นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉับคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งจะกระทบต่อตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เนื่องจากเกี่ยวพันกับตนเอง ที่เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรค โดยยอมรับว่า มีความกังวล เพราะหากมีการยุบพรรคก้าวไกล และมีการตัดสิทธิทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรคฯ ก็จะกระทบต่อตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรของตนเองด้วย เพราะการเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็น สส. หากสิ้นสมาชิกสภาพ สส. ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรของตนเอง ก็จะสิ้นสุดลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ แนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีความเป็นไปได้หลายทาง ตนเองจึงพยายามพิจารณาในข้อจำกัดงานว่า ในงานรับผิดชอบใดที่สามารถดำเนินการได้ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม หรือภารกิจใดที่ต้องรอหลังวันที่ 7 สิงหาคม แต่ในระหว่างนี้ ก็ไม่ได้มีการเตรียมตัวใด ๆ เป็นการพิเศษ
ส่วนมีเพื่อน สส.ในพรรคก้าวไกลมาให้กำลังใจใด ๆ หรือไม่นั้น นายปดิพัทธ์ ระบุว่า มีการพูดคุยกันในฐานะเพื่อน ซึ่งตนเองก็ได้ลาออกจากพรรคก้าวไกลมาแล้ว และส่วนใหญ่ก็น่าประหลาดใจว่า เพื่อน สส.ในพรรคก้าวไกล ไม่มีคนใดหวั่นเกรงต่อการยุบพรรค และยังคงมีกำลังใจทำงานอย่างเต็มที่
ส่วนในวันที่ 7 สิงหาคม พรรคก้าวไกล จะจัดกิจกรรมนัดฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ที่ทำการพรรคก้าวไกล จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วยหรือไม่นั้น นายปดิพัทธ์ ระบุว่า งานหลักของตนเองจะต้องรับผิดชอบการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อน และหลังจากนั้น หากเพื่อน สส.ไปทำกิจกรรมกันที่ใด ก็ค่อยมีการติดตามกัน
นายปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่หากพรรคร่วมรัฐบาล อาจคัดเลือกบุคคลมาเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ โดยไม่ได้พิจารณาบุคคลจากพรรคก้าวไกลว่า เป็นสิทธิอันชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎร เพราะตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานฯ เป็นการเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร แต่ตนเองก็ไม่ได้คิดว่า ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรนี้ จะมีใครอยากได้มากนัก เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์ทางการเมืองใดมาก เพียงแต่ตนขอว่า หากเห็นด้วยกับแนวทางที่ตนเองพัฒนางานของสภาต่อ ก็ขอให้พิจารณาดำเนินการพัฒนาต่อไปด้วย
ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ที่มาจาก MOU ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ดังนั้น หากมีการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ควรจะมาจากบุคคลของพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น นายปดิพัทธ์ เห็นว่า ตนไม่แน่ใจว่า MOU ดังกล่าว จะยังมีสาระอยู่หรือไม่ แต่ตนเองก็คาดหวังของการรักษาคำพูด เนื่องจาก ประชาชน เจ็บปวดกับการเสียคำพูดมาหลายครั้ง และยังมีการฉีก MOU แต่หากยังเห็นหลักการให้ตำแหน่งรองประธาน มีบุคคลจากฝ่ายค้านมาทำหน้าที่ เพื่อความเป็นกลางในเชิงสถาบัน และสมดุล ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดี ที่วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน สามารถหารือกันได้