต่อร่าง"กรอบความร่วมมือ PCA" ต่อประเด็นการประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU นั้น นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า กลไก "PCA" นี้ไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้ประเทศไทยให้มากขึ้น แต่จะเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนระหว่างไทย กับสหภาพยุโรป ในการบริหาร และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และเป็นเวทีที่ทำให้ประเทศไทย ได้สื่อสารกับสหภาพยุโรปได้มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจ และลดความห่วงกังวลระหว่างกันได้ 

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางกฎหมาย ที่จะไม่มีโทษประหารชีวิต หรือการขออภัยโทษโทษประหารชีวิตนั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า นโยบายในแง่ภาพรวม ประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การยุติโทษประหารชีวิตเป็นลำดับ ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำหรับความผิดที่ไม่เข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรงที่สุด 

โดยสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ต่างอภิปรายให้การสนับสนุนร่าง"กรอบความตกลง PCA"ฉบับนี้ เพราะจะเป็นการกอบกู้เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของประเทศ และการสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปนี้ ถือเป็นความสัมพันธ์พิเศษในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และเป็นโอกาสของภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะโอกาสการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และจะทำให้ประเทศไทย ต้องมีการปรับกฎหมายต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย ซึ่งประชาชนได้ผลพวงจากการค้าการลงทุนที่มากขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ พร้อมยังสนับสนุนให้ประเทศไทย ลงนามในร่าง"กรอบความตกลง PCA"ฉบับนี้

 

เนื่องจาก 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้ลงนามกรอบความร่วมมือกับยุโรปไปแล้ว ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ดังนั้น "กรอบความร่วมมือ PCA" ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน และประเทศไทยในระยะยาว เพราะถือเป็นการลงนามในสัญญาเพียงฉบับเดียว แต่สามารถยกระดับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ถึง 27 ประเทศ และจะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้ประเทศไทย สามารถสร้างดุลยภาพทางภูมิรัฐศาสตร์บนเวทีโลกได้ จากการแบ่งขั้วของมหาอำนาจ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ-การเมือง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

 

รวมทั้งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การเจรจาระหว่างไทย-ยุโรป บรรลุผลราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น หลังชะงักมากว่า 10 ปี และยังมั่นใจว่า"ร่างกรอบความตกลง PCA"ฉบับนี้ จะช่วยให้ประเทศไทย มีกฎหมายที่แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติ ป้องกันไม่ให้บุคคลสูญหาย และทำให้ประเทศไทย มีความคืบหน้าด้านสิทธิมนุษยชน ขจัดการเลือกปฏิบัติกับสตรี รวมถึงจะทำให้ประเทศไทย ได้รับประโยชน์ทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม โดยขอให้รัฐบาลได้ระมัดระวังปัญหาที่จะติดตามมาในการปฏิบัติ เช่น การกำหนดเงื่อนไขสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องไม่มีการละเมิดกรอบความตกลง ที่มีเงื่อนไข 4 ข้อที่เมื่อ"PCA" มีผลใช้บังคับแล้ว ประเทศไทย จะต้องไม่มีการละเมิดหลักการการเคารพประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการไม่เปิดเผยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เพราะมิเช่นนั้น สหภาพยุโรป อาจระงับการบังคับใช้กรอบความตกลง "PCA" ฉบับนี้ได้  

 

อนึ่ง เพจ "European Union in Thailand" ให้ข้อมูล  กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศไทย หรือ "PCA"  ว่า  การที่รัฐสภาไทยให้ความเห็นชอบกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศไทย หรือ"PCA"จะยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

"กรอบความตกลง PCAมีเป้าหมายเพื่อวางแนวทางให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การค้า การลงทุน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว การศึกษา ความมั่นคง นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล และสิทธิมนุษยชน ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกัน 

 

ย้อนดูความเป็นมาและหมุดหมายที่สำคัญจนกว่าจะมาถึงวันนี้กัน

 

การเจรจาแรกเริ่ม: เมื่อ พ.ศ. 2547 สหภาพยุโรปได้ริเริ่มเจรจา "กรอบความตกลง PCA" กับประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อเจรจาทั้งหมดได้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ก่อนที่กระบวนการจะหยุดไปขั่วคราวเมื่อปี พ.ศ. 2557

 

กลับสู่การเจรจาและบรรลุข้อสรุป: การเจรจา"กรอบความตกลง PCA" กลับมาดำเนินการอีกครั้งใน พ.ศ. 2559 จนนำไปสู่การบรรลุข้อเจรจาทั้งหมดและมีการลงนามย่อในร่างกรอบความตกลง PCA เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565

 

การลงนาม: เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 สหภาพยุโรปและประเทศไทยได้ลงนามใน"กรอบความตกลง PCA" อียู-ไทยอย่างเป็นทางการ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอียู-อาเซียน ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

 

การรับรองโดยรัฐสภา: รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบ "กรอบความตกลง PCA" อียู-ไทย เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศในประชาคมอาเซียนที่สามารถเจรจา "กรอบความตกลง PCA" กับอียูได้สำเร็จ ต่อจากอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย

แฟ้มภาพ สหภาพยุโรป